ขอความเห็นชอบการกู้เงินในประเทศเพื่อเป็นเงินลงทุนสำหรับการลงทุนในแผนงานระยะยาวใหม่ ปี 2563 ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

ข่าวการเมือง Tuesday May 5, 2020 18:18 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ ให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) กู้เงินในประเทศเพื่อเป็นเงินลงทุนสำหรับการลงทุนในแผนงานระยะยาวใหม่ ปี 2563 จำนวน 6 แผนงาน ภายในกรอบวงเงินรวม 14,197 ล้านบาท โดยให้ทยอยดำเนินการกู้เงินตามความจำเป็นรายปีจนกว่าการดำเนินงานจะแล้วเสร็จ และให้ มท. รับความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีไปพิจารณาดำเนินการต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง

มท. รายงานว่า

1. กฟภ. ขอกู้เงินในประเทศเพื่อเป็นเงินลงทุนสำหรับการลงทุนในแผนงานระยะยาวใหม่ ปี 2563 จำนวน 6 แผนงาน ภายในกรอบวงเงินรวม 14,197 ล้านบาท ซึ่งคณะกรรมการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ในการประชุมครั้งที่ 2/2562 เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2562 มีมติเห็นชอบให้ กฟภ. กู้เงินในประเทศเพื่อเป็นเงินลงทุนในแผนงานระยะยาวใหม่ ปี 2563 แผนงานดังกล่าวแล้ว ประกอบกับเป็นแผนงานภายใต้กรอบและงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ประจำปีงบประมาณ 2563 ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติ (22 ตุลาคม 2562) เห็นชอบแล้ว

2. รายละเอียดของแผนงานฯ จำนวน 6 แผนงาน สรุปได้ ดังนี้

แผนงานระยะยาวใหม่/การดำเนินการ

1) แผนงานปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพสถานีไฟฟ้า ปีงบประมาณ 2563 : เพื่อปรับปรุงระบบควบคุมและระบบป้องกันของสถานีไฟฟ้าในพื้นที่การไฟฟ้าทั้ง 12 เขตทั่วประเทศ เพื่อความมั่นคงในระบบการจ่ายไฟ ลดปัญหาไฟดับ และการสูญเสียโอกาสในการจ่ายไฟของสถานีไฟฟ้า และปรับใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยที่มีฟังก์ชันการทำงานอื่น ๆ เพิ่มขึ้นตามมาตรฐาน IEC 61850* เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้ระบบควบคุมและระบบป้องกันสถานีไฟฟ้า รวมทั้งรองรับโครงการ Smart Grid ระยะเวลาดำเนินการ พ.ศ. 2563-2565 การดำเนินการ เช่น (1) ปรับปรุงระบบควบคุมและระบบป้องกันของสถานีไฟฟ้า จำนวน 26 สถานีไฟฟ้า (2) เปลี่ยนระบบป้องกันทดแทนที่ชำรุดและเสื่อมสภาพ จำนวน 31 สถานีไฟฟ้า

วงเงินรวม 701.53 (หน่วย : ล้านบาท)

แหล่งเงินทุน - กู้เงินในประเทศ (ร้อยละ 75) 526.00 ล้านบาท

แหล่งเงินทุน - รายได้ (ร้อยละ 25) 175.53 ล้านบาท

2) แผนงานย้ายแนวและเปลี่ยนทดแทนอุปกรณ์ในระบบจำหน่ายและสายส่งไฟฟ้าเพื่อความมั่นคง ปี 2653-2570 : (1) เพื่อย้ายแนวระบบจำหน่ายและสายส่งไฟฟ้าของ กฟภ.

ตามแผนงานก่อสร้างขยายถนนและการคมนาคมของกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท การทางพิเศษแห่งประเทศไทย และหน่วยงานราชการอื่น ๆ โดยพิจารณาแผนงานตามที่การไฟฟ้าเขต (กฟข.) จัดส่งแผนงาน (2) เพื่อเปลี่ยนทดแทนอุปกรณ์ในระบบจำหน่ายและสายส่งไฟฟ้าเพื่อเพิ่มความมั่นคงและความปลอดภัยของระบบไฟฟ้า โดยจะดำเนินการในพื้นที่ให้บริการของ กฟภ. จำนวน 12 กฟข. ระยะเวลาดำเนินการ พ.ศ. 2563-2570 การดำเนินการ เช่น งานย้ายแนวระบบจำหน่ายและสายส่งไฟฟ้า งานเปลี่ยนทดแทนอุปกรณ์ระบบจำหน่ายและสายส่งไฟฟ้าที่ชำรุดและเสื่อมสภาพจากการใช้งาน (การเปลี่ยนลูกถ้วยและสายไฟฟ้า) เป็นต้น

วงเงินรวม 9,392.03 (หน่วย : ล้านบาท)

แหล่งเงินทุน - กู้เงินในประเทศ (ร้อยละ 75) 7,044.00 ล้านบาท

แหล่งเงินทุน - รายได้ (ร้อยละ 25) 2,348.03 ล้านบาท

3) แผนงานปฏิบัติการดิจิทัลด้านระบบงานและแพลตฟอร์ม : เพื่อใช้เทคโนโลยีดิจิทัลสนับสนุนการดำเนินธุรกิจของระบบจำหน่ายและบริการลูกค้าอย่างรวดเร็ว ระยะเวลาดำเนินการ พ.ศ. 2563-2567 การดำเนินการ เช่น พัฒนาด้านโครงข่ายระบบจำหน่ายให้สามารถสร้างการบูรณาการด้านข้อมูลและ การดำเนินงานระหว่างหน่วยงานตั้งแต่วางแผน บริหาร โครงการก่อสร้าง รวมถึงการปฏิบัติและบำรุงรักษา

วงเงินรวม 2,816.62 (หน่วย : ล้านบาท)

แหล่งเงินทุน - กู้เงินในประเทศ (ร้อยละ 75) 2,112.00 ล้านบาท

แหล่งเงินทุน - รายได้ (ร้อยละ 25) 704.62 ล้านบาท

4) แผนงานปฏิบัติการดิจิทัลด้านสื่อสารและโทรคมนาคมของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ปี 2563 : (1) เพื่อพัฒนาระบบสื่อสารของ กฟภ. ให้มีช่องสัญญาณ (Bandwidth) เพียงพอต่อการใช้งาน (2) เพื่อเพิ่มความพร้อมในการให้บริการ (Service Availability) (3) เพื่อปรับเปลี่ยนกระบวนการบริหารจัดการเทคโนโลยีดิจิทัลให้มีความรวดเร็ว ตอบสนองต่อความต้องการของสายงานต่าง ๆ ของ กฟภ. เป็นต้น ระยะเวลาดำเนินการ พ.ศ. 2563-2565 การดำเนินการ เช่น จัดซื้อพร้อมติดตั้งอุปกรณ์โครงข่าย IP Access Network (ส่วนต่อขยาย) ขยายโครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสง ระบบวิทยุสื่อสาร แบบดิจิตอล เป็นต้น

วงเงินรวม 1,279.28 (หน่วย : ล้านบาท)

แหล่งเงินทุน - กู้เงินในประเทศ (ร้อยละ 75) 959.00 ล้านบาท

แหล่งเงินทุน - รายได้ (ร้อยละ 25) 320.28 ล้านบาท

5) แผนงานการใช้พื้นที่สำนักงานใหญ่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคดำเนินการตามแผนแม่บท Phase B : เพื่อดำเนินการตามแผนแม่บทการใช้พื้นที่สำนักงานใหญ่ กฟภ. Phase B โดยการยกระดับภาพลักษณ์โดยรวมขององค์กร และการใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด [เช่น การย้ายโรงเรียนช่าง กฟภ. ไปอยู่ที่ กฟภ. นครชัยศรี และการย้ายกองมิเตอร์ (กมต.) กองหม้อแปลง (กมป.) ไปอยู่ที่ กฟภ. ลาดหลุมแก้ว เป็นต้น จึงจำเป็นต้องปรับปรุงพื้นที่และออกแบบก่อสร้างอาคารเพื่อรองรับเรื่องดังกล่าว] ระยะเวลาดำเนินการ พ.ศ. 2563-2569 การดำเนินการ เช่น การจ้างออกแบบและก่อสร้างอาคารบนพื้นที่ว่างของ กฟภ. นครชัยศรี กฟภ. ลาดหลุมแก้ว การจ้างออกแบบและปรับปรุงอาคาร 9 สำนักงานใหญ่ กฟภ. เป็นต้น

วงเงินรวม 2,937.81 (หน่วย : ล้านบาท)

แหล่งเงินทุน - กู้เงินในประเทศ (ร้อยละ 75) 2,164.00 ล้านบาท

แหล่งเงินทุน - รายได้ (ร้อยละ 25) 773.81 ล้านบาท

6) แผนงานจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการทดสอบการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค : (1) เพื่อปรับปรุงและเพิ่มขีดความสามารถการทดสอบอุปกรณ์ไฟฟ้าของ กฟภ. ให้รองรับกระบวนการจัดซื้อและตรวจรับการบริการทดสอบเพื่อรับรองผลิตภัณฑ์ การควบคุมคุณภาพอุปกรณ์ไฟฟ้า การทดสอบเพื่องานวิจัยและนวัตกรรม (2) เพื่อสร้างศูนย์ฯ ที่มีระบบห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐานสากล ISO/IEC 17025 จำนวน 5 แห่ง ระยะเวลาดำเนินการ พ.ศ. 2563-2568 การดำเนินการ โดยจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการทดสอบส่วนกลาง จำนวน 1 แห่ง ในพื้นที่ว่างของศูนย์ฝึกปฏิบัติการไฟฟ้าแรงสูง อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม และศูนย์ปฏิบัติการทดสอบส่วนภูมิภาค (1-4) ในพื้นที่ของแต่ละ กฟข. ตามพื้นที่ของคลังพัสดุ 4 ภาค จำนวน 4 แห่ง ครอบคลุมจังหวัดพิษณุโลก จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจังหวัดนครศรีธรรมราช

ทั้งนี้ จะเป็นการก่อสร้างอาคารปฏิบัติการพร้อมจัดหาเครื่องมือทดสอบให้มีความสามารถในการทดสอบเพื่อการตรวจรับอุปกรณ์ไฟฟ้า

วงเงินรวม 1,876.00 (หน่วย : ล้านบาท)

แหล่งเงินทุน - กู้เงินในประเทศ (ร้อยละ 75) 1,392.00 ล้านบาท

แหล่งเงินทุน - รายได้ (ร้อยละ 25) 484.00 ล้านบาท

รวมทั้งสิ้น 19,003.27 (หน่วย : ล้านบาท)

รวมแหล่งเงินทุน - กู้เงินในประเทศ (ร้อยละ 75) 14,197.00 ล้านบาท

รวมแหล่งเงินทุน - รายได้ (ร้อยละ 25) 4,806.27 ล้านบาท

  • มาตรฐาน IEC 61850 เป็นมาตรฐานที่ทำให้การเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์ควบคุม ระบบป้องกัน และระบบการวัด ชนิดต่าง ๆ

ยี่ห้อต่าง ๆ ในสถานีไฟฟ้า สามารถทำงานร่วมกันได้ และเป็นมาตรฐานที่ทำให้สามารถเชื่อมต่อข้อมูลไปยัง Application อื่น ๆ เช่น Software ระบบบริหารจัดการพลังงาน (Energy Management System : EMS) ที่ศูนย์ควบคุมการจ่ายไฟ ข้อมูลเพื่องานจัดการทรัพย์สิน (Asset Management) และข้อมูลเพื่องาน ERP (Enterprise Resource Planning) เป็นไปอย่างสะดวก รวมถึงรองรับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี IT ในอนาคตโดยการแยกส่วนข้อมูลกับการติดต่อสื่อสาร ทำให้ในการอัพเกรดอุปกรณ์ไม่จำเป็นต้องจัดหาหรือปรับเปลี่ยนใหม่ทั้งระบบ

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 5 พฤษภาคม 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ