1. อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รวมพิจารณาร่างพระราชกฤษฎีกาในเรื่องนี้กับร่างพระราชกฤษฎีกาฯ ที่เป็นเรื่องทำนองเดียวกันซึ่งอยู่ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาให้เป็นฉบับเดียวกัน แล้วดำเนินการต่อไปได้
2. ให้หน่วยงานของรัฐที่ประสงค์จะให้ตราร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดให้เป็นหน่วยงานของรัฐตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ให้เสนอเรื่องไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีภายในเดือนมิถุนายน 2563 เพื่อให้มีการตราพระราชกฤษฎีกาในเรื่องนี้ไปในคราวเดียวกัน
1. พระราชบัญญัติกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. 2561 มาตรา 5 และมาตรา 8 บัญญัติให้จัดตั้งกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา โดยให้กองทุนเป็นหน่วยงานของรัฐและมีฐานะเป็นนิติบุคคลที่ไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน หรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณและกฎหมายอื่น และปัจจุบัน กสศ. ยังไม่ได้รับการกำหนดให้เป็นหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539
2. โดยที่พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 บัญญัติให้ “หน่วยงานของรัฐ” หมายความว่า กระทรวง ทบวง กรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่น และมีฐานะเป็นกรม ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น หรือรัฐวิสาหกิจที่ตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา และให้หมายความรวมถึงหน่วยงานอื่นของรัฐที่พระราชกฤษฎีกากำหนดให้เป็นหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัตินี้ด้วย
3. ดังนั้น เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของ กสศ. ซึ่งปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริตได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 สมควรกำหนดให้ กสศ. เป็นหน่วยงานของรัฐตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิด เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของ กสศ. ซึ่งปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริตได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายดังกล่าว จึงได้เสนอร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. มาเพื่อดำเนินการ
กำหนดให้ กสศ. เป็นหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของ กสศ. ซึ่งปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริตได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติดังกล่าว
ทั้งนี้ ปัจจุบันได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัติดังกล่าวแล้ว จำนวน 64 แห่ง และอยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจำนวน 3 แห่ง ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก การเสนอมาในครั้งนี้จึงเป็นลำดับที่ 68
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 9 มิถุนายน 2563