เรื่อง ทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2563 เรื่อง อนุมัติการกู้เงิน Soft loan ของสำนักงาน ธนานุเคราะห์ (สธค.) จำนวน 2,000 ล้านบาท จากธนาคารออมสิน โดยให้กระทรวงการคลังค้ำประกัน
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ ทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2563 [เรื่อง โครงการสำนักงานธนานุเคราะห์ (สธค.) โรงรับจำนำของรัฐสู้ภัยโควิด 19 โดยขยายเวลาตั๋วจำนำและลดดอกเบี้ยรับจำนำและการกู้เงิน Soft loan จำนวน 2,000 ล้านบาท จากธนาคารออมสิน โดยให้กระทรวงการคลัง (กค.) ค้ำประกัน] ดังนี้
อนุมัติการกู้เงิน Soft loan ของ สธค. จำนวน 2,000 ล้านบาท จากธนาคารออมสิน โดยให้ กค. ค้ำประกัน เพื่อเป็นการเตรียมเงินทุนหมุนเวียนรองรับธุรกรรมการให้บริการรับจำนำแก่ประชาชนสำหรับโครงการ สธค. โรงรับจำนำของรัฐ สู้ภัยโควิด 19 ส่วนการปรับเป้าหมายผลการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ ให้ สธค. เสนอคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ตามขั้นตอนต่อไป ทั้งนี้ ให้ สธค. ดำเนินการให้ถูกต้องเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ หลักเกณฑ์ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัดด้วย
พม. รายงานว่า ภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติวันที่ 31 มีนาคม 2563 อนุมัติการกู้เงิน Soft loan ของ สธค. จำนวน 2,000 ล้านบาท จากธนาคารออมสิน เพื่อเป็นการเตรียมเงินทุนหมุนเวียนรองรับธุรกรรมการให้บริการรับจำนำแก่ประชาชน สำหรับโครงการ สธค. โรงรับจำนำของรัฐ สู้ภัยโควิด 19 ส่วนการปรับเป้าหมายผลการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจให้ สธค. เสนอ คนร. ตามขั้นตอนต่อไป ทั้งนี้ ให้ สธค. ดำเนินการให้ถูกต้องเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ หลักเกณฑ์ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัดด้วย
1. ประเด็นการกู้เงิน
กค. ไม่ขัดข้องในการอนุมัติให้ พม. กู้เงิน Soft loan ให้กับ สธค. จำนวน 2,000 ล้านบาท จากธนาคารออมสิน โดย กค. ค้ำประกัน และเห็นว่า สธค. ควรกำหนดแนวทางการบริหารจัดการภาระหนี้ที่จะเพิ่มขึ้นอย่างรอบคอบ เพื่อลดผลกระทบต่อสภาพคล่องและผลการดำเนินงานของ สธค. รวมทั้ง สธค. ควรดำเนินการก่อหนี้ให้สอดคล้องตามนัยมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ด้วย สำหรับการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการค้ำประกันให้เป็นไปตามกฎกระทรวงกำหนดอัตราและเงื่อนไขการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการค้ำประกันของกระทรวงการคลัง พ.ศ. 2551
2. ประเด็นการเสนอขอปรับเป้าหมายผลการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจที่เป็นตัวชี้วัดทางการเงิน (ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารต่อรายได้สุทธิจากการดำเนินงาน) และตัวชี้วัดที่ไม่ใช่ทางการเงิน (การดำเนินงานตามแผนธุรกิจแต่ละสาขา)
โดยที่ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติมกำหนดให้คณะกรรมการประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจ (คณะกรรมการฯ) มีอำนาจและหน้าที่ในการ (1) เจรจา (2) จัดทำบันทึกข้อตกลงประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจ และ (3) ประเมินผลการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ โดยคณะกรรมการฯ ได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการจัดทำบันทึกข้อตกลง และประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจ (คณะอนุกรรมการฯ) ดำเนินการในข้อ (1) และ (2) และรายงานให้คณะกรรมการฯ ทราบ รวมทั้งดำเนินการในข้อ (3) แล้วรายงานให้คณะกรรมการฯ พิจารณาให้ความเห็นชอบ ดังนั้น การพิจารณาในข้อ (1) และ (2) จึงเป็นอำนาจและหน้าที่ของคณะอนุกรรมการฯ และการพิจารณาในข้อ (3) เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการฯ
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 19 พฤษภาคม 2563