รายงานข้อมูลการปฏิบัติงานใน – นอก สถานที่ตั้งของส่วนราชการ กรณีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19)

ข่าวการเมือง Tuesday May 12, 2020 18:00 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานข้อมูลการปฏิบัติงานใน – นอก สถานที่ตั้งของส่วนราชการ กรณีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) รวมทั้งแนวทางดำเนินการในระยะต่อไป ตามที่สำนักงาน ก.พ. เสนอ สรุปสาระสำคัญดังนี้

สาระสำคัญ

สรุปข้อมูล ณ วันที่ 5 พฤษภาคม 2563 จาก 134 ส่วนราชการ คิดเป็นร้อยละ 94 ของส่วนราชการทั้งหมด 142 ส่วนราชการ สรุปข้อมูลได้ดังนี้

1. การปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งของส่วนราชการ (การปฏิบัติงานที่บ้าน)

1) ส่วนราชการร้อยละ 100 (134 ส่วนราชการ) ที่รายงาน มีการมอบหมายให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง ซึ่งส่วนราชการ ร้อยละ 60 (80 ส่วนราชการ) กำหนดสัดส่วนให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ร้อยละ 50 ขึ้นไป ปฏิบัติงานนอกสถานที่โดยมีการมอบหมายในหลายรูปแบบ เช่น ปฏิบัติงานที่บ้านสลับกับมาปฏิบัติงาน ณ สถานที่ตั้งของส่วนราชการแบบวันเว้นวัน สัปดาห์ละ 1 วัน สัปดาห์ละ 2 วัน หรือ สัปดาห์เว้นสัปดาห์ เป็นต้น โดยส่วนใหญ่ เริ่มให้ปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง ตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2563 เป็นต้นมา

2) กลุ่มเป้าหมายหลักในการให้ปฏิบัติงานที่บ้าน คือ ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ที่มีสถานที่พักอาศัยห่างไกลจากสถานที่ทำงาน หรือผู้ที่ต้องใช้รถโดยสารสาธารณะในเดินทางไปกลับระหว่างสถานที่ทำงานและที่พักอาศัย หรือผู้มีปัญหาด้านสุขภาพและมีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อ

2. การปฏิบัติงาน ณ สถานที่ตั้งของส่วนราชการ

1) ส่วนราชการกำหนดให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่เหลื่อมเวลาการปฏิบัติงานกรณีจำเป็นต้องปฏิบัติงาน ณ สถานที่ตั้งของส่วนราชการ โดยส่วนใหญ่เลือกใช้การเหลื่อมเวลาการปฏิบัติงาน ช่วงเวลา 07.00 – 15.00 น. และ 07.30 – 15.30 น.

2) ส่วนราชการมอบหมายให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในสถานที่ตั้งตามวันเวลาปกติในบางลักษณะงาน โดยส่วนใหญ่ คือ งานให้บริการประชาชนงานรักษาพยาบาล งานควบคุมผู้ต้องขัง งานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย งานตามนโยบายเร่งด่วนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) งานติดตามรายงานและพยากรณ์อากาศ งานควบคุมการจราจรทางน้ำ และลักษณะงานในตำแหน่งประเภทบริหารและอำนวยการ เช่น ผู้บริหารระดับสูง ผู้อำนวยการสำนัก/กอง เป็นต้น

3. แนวทางการบริหารงานของส่วนราชการ

1) รูปแบบการลงเวลาปฏิบัติงานผ่านระบบเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น ลงเวลาผ่านระบบออนไลน์ Application LINE โปรแกรมระบบสารสนเทศทรัพยากรบุคคลระดับกรม (Departmental Personnel Information System - DPIS) หรือระบบโปรแกรมเฉพาะของส่วนราชการ

2) การกำกับดูแลและบริหารผลงาน เป็นหัวใจสำคัญของการบริหาร ที่ส่วนราชการเน้นเพื่อคงประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานทั้งในและนอกสถานที่ตั้งให้บรรลุผลตามเป้าหมายและให้มั่นใจว่าคุณภาพของการทำงานและการให้บริการไม่ลดลง โดยส่วนราชการส่วนใหญ่กำหนดให้มีการจัดทำข้อตกลงการปฏิบัติงานล่วงหน้า และให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่รายงานความก้าวหน้าของงาน อย่างต่อเนื่องผ่าน Application LINE และไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ โดยร้อยละ 55 กำหนดให้รายงานความก้าวหน้ารายวัน และร้อยละ 45 กำหนดให้รายงานความก้าวหน้ารายสัปดาห์ขึ้นอยู่กับลักษณะงานที่มอบหมาย

3) การนำระบบเทคโนโลยีดิจิทัลมาสนับสนุนการปฏิบัติงาน ส่วนราชการ ส่วนใหญ่ใช้ Application LINE (ร้อยละ 48) Zoom (ร้อยละ 28) Microsoft Team (ร้อยละ 13) และ Cisco Webex (ร้อยละ 11) ตามลำดับ โดยส่วนใหญ่ใช้งานผ่านคอมพิวเตอร์แบบพกพา (Notebook) และโทรศัพท์เคลื่อนที่ รองลงมาคือ คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ Tablet และ IPAD

4. ข้อจำกัดของส่วนราชการ ในการมอบหมายข้าราชการและเจ้าหน้าที่ให้ปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งในระยะแรก ได้แก่ การขาดความพร้อมเกี่ยวกับอุปกรณ์ในการปฏิบัติงานและสัญญาณเครือข่ายอินเทอร์เน็ตสำหรับการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง และการขาดความพร้อมของเจ้าหน้าที่ในการใช้เทคโนโลยีและ Application ในการปฏิบัติงาน ลักษณะงานบางประเภทไม่สามารถปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งได้ เช่น งานให้บริการประชาชน งานรักษาพยาบาลในโรงพยาบาล งานเกี่ยวกับการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย งานตรวจสอบบัญชีสหกรณ์ งานควบคุมผู้ต้องขัง งานติดตามรายงานและพยากรณ์อากาศ เป็นต้น

5. ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการปฏิบัติงานใน – นอกสถานที่ตั้งของส่วนราชการ ได้แก่ การพัฒนาระบบโปรแกรมกลางเพื่อให้ส่วนราชการใช้ในการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง เช่น ระบบงานสารบรรณ ระบบการประชุมออนไลน์ เป็นต้น และการจัดให้มีอุปกรณ์หรือการสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานที่บ้าน เช่น ค่าอินเทอร์เน็ต เป็นต้น รวมทั้งในกรณีการให้ข้าราชการปฏิบัติราชการ ในสถานที่ตั้งของส่วนราชการ ส่วนราชการจะต้องมีการป้องกันและรักษาความปลอดภัยด้านสุขภาพและชีวิตให้แก่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่อย่างเหมาะสม เช่น การมีจุดคัดกรองโดยมีเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิและเตรียมน้ำยาล้างมือฆ่าเชื้อโรค การเตรียมหน้ากากอนามัย การกำหนดระยะห่างของผู้ปฏิบัติงาน เป็นต้น

6. การดำเนินการในระยะต่อไป

1) สำนักงาน ก.พ. ติดตามและรายงานเกี่ยวกับผลิตภาพ ประสิทธิภาพ และความคุ้มค่า จากการใช้แนวทางการปฏิบัติงานใน – นอกสถานที่ตั้งของส่วนราชการ โดยอาจกำหนดตัวชี้วัดในเรื่องของ ความสำเร็จของงานตามเป้าหมาย การลดค่าใช้จ่ายสำนักงานเช่นด้านสาธารณูปโภค ความสามารถในการนำระบบเทคโนโลยีสนับสนุนการทำงาน การเรียนรู้และพัฒนาความสามารถ และความพึงพอใจในคุณภาพงาน คุณภาพชีวิตของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ เป็นต้น เพื่อนำไปสู่ข้อเสนอเชิงนโยบายการบริหารทรัพยากรบุคคลที่เหมาะสมในภาพรวมต่อไป

2) ส่วนราชการพิจารณาแนวทางการปฏิบัติงานที่เหมาะสมกับสถานการณ์ อาทิ หากเห็นว่า มีลักษณะงานบางอย่างที่สามารถปรับวิธีการมอบหมายให้ปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งของส่วนราชการได้ ก็อาจกำหนดให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งได้อย่างต่อเนื่อง โดยคำนึงถึงมาตรฐานการทำงาน ทั้งในเรื่องของสภาพแวดล้อมและบรรยากาศการทำงานที่ไม่มีสิ่งรบกวนการทำงาน หรือความเป็นส่วนตัว ความปลอดภัยของทั้งข้อมูลการทำงานและตัวเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้วย

สำหรับกรณีที่ลักษณะงานบางอย่างยังคงจำเป็นต้องปฏิบัติงานในสถานที่ตั้ง ส่วนราชการควรกำหนดแนวทางดำเนินการที่คำนึงถึงสุขภาพและความปลอดภัยตามมาตรการทางสาธารณสุขที่ต้องให้ความสำคัญกับ การจัดการจำนวนคนที่มาปฏิบัติงาน การจัดการระยะห่างระหว่างผู้ปฏิบัติงาน การกำหนดรูปแบบกิจกรรมหรือระยะเวลาที่ผู้ปฏิบัติงานต้องปฏิสัมพันธ์กัน การจัดการสภาพแวดล้อมการทำงานที่สอดคล้องกับมาตรการทางสาธารณสุข และการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้สนับสนุนหรือทดแทนกำลังคน โดยสำนักงาน ก.พ. จะประสานงานและขอคำแนะนำจากกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำมาตรฐานแนวทางปฏิบัติงานใน – นอกสถานที่ตั้งที่เหมาะสมสำหรับการปฏิบัติราชการในสถานการณ์ต่างๆ ต่อไป

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 12 พฤษภาคม 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ