คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานผลสัมฤทธิ์ของการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง (Work From Home) และการเหลื่อมเวลาในการทำงานในสถานที่ตั้งของส่วนราชการ รายสัปดาห์ ครั้งที่ 2 ตามที่สำนักงาน ก.พ. เสนอ โดยสรุปข้อมูล ณ วันที่ 19 พฤษภาคม 2563 จาก 142 ส่วนราชการ คิดเป็นร้อยละ 100 ของส่วนราชการทั้งหมด 142 ส่วนราชการ ดังนี้
1. การปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งของส่วนราชการ (Work From Home)
ส่วนราชการร้อยละ 100 (142 ส่วนราชการ) ที่รายงานมีการมอบหมายให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง โดยส่วนราชการส่วนใหญ่ร้อยละ 54 (76 ส่วนราชการ) กำหนดสัดส่วนให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ร้อยละ 50 ขึ้นไป ปฏิบัติงานที่บ้าน เช่น ส่วนราชการที่เน้นงานระดับนโยบาย เป็นต้น ซึ่งเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมีการมอบหมายให้ปฏิบัติงานที่บ้านในหลายรูปแบบ เช่น ปฏิบัติงานที่บ้านสลับกับมาปฏิบัติงาน ณ สถานที่ตั้งของส่วนราชการวันเว้นวัน สัปดาห์ละ 1 วัน สัปดาห์ละ 2 วัน สัปดาห์เว้นสัปดาห์ เป็นต้น และส่วนใหญ่เริ่มให้ปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563
2. การเหลื่อมเวลาในการทำงานในสถานที่ตั้งของส่วนราชการ
1) ส่วนราชการกำหนดให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่เหลื่อมเวลาการปฏิบัติงานสำหรับกรณีที่ปฏิบัติงานในสถานที่ตั้งของส่วนราชการ โดยส่วนราชการส่วนใหญ่ร้อยละ 56 กำหนดการเหลื่อมเวลาการปฏิบัติงานเป็น 3 ช่วงเวลา คือ เวลา 07.30 – 15.30 น. เวลา 08.30 – 16.30 น. และ เวลา 09.30 – 17.30 น. ส่วนราชการร้อยละ 15 (22 ส่วนราชการ) กำหนดรูปแบบการเหลื่อมเวลามากกว่า 3 ช่วงเวลา เช่น สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กรมสรรพสามิต เป็นต้น นอกจากนี้บางส่วนราชการกำหนดรูปแบบการเหลื่อมเวลาการปฏิบัติงานอื่น ๆ ได้แก่ 06.00 – 14.00 น. เวลา 11.00 – 19.00 น. เช่น กรมกิจการเด็กและเยาวชน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นต้น 2) ส่วนราชการมีการมอบหมายให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในสถานที่ตั้งตามวันเวลาปกติในลักษณะงานให้บริการประชาชน งานรักษาพยาบาล งานในห้องปฏิบัติการและข้าราชการซึ่งเป็นผู้บริหารและผู้อำนวยการสำนัก/กองของส่วนราชการ
3. แนวทางการบริหารงานของส่วนราชการ
1) การกำกับดูแลและบริหารผลงาน เป็นหัวใจสำคัญของการบริหารที่ส่วนราชการเน้นเพื่อคงประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานทั้งในและนอกสถานที่ตั้งให้บรรลุผลตามเป้าหมาย ซึ่งส่วนราชการส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับการกำกับดูแลและติดตามงานอย่างเข้มข้น โดยส่วนราชการร้อยละ 57 กำหนดให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่รายงานความก้าวหน้าของงานทั้งรายวันและรายสัปดาห์ผ่าน Application LINE ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ และ Google Form
2) การนำระบบเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้สนับสนุนการปฏิบัติงาน ส่วนราชการมีการนำระบบเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้สนับสนุนการปฏิบัติงานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีการพิจารณาเลือกใช้ระบบเทคโนโลยีดิจิทัลมากกว่าหนึ่งระบบ โดยส่วนใหญ่เลือกใช้ Application LINE (ร้อยละ 99.3) Zoom (ร้อยละ 61.3) Microsoft Team (ร้อยละ 31) และ Cisco Webex (ร้อยละ 25) ตามลำดับ โดยส่วนใหญ่ใช้งานผ่านคอมพิวเตอร์แบบพกพาและโทรศัพท์เคลื่อนที่
4. ข้อจำกัดของส่วนราชการในการมอบหมายข้าราชการและเจ้าหน้าที่ให้ปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง ได้แก่ การขาดความพร้อมเกี่ยวกับอุปกรณ์ในการปฏิบัติงานและสัญญาณเครือข่ายอินเทอร์เน็ตสำหรับการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง และการขาดความพร้อมของเจ้าหน้าที่ในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการปฏิบัติงาน ในกรณีส่วนราชการที่มีที่ตั้งอยู่ในส่วนภูมิภาคมีบ้านพักข้าราชการตั้งอยู่ในบริเวณสถานที่ตั้งของสำนักงาน จึงไม่จำเป็นต้องให้ข้าราชการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง ลักษณะงานบางประเภทไม่สามารถปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งได้ เช่นงานให้บริการประชาชน งานรักษาพยาบาล งานในห้องปฏิบัติการ งานภัยพิบัติและสถานการณ์ฉุกเฉิน งานความลับ งานควบคุมผู้ต้องขัง งานตรวจสอบบัญชีสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร เป็นต้น
5. ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการปฏิบัติงานใน-นอกสถานที่ตั้งของส่วนราชการ ได้แก่ การจัดให้มีอุปกรณ์หรือการสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานที่บ้าน เช่น คอมพิวเตอร์ ค่าบริการสัญญาณเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เป็นต้น ในกรณีข้าราชการต้องปฏิบัติราชการในสถานที่ตั้งของส่วนราชการควรกำหนดให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่มีการหมุนเวียนสลับกันมาปฏิบัติราชการได้ตามความจำเป็น และจะต้องมีการป้องกันและรักษาความปลอดภัยด้านสุขภาพตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขให้แก่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่อย่างเหมาะสม เช่น การตรวจวัดอุณหภูมิก่อนเข้าสถานที่ตั้งของส่วนราชการ การเตรียมน้ำยาล้างมือฆ่าเชื้อโรค การสวมหน้ากากอนามัย การสลับเวลาพักรับประทานอาหาร การกำหนดระยะห่างของผู้ปฏิบัติงาน เป็นต้น
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 26 พฤษภาคม 2563