คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เสนอกำหนดให้ วันที่ 4 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันรู้รักสามัคคี เป็นวันสำคัญของชาติ โดยไม่ถือเป็นวันหยุดราชการ
สปน. เสนอรายงานว่า ที่ผ่านมามูลนิธิเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติได้เคยเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณากำหนดให้วันที่ 2 กรกฎาคม ของทุกปี เป็นวันรู้รักสามัคคี (เป็นวันที่พบนักฟุตบอลและผู้ฝึกสอนทีมหมูป่าอะคาเดมีที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง วนอุทยานถ้ำหลวง – ขุนน้ำนางนอน) ซึ่งคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ (กอช.) ในการประชุมครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2562 ได้มีมติเห็นชอบในหลักการที่จะกำหนดให้มีวันสำคัญของชาติ คือ “วันรู้รักสามัคคี” และมีข้อสังเกตในการกำหนดวันใดเป็นวันสำคัญของชาติ ซึ่งควรจะต้องเป็นวันที่มีศูนย์รวมจิตใจของประชาชน และสอดคล้องกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ซึ่งในการประชุมฯ ยังไม่ได้ข้อยุติว่าจะเป็นวันใด
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งมอบหมายให้ กอช. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (เช่น กระทรวงกลาโหม กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงวัฒนธรรม เป็นต้น) พิจารณากำหนดวันรู้รักสามัคคีให้เหมาะสมและได้ข้อยุติก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
จากข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี กอช. จึงได้พิจารณาเรื่องดังกล่าวในการประชุมครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2563 โดยที่ประชุม กอช. มีความเห็นและมติที่ประชุมสรุปได้ ดังนี้
1. ความเห็นของ กอช.
วันที่ 2 กรกฎาคม วันที่ 4 กรกฎาคม และวันที่ 10 กรกฎาคม
- เป็นเหตุการณ์ที่นักฟุตบอลและผู้ฝึกสอนทีมหมูป่าอะคาเดมี ทั้ง 13 คนที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง วนอุทยานถ้ำหลวง – ขุนน้ำนางนอน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความรู้รักสามัคคี แต่ที่ผ่านมายังมีหลายเหตุการณ์ที่แสดงให้เห็นถึงความรู้รักสามัคคี และในภายหน้าก็ย่อมจะมีเหตุการณ์อื่นที่แสดงให้เห็นถึงความรู้รักสามัคคีเกิดขึ้นได้อีก ดังนั้น การอ้างอิงเหตุการณ์ดังกล่าวจึงมีความหลากหลาย และยังไม่มีข้อยุติว่าสมควรเสนอวันใดเป็นวันรู้รักสามัคคี
วันที่ 4 ธันวาคม
- เป็นการสนองพระมหากรุณาธิคุณและน้อมนำกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2534 ที่มีความตอนหนึ่งว่า “อีก 2 ปีข้างหน้าอาจจะมีวันของ “ความสามัคคี” หรือ “รู้รักสามัคคี” อีก 2 ปี ก็ไม่สายเกินไป ให้เป็น “วันรู้รักสามัคคี” แต่ระหว่างนี้ก็ต้องสามัคคีต่อไป เพื่อให้มีวันนั้นขึ้นได้ คือถ้าไม่ปฏิบัติตั้งแต่วันนี้ ก็ไม่มีวันข้างหน้า” ซึ่งเป็นแนวทางกำหนดให้มีวันรู้รักสามัคคีเพื่อสร้างแรงจูงใจให้ตระหนักถึงคุณค่า ความสำคัญ และนำไปสู่การปฏิบัติด้วยความสามัคคี รู้จักหน้าที่ และประสานส่งเสริมกันให้เกิดความเจริญแก่ประเทศชาติ
- หลักฐานทางประวัติศาสตร์ได้มีคาถาที่สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) ทรงผูกขึ้นประจำตราแผ่นดินในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีความหมายว่า ความพร้อมเพรียงของชนผู้เป็นหมู่ยังความเจริญให้สำเร็จ มีนัยสำคัญว่าความเป็นชาติต้องมีความสามัคคี ซึ่งวันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปีเป็นวันชาติ การกำหนดให้วันที่ 4 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันรู้รักสามัคคี ก็จะสามารถลำดับและดำเนินกิจกรรมได้สอดคล้องให้ตระหนักถึงความสามัคคีนำไปสู่ความเป็นชาติ
2. มติ กอช.
เห็นสมควรกำหนดให้วันที่ 4 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันรู้รักสามัคคี เป็นวันสำคัญของชาติ โดยไม่ถือเป็นวันหยุดราชการ
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 12 พฤษภาคม 2563