เรื่อง รายงานการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2562 รายงานของผู้สอบบัญชีและรายงานการเงินสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2561 ของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และรายงานงบการเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2562
1. รับทราบรายงานการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติประจำปีงบประมาณ 2562 และรายงานของผู้สอบบัญชีและรายงานการเงิน สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2561 ของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตามที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเสนอ
2. ในส่วนของรายงานงบการเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2562 นั้น ให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติดำเนินการให้ครบถ้วนตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 มาตรา 43 (ที่ให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเสนองบดุลและรายงานการรับจ่ายเงินของกองทุนในปีที่ล่วงมา ซึ่งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินตรวจสอบรับรองแล้วก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ) แล้วจึงเสนอคณะรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง
สาระสำคัญของเรื่อง
1. รายงานการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ 2562 ได้ผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในคราวประชุมครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2563 โดยการสร้างหลักประกันสุขภาพให้กับคนไทยภายใต้แผนปฏิบัติราชการของ สปสช. ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2561-2565) มุ่งหวังให้ “ทุกคนที่อาศัยอยู่บนแผ่นดินไทย ได้รับความคุ้มครองหลักประกันสุขภาพอย่างถ้วนหน้าด้วยความมั่นใจ” มีเป้าประสงค์หลักคือ ประชาชนเข้าถึงบริการ การเงินการคลังมั่นคง ดำรงธรรมาภิบาล ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ได้รับการจัดสรรงบประมาณสำหรับผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จำนวน 48.575 ล้านคน วงเงิน 181,584.09 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 6.05 ของงบประมาณแผ่นดิน ในอัตราเหมาจ่ายเท่ากับ 3,426.56 บาทต่อผู้มีสิทธิ และได้รับการจัดสรรงบประมาณการบริหารจัดการใน สปสช. จำนวน 1,344.81 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.74 เทียบกับงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยมีผลการดำเนินงานสรุปได้ ดังนี้
1) การเบิกจ่ายงบประมาณ
มีการเบิกจ่ายงบกองทุนหลักประกันสุขภาะพแห่งชาติให้กับหน่วยบริการที่จัดบริการให้ผู้มีสิทธิ จำนวน 133,802.28 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 99.65 (จากงบประมาณ 134,269.13 ล้านบาท)
2) ความครอบคลุมสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
ผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ลงทะเบียนสิทธิเลือกหน่วยบริการประจำตน จำนวน 47.52 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 99.88 (เป้าหมาย 47.58 ล้านคน) ครอบคลุมสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
3) หน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
มีหน่วยบริการขึ้นทะเบียนให้บริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจำนวน 12,334 แห่ง ซึ่งหนึ่งแห่งสามารถขึ้นทะเบียนได้มากกว่าหนึ่งประเภท ได้แก่ ขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิ จำนวน 11,750 แห่ง หน่วยบริการประจำ จำนวน 1,360 แห่ง และหน่วยบริการรับส่งต่อ จำนวน 1,382 แห่ง ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2561 จำนวน 183 แห่ง
4) การเข้าถึงบริการสุขภาพ
ผู้มีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพเข้าถึงบริการพื้นฐานในงบเหมาจ่ายรายหัว ประกอบด้วย 1) บริการสุขภาพทั่วไป 2) บริการกรณีเฉพาะ 3) บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค 4) บริการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการแพทย์ 5) บริการแพทย์แผนไทย และ 6) ยาและเวชภัณฑ์ และบริการเฉพาะกลุ่ม เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง
5) คุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข
(1) หน่วยบริการรับส่งต่อได้รับการรับรองตามกระบวนการรับรองคุณภาพโรงพยาบาลระดับ HA (Hospital Accreditation) จำนวน 898 แห่ง จากหน่วยบริการที่รับการประเมิน 1,078 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 83.30
(2) ประชาชนพึงพอใจต่อการดำเนินงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในระดับมากถึงมากที่สุด ร้อยละ 97.11 ผู้ให้บริการ ร้อยละ 75.99 และองค์กรภาคี ร้อยละ 93.21
6) การคุ้มครองสิทธิ
(1) ประชาชนและผู้ให้บริการสอบถามข้อมูล ร้องเรียน ร้องทุกข์ และประสานส่งต่อผู้ป่วยผ่านช่องทางต่าง ๆ จำนวน 916,428 เรื่อง
(2) ผู้รับบริการยื่นคำร้องช่วยเหลือเบื้องต้นจำนวน 1,188 คน ได้รับการชดเชย 970 คน ผู้ให้บริการยื่นคำร้อง 538 คน ได้รับการชดเชย 464 คน
(3) มีศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพในหน่วยบริการเพื่อคุ้มครองสิทธิจำนวน 886 แห่ง ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน จำนวน 185 แห่ง (ใน 77 จังหวัด) และหน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียน ตามมาตรา 50(5) จำนวน 129 แห่ง (ใน 75 จังหวัด)
7) การมีส่วนร่วมพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จำนวน 7,738 แห่ง (จาก 7,776 แห่ง) เข้าร่วมบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่น ในการดูแลสุขภาพประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ในพื้นที่ เช่น กลุ่มที่มีภาวะเสี่ยง กลุ่มเด็กและเยาวชน กลุ่มวัยทำงาน กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มคนพิการ และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง วงเงิน 3,719 ล้านบาท ประกอบด้วย งบจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2,474 ล้านบาท (ร้อยละ 66.53) เงินสมทบจาก อปท. 1,218 ล้านบาท (ร้อยละ 32.75) และเงินสมทบจากชุมชนและอื่น ๆ 27 ล้านบาท (ร้อยละ 0.72)
8) ความท้าทายในการดำเนินงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
(1) การบริหารระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้สอดรับกับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อสร้างโอกาสให้ประชาชนทุกกลุ่มได้รับความคุ้มครองหลักประกันด้านสุขภาพอย่างเสมอภาคทั่วถึง และยังต้องคงไว้ซึ่งการเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพมาตรฐานอย่างเท่าเทียมกันตามความจำเป็น และได้รับการปกป้องไม่ให้ล้มละลายหรือยากจนลงจากภาระค่าใช้จ่ายเมื่อเจ็บป่วย
(2) การสร้างความตระหนักต่อสาธารณะและปรับกรอบคิดในการใช้งบประมาณของรัฐเพื่อการลงทุนด้านสุขภาพของประชาชน การเพิ่มความตระหนักรู้ด้านสุขภาพและการดูแลสุขภาพตนเองของประชาชนเพื่อสร้างผลิตภาพเป็นผลได้ทางเศรษฐกิจและสังคมให้กับประเทศ ซึ่งถือเป็นการใช้งบประมาณภาครัฐที่มีจำกัด อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
(3) การสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพ คุณภาพมาตรฐาน และความเพียงพอของระบบบริการสาธารณสุข เพื่อบริหารจัดการให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้ตามความจำเป็นและเท่าเทียมกันในทุกกลุ่ม ทุกพื้นที่ โดยเฉพาะกลุ่มที่ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการได้ตามความจำเป็น การลดความแออัดในโรงพยาบาลใหญ่ และการขยายหน่วยร่วมให้บริการรองรับการจัดบริการที่ประชาชนยังเข้าถึงได้น้อย
(4) การสร้างพันธมิตรและขยายการมีส่วนร่วมอย่างใกล้ชิดกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหรือผู้เกี่ยวข้องในทุกภาคส่วน เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
(5) การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ การจัดบริการสาธารณสุข และการพัฒนางานด้านต่าง ๆ รวมทั้งการจัดการ Big data ด้านสุขภาพ เพื่อสนับสนุนระบบกำกับติดตามประเมินผลและการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
2. รายงานของผู้สอบบัญชีและรายงานการเงินของกองทุนฯ สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2561 ซึ่งผ่านการรับรองจากสำนักงงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แล้ว โดยเห็นว่า งบการเงินดังกล่าวถูกต้องตามที่ควรในสาระสำคัญตามมาตรฐานการบัญชีภาครัฐและนโยบายการบัญชีภาครัฐที่กระทรวงการคลังกำหนด ทั้งนี้ ฐานะการเงินของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และงบแสดงผลการดำเนินงานทางการเงิน สำหรับปีสิ้นสุด ณ วันที่ 30 กันยายน 2561 สรุปได้ ดังนี้
ปี 2561 (หน่วย : ล้านบบาท)
งบแสดงฐานะการเงิน ณ วันที่ 30 กันยายน 2561
- สินทรัพย์ 15,349.64
- หนี้สิน12,911.57
- สินทรัพย์สุทธิ 2,438.07
งบแสดงผลการดำเนินงานทางการเงิน ณ วันที่ 30 กันยายน 2561
- รายได้ 140,153.61
- ค่าใช้จ่าย 139,035.27
- รายได้สูง/(ต่ำ) กว่าค่าใช้จ่ายสุทธิ 1,118.34
ปี 2560 (หน่วย : ล้านบบาท)
งบแสดงฐานะการเงิน ณ วันที่ 30 กันยายน 2561
- สินทรัพย์13,903.97
- หนี้สิน12,686.15
- สินทรัพย์สุทธิ1,217.82
งบแสดงผลการดำเนินงานทางการเงิน ณ วันที่ 30 กันยายน 2561
- รายได้132,502.18
- ค่าใช้จ่าย134,736.97
- รายได้สูง/(ต่ำ) กว่าค่าใช้จ่ายสุทธิ(2,234.79)
เพิ่ม/(ลด) (หน่วย : ล้านบบาท)
งบแสดงฐานะการเงิน ณ วันที่ 30 กันยายน 2561
- สินทรัพย์1,445.67
- หนี้สิน225.42
- สินทรัพย์สุทธิ1,220.25
งบแสดงผลการดำเนินงานทางการเงิน ณ วันที่ 30 กันยายน 2561
- รายได้7,651.43
- ค่าใช้จ่าย4,298.30
- รายได้สูง/(ต่ำ) กว่าค่าใช้จ่ายสุทธิ3,353.13
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 5 พฤษภาคม 2563