รายงานผลการเตรียมความพร้อมในการตราพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง

ข่าวการเมือง Tuesday May 19, 2020 17:15 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง รายงานผลการเตรียมความพร้อมในการตราพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานผลการเตรียมความพร้อมในการตราพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562 ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) เสนอดังนี้

สาระสำคัญของเรื่อง

สำนักงาน กสทช. รายงานว่า

1. เมื่อเดือนตุลาคม 2562 สำนักงาน กสทช. ได้รายงานความพร้อมในการตราพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562 ต่อรัฐสภา และในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2562 ได้ขอให้ กสทช. ปรับปรุงกรอบระยะเวลาในการตราพระราชกฤษฎีกาให้กระชับรวดเร็วยิ่งขึ้น ประกอบกับในการประชุมวุฒิสภา เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2562 ได้ขอให้ กสทช. เพิ่มเติมเนื้อหานิยามคำว่า “การหลอมรวม” ประโยชน์ของการหลอมรวมเทคโนโลยีที่มีต่อประเทศชาติ ประชาชนและเศรษฐกิจของประเทศ พร้อมทั้งปรับปรุงกรอบระยะเวลาและเพิ่มเติมรายละเอียดแผนการดำเนินการออกหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ให้มีความชัดเจนด้วย

2. สำนักงาน กสทช. ได้นำข้อคิดเห็นของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ไปพิจารณาปรับปรุงแผนการดำเนินการ ซึ่งในการประชุม กสทช. เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2563 ที่ประชุมฯ ได้มีมติเห็นชอบให้มีการปรับปรุงแผนการดำเนินการและกรอบระยะเวลาในการตราพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

2.1 การเพิ่มเติมเนื้อหานิยามคำว่า “การหลอมรวม” และประโยชน์ของการหลอมรวมเทคโนโลยีที่มีต่อประเทศชาติ ประชาชน และเศรษฐกิจของประเทศให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น ดังนี้

2.1.1 หน้า 4 ของแผนการดำเนินการฯ “...แม้ว่าการแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562 จะมีเจตนารมณ์ให้เกิดการใช้คลื่นความถี่และโครงข่ายอย่างมีประสิทธิภาพภายใต้การพัฒนาและการหลอมรวมทางเทคโนโลยีก็ตาม แต่การหลอมรวมตามพระราชบัญญัตินี้หรือที่กำหนดไว้ในแผนการดำเนินการนี้มีข้อจำกัดเนื่องจากเป็นเพียงการหลอมรวมในมิติคลื่นความถี่ ซึ่งหมายความถึง การที่แต่ละคลื่นความถี่สามารถนำไปประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ หรือกิจการโทรคมนาคมได้โดยไม่จำกัดเฉพาะกิจการใด กิจการหนึ่ง แต่มิได้หมายความว่าจะสามารถนำทุกย่านคลื่นความถี่มาหลอมรวมได้ ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่และอยู่ภายใต้การอนุญาตและกำกับดูแลของ กสทช. ซึ่งโดยหลักการแล้วการหลอมรวม (Convergence) ที่สมบูรณ์นั้น จะต้องเป็นการหลอมรวมในมิติทางโครงข่ายและเทคโนโลยี...”

2.1.2 หน้า 5 ของแผนการดำเนินการฯ “...ในการนี้เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรา 30 กสทช. ได้จัดทำแผนการดำเนินการและกำหนดกรอบระยะเวลาในการตราพระราชกฤษฎีกา โดยได้คำนึงถึงความพร้อมในการบังคับใช้กฎหมายและพิจารณาถึงประโยชน์ที่ประเทศชาติและประชาชนจะได้รับจากการหลอมรวม ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีที่ใช้กับการสื่อสารประเภทต่าง ๆ มาใช้งานร่วมกันได้...”

2.2 การปรับกรอบระยะเวลาดำเนินการและเพิ่มเติมรายละเอียดแผนการดำเนินการในขั้นตอนการออกหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น สรุปได้ดังนี้

2.2.1 ปรับกรอบระยะเวลาดำเนินการกิจกรรมต่าง ๆ จากเดิมดำเนินการในไตรมาสที่ 2 ของปี 2564 มาเป็นดำเนินการในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2564 ประกอบด้วย 1) จัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องก่อนเสนอให้ตราพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ 2) พิจารณาผลการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และ 3) เสนอพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ต่อคณะรัฐมนตรี

2.2.2 เพิ่มเติมรายละเอียดการดำเนินการที่จะต้องเตรียมการจัดทำหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับบทบัญญัติการหลอมรวมให้มีความสมบูรณ์ จำนวน 4 ฉบับ ได้แก่ 1) การแก้ไขปรับปรุงแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ (พ.ศ. 2562) ในส่วนของภาคผนวก ก. 2) จัดทำหลักเกณฑ์การขออนุญาตประกอบกิจการเพิ่มเติม 3) จัดทำหลักเกณฑ์การโอนใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ และ 4) จัดทำหลักเกณฑ์การอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่โดยวิธีอื่นนอกเหนือจากวิธีประมูล ทั้งนี้ สำนักงาน กสทช. ได้ดำเนินการศึกษาและยกร่างหลักเกณฑ์การอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่โดยวิธีอื่นนอกเหนือจากวิธีประมูลเสร็จเรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างเสนอต่อ กสทช. พิจารณาให้ความเห็นชอบในหลักการเพื่อนำไปรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนทั่วไป ในส่วนหลักเกณฑ์อื่นอีก 3 ฉบับดังกล่าว อยู่ระหว่างดำเนินการตามแผนการดำเนินการฯ

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 19 พฤษภาคม 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ