ข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนกรณีผู้ประกอบอาชีพประมงได้รับผลกระทบจากกฎหมายและนโยบายแก้ไขปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย

ข่าวการเมือง Tuesday May 26, 2020 19:05 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนกรณีผู้ประกอบอาชีพประมงได้รับผลกระทบจากกฎหมายและนโยบายแก้ไขปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing : IUU Fishing)

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เสนอ ดังนี้

1. รับทราบผลการพิจารณาคำร้องของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รวม 4 ประเด็น

2. รับทราบข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน กรณีผู้ประกอบอาชีพประมงได้รับผลกระทบจากกฎหมายและนโยบายแก้ไขปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing : IUU Fishing)

3. มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางดังกล่าว ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตามข้อ 2 ไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง

1. กสม. รายงานว่า ได้รับเรื่องร้องเรียนจากนายบุญยง นิ่วบุตร นายกสมาคมชาวประมงอำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ว่าชาวประมงประมาณ 100 ราย ได้รับผลกระทบในการประกอบอาชีพประมงจากการดำเนินการของคณะรัฐมนตรีและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) โดยสหภาพยุโรปได้กล่าวหาประเทศไทยว่า มีการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing : IUU Fishing) ถึงแม้ว่าคณะรัฐมนตรีและ กษ. จะดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อให้การทำประมงสามารถดำเนินการได้อย่างยั่งยืนและเป็นระบบแล้วก็ตาม แต่การดำเนินการดังกล่าวยังขาดความเข้าใจในหลายประเด็น โดยเฉพาะบริบทของประมงวิถีไทย และการแก้ไขปัญหาที่ไม่เป็นธรรมก่อให้เกิดภาระเกินความจำเป็นในการประกอบอาชีพประมง จึงขอให้ตรวจสอบในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้

1.1 การจัดการ การขึ้นทะเบียน และการตรวจสอบแรงงาน

1.2 การปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้า – ออก

1.3 ปัญหาการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเล ซึ่งเกี่ยวข้องกับการห้ามและจำกัดการใช้เครื่องมือประมงบางประเภท

1.4 มาตรการเยียวยาผู้ประกอบอาชีพประมงที่ได้รับผลกระทบและแนวทางในการรับซื้อเรือคืน

2. กสม. ได้พิจารณาคำร้อง ในประเด็นต่าง ๆ ตามข้อ 1.1 – 1.4 แล้ว เห็นควรให้ยุติเรื่องทั้ง 4 ประเด็น ดังนี้

2.1 กรณีการจัดการ การขึ้นทะเบียน และการตรวจสอบแรงงานเห็นว่า แม้การกำหนดขั้นตอนและกระบวนการในการจัดการ การขึ้นทะเบียน และการตรวจสอบแรงงานของคณะรัฐมนตรีและ กษ. โดยหน่วยงานในสังกัดจะเป็นการเพิ่มขั้นตอนการดำเนินการในการประกอบอาชีพประมงของสมาชิกสมาคมชาวประมงอำเภอบ้านแหลม แต่เมื่อพิจารณาจากวัตถุประสงค์ของการดำเนินการที่เป็นไปเพื่อการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการใช้แรงงานผิดกฎหมาย และเพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพในการทำงานของแรงงานในภาคการประมงทั้งแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าว

2.2 กรณีการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้า-ออก เห็นว่า แม้การปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้า – ออก จะกระทบต่อเสรีภาพในการประกอบอาชีพของสมาชิกสมาคมชาวประมงอำเภอบ้านแหลม แต่การดำเนินการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างระบบติดตาม ควบคุมและเฝ้าระวังการทำการประมงให้มีประสิทธิภาพ ทั้งเป็นการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำการประมงโดย ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ประกอบกับศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องได้จัดทำคู่มือการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่โดยได้แก้ไขปรับปรุงเป็นระยะและจัดอบรมสร้างความเข้าใจให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่อย่างต่อเนื่อง

2.3 กรณีปัญหาการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเล ซึ่งเกี่ยวข้องกับการห้ามและจำกัดการใช้เครื่องมือประมงบางประเภท เห็นว่า กฎหมายและมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการอนุญาตให้ผู้ประกอบอาชีพประมงใช้เครื่องมือประมงชนิดใดนั้น เป็นกรณีที่คณะรัฐมนตรี และ กษ. พิจารณาถึงเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเล และความเหมาะสมของพื้นที่แม้อาจกระทบต่อเสรีภาพในการประกอบอาชีพของสมาชิกสมาคมชาวประมงอำเภอบ้านแหลม แต่การดำเนินการดังกล่าวเป็นการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำและการรักษาสมดุลของระบบนิเวศ เพื่อรักษาหรือฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำและให้เกิดการใช้ประโยชน์จากทะเลอย่างยั่งยืน

2.4 กรณีมาตรการเยียวยาผู้ประกอบอาชีพประมงที่ได้รับผลกระทบและแนวทางในการรับซื้อเรือประมงคืน เห็นว่า แม้ปัจจุบันการดำเนินการโครงการการนำเรือประมงออกนอกระบบเพื่อการจัดการทรัพยากรประมงทะเลที่ยั่งยืนโดยกรมประมงจะยังไม่แล้วเสร็จยังคงมีเรือประมงที่เข้าร่วมโครงการและรอการพิจารณาเพื่อรับการชดเชยเยียวยาและบรรเทาผลกระทบ จึงอาจกระทบต่อสิทธิของบุคคลในทรัพย์สินของสมาชิกสมาคมชาวงประมงอำเภอบ้านแหลมแต่เป็นเรื่องที่อยู่ระหว่างการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของกรมประมง

3. นอกจากนี้ กสม. ได้มีข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน กรณีผู้ประกอบอาชีพประมงได้รับผลกระทบจากกฎหมายและนโยบายแก้ไขปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing : IUU Fishing) ต่อคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยคณะรัฐมนตรีควรมอบหมายให้ กษ. และคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ ด้วยการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบอาชีพประมงทุกกลุ่ม รวมทั้งประชาชนและชุมชนในท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้รับผลกระทบจากกฎหมายและนโยบายแก้ไขปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมาได้นำเสนอปัญหาความเดือดร้อนหรือความเสียหายที่ได้รับ รวมถึงมีส่วนร่วมเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาและบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลอย่างสมดุลและยั่งยืน และหากมีกรณีใดที่ต้องดำเนินการเยียวยาความเดือดร้อนหรือความเสียหายให้แก่ประชาชนหรือชุมชนที่ได้รับผลกระทบควรดำเนินการอย่างเป็นธรรมและโดยไม่ชักช้า

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 26 พฤษภาคม 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ