คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรออกไปอีก 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 – 30 มิถุนายน 2563 ตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เสนอ
เรื่องเดิม เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2563 นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้การขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 1) ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2563 และสิ้นสุดในวันที่ 31 พฤษภาคม 2563 เพื่อบังคับใช้อำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 แก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด – 19 ที่เกิดขึ้นในประเทศ
การดำเนินการที่ผ่านมา เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 21 พฤษภาคม 2563 สำนักงานฯ ในฐานะสำนักงานประสานงานกลาง ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ได้เชิญหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการตามพระราชกำหนดฯ ในด้านต่าง ๆ ผู้แทนส่วนราชการและประชาคมข่าวกรองเข้าร่วมการประชุม โดยมี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นประธาน เพื่อประเมินผลการปฏิบัติของส่วนราชการต่าง ๆ ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน และพิจารณากำหนดแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมในห้วงต่อไปเพื่อลดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
1. ที่ประชุมมีความเห็นสอดคล้องกันว่าการบังคับใช้อำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ยังมีความจำเป็น เนื่องจากจะช่วยสร้างระบบการบริหารจัดการในเชิงบูรณาการที่ดีให้กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อชะลอ ควบคุม และป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด – 19 และยังช่วยสนับสนุนให้การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่มีความเป็นเอกภาพ รวดเร็ว มีประสิทธิภาพและมีความต่อเนื่อง อีกทั้งยังเป็นการสร้างมาตรฐานกลางด้านสาธารณสุขและช่วยเยียวยาประชาชนได้อย่างครอบคลุมภาพรวมของประเทศอีกด้วย
2. ที่ประชุมให้ข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในช่วงของการพิจารณาผ่อนคลายมาตรการบังคับใช้กฎหมายสำหรับในระยะที่ 3 และระยที่ 4 ซึ่งเป็นกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อโรคในระดับสูง จึงจำเป็นจะต้องมีการดำเนินการอย่างเป็นระบบ และอยู่ในห้วงระยะเวลาที่เหมาะสม นอกจากนี้ ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจะต้องมีมาตรการด้านกฎหมายเพื่อกำกับ ดูแล และบริหารจัดการ ให้เป็นไปตามมาตรฐานด้านสาธารณสุขได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นจะต้องอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 บังคับใช้ต่อไปอีกระยะหนึ่ง
3. นอกจากนี้ ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ยังไม่สิ้นสุด โดยมีข้อมูลปรากฏในหลายประเทศว่ายังพบการระบาดและมีจำนวนผู้ติดเชื้อในระดับสูง ดังนั้น เมื่อประเทศไทยได้ดำเนินการมาตรการผ่อนคลายการบังคับใช้กฎหมายครบทั้ง 4 ระยะ และพร้อมจะเปิดประเทศแล้ว อาจมีความเสี่ยงที่โรคติดเชื้อโควิด-19 จะกลับมาแพร่ระบาดได้อีกครั้งหากไม่มีการเตรียมมาตรการรองรับที่ดีอย่างเพียงพอ ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องมีระยะเวลาเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการเปิดประเทศในภารกิจที่สำคัญ อาทิ 1) การเตรียมความพร้อมด้านกฎหมายภายหลังยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และ 2) การเตรียมแผนการบริหารวิกฤตการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น ที่ประชุมจึงเห็นควรให้คงการบังคับใช้อำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ต่อไป เนื่องจากจะมีส่วนช่วยให้เจ้าหน้าที่มีเวลาเตรียมความพร้อมรองรับกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น และยังมีส่วนช่วยซักซ้อมทักษะด้านการบริหารจัดการวิกฤตการณ์ให้กับเจ้าหน้าที่ได้อีกทางหนึ่งด้วย
4. ที่ประชุมได้เสนอแนะแนวทางดำเนินการควบคู่ไปกับการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในห้วงที่สอง โดยเห็นควรให้ 1) กำหนดมาตรการผ่อนคลายการบังคับใช้กฎหมายเพิ่มเติม เพื่อให้ประชาชนสามารถประกอบอาชีพได้อย่างเป็นปกติยิ่งขึ้น และ 2) มีการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายอย่างเหมาะสมและทั่วถึง ทั้งนี้ ต้องดำเนินการให้ได้อย่างเป็นรูปธรรมและมีการชี้แจงประชาชนอย่างชัดเจน
5. สมช. ได้นำผลการประชุมส่วนราชการที่เกี่ยวข้องดังกล่าวเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ครั้งที่ 6/2563 เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2563 ซึ่งที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบผลการประชุม และมีมติให้นำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อมีมติเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรต่อไป
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 26 พฤษภาคม 2563