เรื่อง ขอความเห็นชอบแผนความต้องการอัตรากำลังโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (พ.ศ. 2564 - 2566) ภายใต้โครงการผลิตแพทย์เพิ่มแห่งประเทศไทย (พ.ศ. 2556 - 2560)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการแผนความต้องการอัตรากำลังโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (รพศ.มฟล.) (พ.ศ. 2564 - 2566) ภายใต้โครงการผลิตแพทย์เพิ่มแห่งประเทศไทย (พ.ศ. 2556 - 2560) จำนวน 1,575 อัตรา งบประมาณทั้งสิ้น 401.87 ล้านบาท ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอ
ทั้งนี้ การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีเพื่อรองรับแผนความต้องการอัตรากำลังของโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ดังกล่าว เห็นควรให้มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อเสนอขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามความจำเป็นเหมาะสม โดยคำนึงถึงศักยภาพในการสรรหา ความสามารถในการบรรจุอัตรากำลังและพิจารณานำเงินนอกงบประมาณมาสมทบ อย่างไรก็ดี หากในอนาคตโรงพยาบาลมีเงินรายได้เพียงพอต่อการจัดบริการตามแผนการเปิดให้บริการโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงแล้ว ให้เบิกจ่ายค่าใช้จ่ายบุคลากร ตามแผนความต้องการอัตรากำลังโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จากเงินรายได้ดังกล่าว สำหรับอัตราค่าจ้างให้ปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
สาระสำคัญของเรื่อง
1. รพศ.มฟล. ได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2561 โดยตั้งอยู่บนพื้นที่จำนวน 137 ไร่ มีจำนวนอาคารทั้งหมด 2 หลัง เปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2561 ในแผนกผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน สูตินารี กุมารเวช อายุรกรรม ศัลยกรรมทั่วไป ศัลยกรรมกระดูก จักษุ หู คอ จมูก อายุรกรรมโรคหัวใจและหลอดเลือด พยาธิวิทยา รังสีวิทยา กายภาพบำบัด รวมถึงอุบัติเหตุและฉุกเฉิน ปัจจุบันมีจำนวนผู้มารับบริการในส่วนของผู้ป่วยนอกเฉลี่ยจำนวน 500 คน/วัน ผู้ป่วยอุบัติเหตุและฉุกเฉินเฉลี่ย จำนวน 90 คน/วัน รวมทั้งสิ้น 590 คน/วัน คิดเป็น 215,350 คน/ปี มีจำนวนเตียงที่เปิดให้บริการ 156 เตียง และมีอัตรากำลังจากการสนับสนุนของสำนักงบประมาณ (สงป.) จำนวน 70 อัตรา ประกอบด้วยบุคลากรกลุ่มบริการเฉพาะทาง 52 อัตรา และกลุ่มสนับสนุน 18 อัตรา อย่างไรก็ดี จำนวนเตียงและอัตรากำลังดังกล่าวไม่เพียงพอต่อการปฏิบัติงานของ รพศ.มฟล. ในการรองรับการให้บริการตรวจรักษาเพื่อผู้ป่วยในเขตภาคเหนือตอนบน (เขตสุขภาพที่ 1) และเขตอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและโดยที่ รพศ.มฟล. เป็นโรงพยาบาลที่ มฟล. ได้รับอนุมัติให้ดำเนินการก่อสร้างภายใต้โครงการผลิตแพทย์เพิ่มแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2556 – 2560 (มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 18 ธันวาคม 2555 และ 14 ตุลาคม 2557) ซึ่งต้องมีอัตรากำลังบุคลากรทั้งฝ่ายแพทย์ ฝ่ายพยาบาล ฝ่ายเทคนิค ฝ่ายสหวิชาชีพ ตลอดจนฝ่ายสนับสนุน รวมทั้งสิ้นประมาณ 1,500 อัตรา ดังนั้น รพศ.มฟล. จึงได้จัดทำแผนความต้องการอัตรากำลัง ตามแนวทางการวิเคราะห์ภาระงานของสถานบริการในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อคำนวณอัตรากำลังที่จำเป็นในการขยายขนาดการให้บริการ จาก อัตรากำลัง 70 อัตรา ในปัจจุบัน เป็น อัตรากำลัง 1,645 อัตรา (เพิ่มขึ้น 1,575 อัตรา) ภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566
2. การขออัตรากำลังของ รพศ.มฟล. ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์
2.1 จัดหาบุคลากรทางการแพทย์และวิชาชีพด้านสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เพียงพอต่อการให้บริการรักษาแก่ประชาชน และผู้ป่วยได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 460,000 คน1
2.2 จัดหาบุคลากรทางการแพทย์เพื่อรองรับการเป็นสถานฝึกปฏิบัติการในชั้นคลินิก สำหรับนักศึกษาแพทย์ มฟล. ตามโครงการผลิตแพทย์เพิ่มแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2556 – 2560
2.3 จัดหาบุคลากรทางการแพทย์เพื่อรองรับภารกิจด้านวิจัยทางคลินิกและการวิจัยด้านสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องตามบทบาทและสถานภาพของ รพศ.มฟล. และในฐานะที่เป็นโรงพยาบาลระดับตติยภูมิชั้นสูง ที่มีภารกิจวิจัยทางการแพทย์รวมอยู่ด้วย ตลอดจนรองรับภารกิจทั้งด้านการให้บริการและการวิจัยของศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านต่าง ๆ ได้แก่ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านโรคหัวใจและหลอดเลือด ศูนย์ความเป็นเลิศด้านออร์โธ ปิดิกส์ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านมะเร็งวิทยา ศูนย์ความเป็นเลิศด้านอายุรศาสตร์โลหิตวิทยา
3. อัตรากำลังที่ รพศ.มฟล. เสนอขอรวมทั้งสิ้น 1,575 อัตรา แบ่งเป็นกลุ่มผู้บริหาร 5 อัตรา กลุ่มบริการเฉพาะทาง 1,112 อัตรา กลุ่มสนับสนุน 332 อัตรา และกลุ่มแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ 126 อัตรา และจำแนกตามกลุ่มภารกิจได้ ดังนี้
แผนปี 2564 (หน่วย : อัตรา)
กลุ่มผู้บริหาร 5
1) ภารกิจด้านอำนวยการ
กลุ่มสนับสนุน 49
2) ภารกิจด้านบริการปฐมภูมิ2
กลุ่มบริการเฉพาะทาง 6
กลุ่มสนับสนุน 2
3) ภารกิจด้านสนับสนุนบริการสุขภาพและพัฒนาระบบบริการ3
กลุ่มบริการเฉพาะทาง 14
กลุ่มสนับสนุน 79
4) ภารกิจด้านบริการทุติยภูมิและตติยภูมิ4
กลุ่มบริการเฉพาะทาง 78
กลุ่มสนับสนุน 2
กลุ่มแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ 52
5) ภารกิจด้านบริการพยาบาล
กลุ่มบริการเฉพาะทาง 327
กลุ่มสนับสนุน 18
6) ภารกิจด้านผลิตบุคลากรทางการแพทย์
กลุ่มสนับสนุน 3
รวมกลุ่มผู้บริหาร 5
รวมกลุ่มบริการเฉพาะทาง 425
รวมกลุ่มสนับสนุน 153
รวมกลุ่มแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ 52
รวมทั้งสิ้น 635
แผนปี 2565 (หน่วย : อัตรา)
กลุ่มผู้บริหาร -
1) ภารกิจด้านอำนวยการ
กลุ่มสนับสนุน 35
2) ภารกิจด้านบริการปฐมภูมิ2
กลุ่มบริการเฉพาะทาง 3
กลุ่มสนับสนุน 2
3) ภารกิจด้านสนับสนุนบริการสุขภาพและพัฒนาระบบบริการ3
กลุ่มบริการเฉพาะทาง 11
กลุ่มสนับสนุน 49
4) ภารกิจด้านบริการทุติยภูมิและตติยภูมิ4
กลุ่มบริการเฉพาะทาง 68
กลุ่มสนับสนุน 1
กลุ่มแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ 41
5) ภารกิจด้านบริการพยาบาล
กลุ่มบริการเฉพาะทาง 278
กลุ่มสนับสนุน 13
6) ภารกิจด้านผลิตบุคลากรทางการแพทย์
กลุ่มสนับสนุน 5
รวมกลุ่มผู้บริหาร -
รวมกลุ่มบริการเฉพาะทาง 360
รวมกลุ่มสนับสนุน 105
รวมกลุ่มแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ41
รวมทั้งสิ้น506
แผนปี 2566 (หน่วย : อัตรา)
กลุ่มผู้บริหาร-
1) ภารกิจด้านอำนวยการ
กลุ่มสนับสนุน 23
2) ภารกิจด้านบริการปฐมภูมิ2
กลุ่มบริการเฉพาะทาง 3
กลุ่มสนับสนุน-
3) ภารกิจด้านสนับสนุนบริการสุขภาพและพัฒนาระบบบริการ3
กลุ่มบริการเฉพาะทาง 7
กลุ่มสนับสนุน 35
4) ภารกิจด้านบริการทุติยภูมิและตติยภูมิ4
กลุ่มบริการเฉพาะทาง 62
กลุ่มสนับสนุน2
กลุ่มแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ 33
5) ภารกิจด้านบริการพยาบาล
กลุ่มบริการเฉพาะทาง 255
กลุ่มสนับสนุน 12
6) ภารกิจด้านผลิตบุคลากรทางการแพทย์
กลุ่มสนับสนุน2
รวมกลุ่มผู้บริหาร -
รวมกลุ่มบริการเฉพาะทาง 327
รวมกลุ่มสนับสนุน 74
รวมกลุ่มแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ33
รวมทั้งสิ้น 434
รวมทั้งสิ้น (หน่วย : อัตรา)
กลุ่มผู้บริหาร5
1) ภารกิจด้านอำนวยการ
กลุ่มสนับสนุน 107
2) ภารกิจด้านบริการปฐมภูมิ2
กลุ่มบริการเฉพาะทาง 12
กลุ่มสนับสนุน4
3) ภารกิจด้านสนับสนุนบริการสุขภาพและพัฒนาระบบบริการ3
กลุ่มบริการเฉพาะทาง 32
กลุ่มสนับสนุน 163
4) ภารกิจด้านบริการทุติยภูมิและตติยภูมิ4
กลุ่มบริการเฉพาะทาง 208
กลุ่มสนับสนุน5
กลุ่มแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ 126
5) ภารกิจด้านบริการพยาบาล
กลุ่มบริการเฉพาะทาง 860
กลุ่มสนับสนุน43
6) ภารกิจด้านผลิตบุคลากรทางการแพทย์
กลุ่มสนับสนุน10
รวมกลุ่มผู้บริหาร 5
รวมกลุ่มบริการเฉพาะทาง 1,112
รวมกลุ่มสนับสนุน 332
รวมกลุ่มแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ126
รวมทั้งสิ้น1,575
4. ด้านงบประมาณ โรงพยาบาลฯ มีความจำเป็นที่จะต้องขอรับจัดสรรงบประมาณเพื่อรองรับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของอัตรากำลังรวมทั้งสิ้น 401.87 ล้านบาท
ความต้องการอัตรากำลัง / แผนการให้บริการของ รพ.ศูนย์การแพทย์ มฟล. (เตียง)
ปีงบประมาณ 2564 244 (เพิ่มขึ้น 88)
ปีงบประมาณ 2565 323 (เพิ่มขึ้น 79)
ปีงบประมาณ 2566 411 (เพิ่มขึ้น 88)
รวม 411
ความต้องการอัตรากำลัง / อัตรากำลังที่เสนอขอ (อัตรา)
ปีงบประมาณ 2564 635
ปีงบประมาณ 2565 506
ปีงบประมาณ 2566 434
รวม 1,575
ความต้องการอัตรากำลัง / งบประมาณที่เสนอขอ (ล้านบาท)
ปีงบประมาณ 2564 162.85
ปีงบประมาณ 2565 128.05
ปีงบประมาณ 2566 110.97
รวม 401.87
5. กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เห็นชอบกับแผนความต้องการอัตรากำลัง รพศ.มฟล. (พ.ศ. 2564 - 2566) ภายใต้โครงการผลิตแพทย์เพิ่มแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2556 – 2560 ตามที่ มฟล. เสนอ เนื่องจากมีความสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศ ภายใต้ยุทธศาสตร์การจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ สถาบันทางการแพทย์และสถาบันทางการศึกษาต่าง ๆ ในภาพรวมของประเทศ ในระยะยาว (5 – 10 ปี) ที่ สธ. กำลังดำเนินการ [ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป]
5.1 ในระยะแรก ปี พ.ศ. 2564 ซึ่งจะเปิดบริการ 244 เตียง ต้องการอัตรากำลัง 635 คน โดยอ้างอิงกรอบอัตรากำลังของโรงพยาบาลศูนย์ระดับตติยภูมิชั้นสูง ขนาดน้อยกว่า 700 เตียง ตามเกณฑ์ สธ. ที่เสนอได้ ส่วนการจัดสรรงบประมาณด้านบุคลากรให้เป็นไปตามการพิจารณาของ สงป.
5.2 ในระยะที่ 2 ปี พ.ศ. 2565 – 2566 จะเปิดให้บริการเพิ่มเติมอีก 167 เตียง (79 + 88 เตียง) รวมเป็น 411 เตียง (ครบตามเป้าหมายที่ตั้งไว้) ต้องการอัตรากำลังเพิ่มเติมอีก 940 คน (560 + 434 คน) นั้น ควรพิจารณาถึงจุดเน้นสำคัญของ รพศ.มฟล. ตามความต้องการจำเป็นของบริบทในพื้นที่ และควรคำนึงถึงผลการดำเนินงานของ รพศ.มฟล. พ.ศ. 2561 – 2564 ประกอบการพิจารณาด้วย
5.3 เห็นควรให้โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ มฟล. ประสานเชื่อมโยงการบูรณาการการดำเนินงานร่วมกันกับหน่วยงานด้านสุขภาพที่มีอยู่แล้วของ สธ. และหน่วยงานด้านสุขภาพอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในทุกระดับ ทั้งระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน (น่าน พะเยา เชียงราย แพร่) เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการลงทุนและเกิดความคุ้มค่าในการใช้ทรัพยากร รวมทั้งตอบสนองปัญหาสุขภาพของประชาชน
1 ประมาณการค่าเฉลี่ยของผู้รับบริการของ รพศ.มฟล. ปี 2564 : 346,750 คน ปี 2565 : 485,450 คน และ ปี 2566 : 565,750 คน
2 ภารกิจด้านบริการปฐมภูมิ ได้แก่ งานเวชกรรมสังคมและงานสุขศึกษา และงานการพยาบาลชุมชนและหน่วยพื้นที่
3 ภารกิจด้านสนับสนุนบริการสุขภาพและพัฒนาระบบบริการ ได้แก่ งานสารสนเทศทางการแพทย์ งานประกันสุขภาพ งานสิทธิประโยชน์ผู้ป่วยและสังคมสงเคราะห์ เป็นต้น
4 ภารกิจด้านบริการทุติยภูมิและตติยภูมิ ได้แก่ งานให้บริการทางการแพทย์ต่าง ๆ เช่น เวชศาสตร์ฉุกเฉิน อายุรกรรม ศัลยกรรม ออร์โธปิดิกส์ นิติเวช จิตเวช เภสัชกรรม เป็นต้น
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 26 พฤษภาคม 2563