คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้เหรียญตัวเปล่าโลหะเป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาตในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมาย และร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณา แล้วให้ดำเนินการต่อไปได้
1. กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง ขอให้ พณ. ปรับปรุงประกาศกระทรวงพาณิชย์ ว่าด้วยการนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร (ฉบับที่ 93) พ.ศ. 2536 ลงวันที่ 31 มีนาคม 2536 โดยมีเหตุผลว่าเพื่อปรับปรุงบัญชีแนบท้ายประกาศกระทรวงพาณิชย์ ว่าด้วยการนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร (ฉบับที่ 93) พ.ศ. 2536 ให้สอดคล้องกับชนิดราคา และชนิดโลหะของเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนที่ใช้ในปัจจุบัน โดยให้เหลือบัญชีเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนเพียงบัญชีเดียว และยกเลิกบัญชีเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก 9 ชนิดราคา เนื่องจากขนาด น้ำหนักของเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกจะเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสม และเหรียญที่ระลึกดังกล่าวมิใช่เงินตรา จึงไม่สามารถชำระหนี้ตามกฎหมายได้ ประกอบกับปัจจุบันชนิดโลหะในการผลิตเหรียญกษาปณ์หมุนเวียน 5 ชนิดราคานั้น ชนิดราคา 5 บาท 1 บาท 50 สตางค์ และ 25 สตางค์ มีการเปลี่ยนแปลงไปตามบัญชีเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนท้ายประกาศกระทรวงพาณิชย์ ว่าด้วยการนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร (ฉบับที่ 93) พ.ศ. 2536 ลงวันที่ 31 มีนาคม 2536 จึงทำให้บัญชีเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนท้ายประกาศดังกล่าวมีผลเฉพาะเหรียญกษาปณ์ชนิดราคา 10 บาท เท่านั้น
2. พณ. พิจารณาแล้วจึงได้จัดทำ “ร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้เหรียญโลหะตัวเปล่าเป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาตในการนำเข้ามาในราชขอาณาจักร พ.ศ. .... ละบัญชีท้ายร่างประกาศ” และได้ประชุมหารือร่วมกับกรมธนารักษ์และกรมศุลกากร เพื่อพิจารณาร่างประกาศดังกล่าว รวมทั้งสิ้น 3 ครั้ง โดยที่ประชุมเห็นชอบกับร่างประกาศดังกล่าวและบัญชีท้ายร่างประกาศฯ
3. ต่อมา พณ. โดยกรมการค้าต่างประเทศได้รับการประสานจากกรมธนารักษ์และกรมศุลกากร ดังนี้
3.1 กรมธนารักษ์ขอแก้ไขชื่อสินค้าจากเดิม “เหรียญโลหะตัวเปล่า” เป็น “เหรียญตัวเปล่าโลหะ” เนื่องจากลักษณะของสินค้า คือ เป็นเหรียญที่ยังไม่มีการพิมพ์ลวดลายและทำมาจากโลหะ และแก้ไขการกำหนดลักษณะ ขนาด น้ำหนัก และส่วนผสมของเหรียญตัวเปล่าโลหะให้สอดคล้องกับเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนที่ใช้ในปัจจุบันที่ต้องขออนุญาตนำเข้า 9 ชนิดราคา ได้แก่ 10 บาท 5 บาท 2 บาท 1 บาท 50 สตางค์ 25 สตางค์ 10 สตางค์ 5 สตางค์ และ 1 สตางค์ และใช้คำว่า “ประมาณ” สำหรับขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางและน้ำหนักของเหรียญตัวเปล่าโลหะทุกชนิด
3.2 กรมศุลกากรกำหนดพิกัดอัตราศุลกากรและรหัสสถิติของเหรียญตัวเปล่าโลหะ 9 ชนิดราคาตามข้อมูลของกรมธนารักษ์ตามข้อ 3.1 โดยจัดประเภทของเหรียญตัวเปล่าโลหะให้อยู่ในรายการอื่น ๆ ที่ทำด้วยโลหะ เพื่อจำแนกเหรียญตัวเปล่าโลหะออกจากของอื่น ๆ ที่ทำด้วยโลหะในรอบการปรับปรุงแก้ไขพิกัดอัตราศุลกากรฮาร์โมไนซ์ ฉบับปี 2022 (พ.ศ. 2565)
4. พณ. โดยกรมการค้าต่างประเทศจึงได้ปรับปรุงร่างประกาศตามข้อ 2 ให้สอดคล้องกับความเห็นของกรมธนารักษ์และกรมศุลกากรตามข้อ 3 เป็น “ร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้เหรียญตัวเปล่าโลหะเป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาตในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. .... และบัญชีท้ายร่างประกาศฯ” และแก้ไขการกำหนดลักษณะ ขนาด น้ำหนัก และส่วนผสมของเหรียญตัวเปล่าโลหะให้สอดคล้องกับเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนที่ใช้ในปัจจุบัน โดยกำหนดให้เหรียญตัวเปล่าโลหะที่ใช้ในการผลิตเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนตามพิกัดอัตราศุลกากรประเภทย่อยและรหัสสถิติ ดังนี้ 7419.99.99.000 7326.90.99.090 และ 7616.99.90.090 เป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาตนำเข้า เพื่อป้องกันการปลอมแปลงหรือเลียนแบบเหรียญกษาปณ์
5. พณ. โดยกรมการค้าต่างประเทศได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอความเห็นต่อร่างประกาศฯ ตามข้อ 4 โดยกรมธนารักษ์ กรมศุลกากร และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเห็นชอบด้วยกับร่างประกาศดังกล่าว และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยไม่มีข้อคิดเห็นเพิ่มเติม และได้รับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องผ่านเว็บไซต์ของกรมการค้าต่างประเทศ (www.dft.go.th) ระหว่างวันที่ 21 พฤศจิกายน 2562 ถึงวันที่ 8 มกราคม 2563 โดยไม่มีผู้แสดงความเห็นต่อร่างประกาศดังกล่าว
1. ให้ยกเลิกประกาศกระทรวงพาณิชย์ ว่าด้วยการนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร (ฉบับที่ 93) พ.ศ. 2536 ลงวันที่ 31 มีนาคม 2536
2. กำหนดบทนิยามคำว่า “เหรียญตัวเปล่าโลหะ” หมายความว่าเหรียญตัวเปล่าโลหะที่มีลักษณะ ขนาด น้ำหนัก และส่วนผสมตามบัญชีท้ายประกาศ
3. กำหนดให้เหรียญตัวเปล่าโลหะเป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาตในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร
4. ในกรณีที่กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง เป็นผู้นำเข้าเหรียญตัวเปล่าโลหะไม่ต้องขออนุญาตในการนำเข้ามาในราชอาณาจักรตามประกาศนี้
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 9 มิถุนายน 2563