ร่างพระราชกฤษฎีกายกเว้นคุณสมบัติและลักษณะในเรื่องทุนและอำนาจการบริหารกิจการของผู้ขอรับใบอนุญาตผลิตอากาศยาน ผู้ขอรับใบอนุญาตผลิตส่วนประกอบสำคัญของอากาศยาน

ข่าวการเมือง Tuesday June 9, 2020 17:02 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกายกเว้นคุณสมบัติและลักษณะในเรื่องทุนและอำนาจการบริหารกิจการของผู้ขอรับใบอนุญาตผลิตอากาศยาน ผู้ขอรับใบอนุญาตผลิตส่วนประกอบสำคัญของอากาศยาน และผู้ขอรับใบรับรองหน่วยซ่อมประเภทที่หนึ่ง พ.ศ. ....

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกายกเว้นคุณสมบัติและลักษณะในเรื่องทุนและอำนาจการบริหารกิจการของผู้ขอรับใบอนุญาตผลิตอากาศยาน ผู้ขอรับใบอนุญาตผลิตส่วนประกอบสำคัญของอากาศยาน และผู้ขอรับใบรับรองหน่วยซ่อมประเภทที่หนึ่ง พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงคมนาคมรับความเห็นของกระทรวงอุตสาหกรรมและสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

คค. เสนอว่า

1. โดยที่มาตรา 6/2 แห่งพระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ. 2497 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินอากาศ (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2562 กำหนดว่า เพื่อประโยชน์ในการถ่ายทอดเทคโนโลยีและส่งเสริมการลงทุนเกี่ยวกับการผลิตอากาศยาน การผลิตส่วนประกอบสำคัญของอากาศยาน และการบำรุงรักษาอากาศยานของหน่วยซ่อมประเภทที่หนึ่ง สำหรับอากาศยานที่มีมวลวิ่งขึ้นสูงสุดตั้งแต่ห้าพันเจ็ดร้อยกิโลกรัมขึ้นไป อาจตราพระราชกฤษฎีกายกเว้นคุณสมบัติและลักษณะของผู้ขอรับใบอนุญาตหรือใบรับรองตามมาตรา 41/22 มาตรา 41/33 และมาตรา 41/95 (1) ในส่วนที่เกี่ยวกับทุนจดทะเบียนซึ่งต้องเป็นของผู้มีสัญชาติไทยตามมาตรา 41/23 วรรคหนึ่ง (2) และอำนาจการบริหารกิจการซึ่งต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของบุคคลผู้มีสัญชาติไทยตามมาตรา 41/23 วรรคหนึ่ง (4) โดยจะกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และระยะเวลาของการยกเว้นไว้ด้วยก็ได้

2. ดังนั้น จึงเห็นสมควรยกเว้นคุณสมบัติและลักษณะของผู้ขอรับใบอนุญาตหรือใบรับรอง ในส่วนที่เกี่ยวกับทุนจดทะเบียนซึ่งต้องเป็นของผู้มีสัญชาติไทย และอำนาจการบริหารกิจการซึ่งต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของบุคคลผู้มีสัญชาติไทย เพื่อประโยชน์ในการถ่ายทอดเทคโนโลยีและส่งเสริมการลงทุนเกี่ยวกับการผลิตอากาศยาน การผลิตส่วนประกอบสำคัญของอากาศยานและการบำรุงรักษาอากาศยานของหน่วยซ่อมประเภทที่หนึ่งสำหรับอากาศยานที่มีมวลวิ่งขึ้นสูงสุดตั้งแต่ห้าพันเจ็ดร้อยกิโลกรัมขึ้นไป จึงได้ยกร่างพระราชกฤษฎีกายกเว้นคุณสมบัติและลักษณะในเรื่องทุนและอำนาจการบริหารกิจการของผู้ขอรับใบอนุญาตผลิตอากาศยาน ผู้ขอรับใบอนุญาตผลิตส่วนประกอบสำคัญของอากาศยาน และผู้ขอรับใบรับรองหน่วยซ่อมประเภทที่หนึ่ง พ.ศ. .... ขึ้น เพื่อประโยชน์ในการถ่ายทอดเทคโนโลยีและส่งเสริมการลงทุนเกี่ยวกับการผลิตอากาศยาน การผลิตส่วนประกอบสำคัญของอากาศยาน และการบำรุงรักษาอากาศยานของหน่วยซ่อมประเภทที่หนึ่งสำหรับอากาศยานที่มีมวลวิ่งขึ้นสูงสุดตั้งแต่ห้าพันเจ็ดร้อยกิโลกรัมขึ้นไป ทั้งยังส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางการบิน สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลในการส่งเสริมอุตสาหกรรมการบินซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมาย คือ อุตสาหกรรมต่อเนื่องจากการพัฒนาระบบคมนาคม อันเป็นอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต (New S-curve) ตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติเพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนจากต่างชาติและเพื่อให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่คนไทย และการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยในภาพรวม จึงได้เสนอร่างพระราชกฤษฎีกายกเว้นคุณสมบัติและลักษณะในเรื่องทุนและอำนาจการบริหารกิจการของผู้ขอรับใบอนุญาตผลิตอากาศยาน ผู้ขอรับใบอนุญาตผลิตส่วนประกอบสำคัญของอากาศยาน และผู้ขอรับใบรับรองหน่วยซ่อมประเภทที่หนึ่ง พ.ศ. .... มาเพื่อดำเนินการ

สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา

ยกเว้นคุณสมบัติและลักษณะของผู้ขอรับใบอนุญาตผลิตอากาศยาน และผู้ขอรับใบอนุญาตผลิตส่วนประกอบสำคัญของอากาศยาน เช่น ทุนจดทะเบียนต้องเป็นของผู้มีสัญชาติไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 ของทุนทั้งหมด และการบริหารกิจการต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของผู้มีสัญชาติไทย ตามมาตรา 41/22 และมาตรา 41/33 และยกเว้นคุณสมบัติและลักษณะของผู้ขอรับใบรับรองหน่วยซ่อมประเภทที่หนึ่ง สำหรับอากาศยานที่มีมวลวิ่งขึ้นสูงสุดตั้งแต่ห้าพันเจ็ดร้อยกิโลกรัมขึ้นไปตามมาตรา 41/95 (1) ในส่วนที่เกี่ยวกับทุนจดทะเบียนซึ่งต้องเป็นของผู้มีสัญชาติไทยตามมาตรา 41/23 วรรคหนึ่ง (2) และอำนาจการบริหารกิจการซึ่งต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของบุคคลผู้มีสัญชาติไทย ตามมาตรา 41/23 วรรคหนึ่ง (4) โดยกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และระยะเวลาของการยกเว้นไว้ ดังนี้

1. ผู้ขอรับใบอนุญาตหรือผู้ได้รับใบรับรองนั้นต้อง

1.1 เป็นผู้ได้รับการส่งเสริมตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวกับการส่งเสริมการลงทุน และ

1.2 ประกอบกิจการโดยอาศัยเทคโนโลยีขั้นสูง โดยเฉพาะต้องมีการใช้อุปกรณ์ที่ควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ในการออกแบบ การผลิต การจัดการผลิตภัณฑ์ หรือในการบำรุงรักษาอากาศยานด้วย

1.3 จัดให้มีแผนการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการพัฒนาบุคลากรไทย เสนอมาพร้อมกับการขอรับใบอนุญาตหรือใบรับรองด้วย พร้อมทั้งกำหนดองค์ประกอบขั้นต่ำของแผนการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการพัฒนาบุคลากรไทย

2. กำหนดเงื่อนไขบังคับภายหลังให้ผู้รับใบอนุญาตหรือใบรับรองต้องปฏิบัติตาม ได้แก่

2.1 ผู้รับใบอนุญาตหรือใบรับรองต้องดำเนินการตามแผนการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการพัฒนาบุคลากรไทยตลอดระยะเวลาตามใบอนุญาตหรือใบรับรอง และรายงานการดำเนินการตามแผนการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการพัฒนาบุคลากรไทยดังกล่าวด้วย

2.2 ภายในระยะเวลาห้าปีนับแต่ได้รับใบอนุญาตหรือใบรับรองผู้รับใบอนุญาตหรือผู้รับใบรับรองต้องจัดให้มีการใช้บุคลากรไทยในการประกอบกิจการของตนไม่น้อยกว่าร้อยละแปดสิบจนสิ้นอายุใบอนุญาตหรือใบรับรอง แล้วแต่กรณี

3. กำหนดให้พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับได้ มีกำหนดสิบปี

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 9 มิถุนายน 2563


แท็ก กฤษฎีกา  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ