คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการการจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (National Energy Technology Center : ENTEC) เป็นหน่วยงานเฉพาะทางในสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
1. รัฐบาลมีนโยบายให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานด้านพลังงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงาน ซึ่งการพัฒนาเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันผ่านการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงานเป็นหนึ่งในนโยบายหลักสำคัญ 12 ด้าน ในคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภาที่ต้องการขับเคลื่อนการพัฒนาเพื่อมุ่งมั่นให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วในศตวรรษที่ 21 ทั้งนี้ หน่วยงานวิจัยด้านพลังงานในประเทศยังอยู่อย่างกระจัดกระจาย โดยส่วนใหญ่อยู่ภายใต้การดำเนินการของมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัย ขณะที่รัฐวิสาหกิจและบริษัทเอกชนก็มีการทำวิจัยของตนเองเป็นบางส่วน จึงเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงบทบาทของมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยที่มีต่อการสร้างขีดความสามารถทางเทคโนโลยีพลังงานของประเทศ อีกทั้งยังขาดสถาบันวิจัยด้านพลังงานที่มีการวิจัยแบบเต็มเวลาและครอบคลุมในหลายสาขาที่เป็นความต้องการของประเทศ สวทช. จึงได้มีการหารือร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และได้ข้อสรุปที่ตรงกันในการสนับสนุนให้มีการบูรณาการทรัพยากรต่าง ๆ ภายใต้ สวทช. โดยการจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (ENTEC) เป็นหน่วยงานเฉพาะทาง
2. คณะกรรมการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (กวทช.) ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2563 มีมติให้ความเห็นชอบในหลักการการจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติเป็นหน่วยงานเฉพาะทางภายใต้ สวทช. โดยให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติตามลำดับ
3. ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (ENTEC) จะเป็นศูนย์รวมในการบูรณาการความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานของประเทศและนานาชาติ รวมทั้งเชื่อมโยงงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานที่มุ่งเน้นการต่อยอดไปสู่การใช้งานจริง (Translational Research) สามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับภาคอุตสาหกรรมและขยายผลต่อยอดไปสู่การมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ โดยอาศัยการทำงานในรูปแบบจตุภาคี (Quadruple Helix) โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
3.1 โครงสร้างของศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (ENTEC) ประกอบด้วยหน่วยงานย่อย ดังนี้
3.1.1 หน่วยวิจัยด้านพลังงาน โดยกำหนดกรอบการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานระยะ 5 ปีแรกใน 5 ด้าน ได้แก่
ด้านกรอบวิจัย / รายละเอียด
กลยุทธ์ความเป็นผู้นำด้านงานวิจัย
1. พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy)
มุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาทางด้านพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อผลิตไฟฟ้าและความร้อน รวมทั้งพลังงานหมุนเวียนอื่นที่มีศักยภาพ เช่น พลังงานลมเชื้อเพลิงชีวภาพ โดยการปรับปรุงคุณภาพเชื้อเพลิงชีวภาพสำหรับการใช้งานในสัดส่วนสูงขึ้น เพื่อลดการนำเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิล ลดปัญหามลพิษ และช่วยพยุงราคาพืชพลังงานในประเทศ พัฒนาเทคโนโลยีต่อเนื่องเพื่อให้เกิดการใช้งานอย่างคุ้มค่าและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
2. ระบบกักเก็บพลังงาน(Energy Storage System)
มุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาด้านแบตเตอรี่และซุปเปอร์คาปาซิเตอร์1 (Super Capacitor) เพื่อสนับสนุนให้เกิดอุตสาหกรรมในประเทศ โดยให้ภาคเอกชนไทยมีส่วนร่วมในห่วงโซ่คุณค่า ตั้งแต่การผลิตวัสดุตั้งต้น เซลล์ (Cell) แพ็ก (Pack) การนำไปใช้งาน จนถึงการกำจัด
3. พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล (Conventional Energy)
มุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยาเพื่อผลิตน้ำมันที่มีมาตรฐานสูงขึ้น เช่น EURO5 และ EURO6
กลยุทธ์ความเป็นผู้นำด้านการสร้างเครือข่ายดำเนินการร่วมกับกระทรวงพลังงาน (พน.) และภาคส่วนต่าง ๆ รวมถึงหน่วยงานวิจัยด้านพลังงาน ของประเทศที่อยู่ภายใต้มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัยภาครัฐและเอกชน
4. การจัดการระบบพลังงาน (System Integration and Energy Management)
มุ่งเน้นการวิจัยเทคโนโลยี ระบบโครงข่ายไฟฟ้าขนาดเล็ก (Microgrid) บูรณาการนำพลังงานทดแทนและระบบกักเก็บพลังงานเข้าสู่ระบบไฟฟ้า (Renewable Energy Integration)
5. การเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน (Energy Efficiency)
มุ่งเน้นการวิจัยเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทางไฟฟ้า (Electrical Efficiency) และประสิทธิภาพทางความร้อน (Thermal Efficiency) และการใช้ประโยชน์จากของเสียหรือผลิตภัณฑ์ที่เป็นผลพลอยได้จากอุตสาหกรรมพลังงาน
3.1.2 หน่วยความร่วมมือ มีบทบาทในการสร้างความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษา หน่วยงานวิจัยในประเทศ (เช่น ศูนย์ต่าง ๆ ภายใต้ สวทช. และ พน.) และต่างประเทศ (เช่น ศูนย์พลังงานอาเซียน) โดยการดำเนินงานลักษณะภาคีเครือข่าย (Consortium) ที่ได้ดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมา เช่น (1) การสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านเทคโนโลยีพลังงานกับหน่วยงานในต่างประเทศ (2) การรวมกลุ่มของนักวิจัยด้านพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อพัฒนาเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดเพอรอฟสไกต์ (3) ภาคีเครือข่ายเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานไทย (Thailand Energy Storage Technology Alliance : TESTA) และ (4) ภาคีเครือข่ายทางด้านพลังงานไฮโดรเจน เพื่อขับเคลื่อนแฟลตฟอร์มพลังงานในอนาคตที่ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายใต้ฐานการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน ทั้งนี้ การดำเนินการในรูปแบบภาคีเครือข่ายจะช่วยส่งเสริมความเข้มแข็งในการบูรณาการงานวิจัยและพัฒนาจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการใช้ประโยชน์หรือแก้ไขปัญหาทางด้านพลังงานเป็นสำคัญ โดยศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติจะมีส่วนในการทำหน้าที่เป็นแกนกลางในการเสนอขอทุนวิจัยสนับสนุนจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งจากภาครัฐและเอกชน
3.1.3 หน่วยถ่ายทอดเทคโนโลยี ทำหน้าที่พัฒนากลไกความร่วมมือการถ่ายทอดเทคโนโลยีพลังงานใหม่จากการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรมสู่การผลิตภาคอุตสาหกรรม เช่น การส่งเสริมการร่วมลงทุน 3 ฝ่าย (รัฐ เอกชน และสถาบันวิจัย)
3.1.4 ศูนย์เรียนรู้ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้โครงการสาธิตการใช้เทคโนโลยีด้านพลังงาน
3.2 อัตรากำลังเป็นบุคลากรเดิมที่ปฏิบัติงานด้านพลังงานของ สวทช. โดยมีการบริหารจัดการอัตรากำลังและสังกัดภายใต้ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (ENTEC) ให้มีความเหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่ความรับผิดชอบ จึงไม่มีภาระงบประมาณเพิ่มแต่อย่างใด
3.3 ผลสัมฤทธิ์ที่คาดว่าจะได้รับ
3.3.1 เชื่อมโยงงานวิจัยและพัฒนา ร่วมกับ พน. สู่การขับเคลื่อนแผนพลังงานให้เป็นรูปธรรม เพื่อยกระดับประสิทธิภาพด้านพลังงาน
3.3.2 สร้างพันธมิตรหน่วยงานด้านพลังงานในระดับประเทศ และนานาชาติ เพื่อเข้าถึงสถาบันวิจัย และมหาวิทยาลัย ภายใต้ อว.
3.3.3 ขับเคลื่อนกลไกงานวิจัยพื้นฐานสู่ธุรกิจนวัตกรรม (Startup) และภาคอุตสาหกรรม เพื่อสร้างขีดความสามารถที่จะแข่งขันในเวทีโลก
3.3.4 สนับสนุนการพึ่งพาพลังงานภายในประเทศอย่างยั่งยืน
3.3.5 ส่งเสริมการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
3.3.6 บรรลุเป้าประสงค์ของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ของสหประชาชาติตามเป้าหมายด้านพลังงานข้อที่ 7 การสร้างหลักประกันให้ทุกคนสามารถเข้าถึงพลังงานในราคาที่หาซื้อได้ เชื่อถือได้ มีความยั่งยืนและทันสมัย
3.4 เป้าหมายในระยะ 5 ปีแรก (ปี พ.ศ. 2563 - 2567)
3.4.1 สร้างมูลค่าผลกระทบทางเศรษฐกิจ 10,000 ล้านบาท ซึ่งวิธีการคิดมูลค่าผลกระทบทางเศรษฐกิจมาจากหลายองค์ประกอบ ได้แก่ การลดค่าใช้จ่ายจากการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ การลดต้นทุนในการผลิต การสร้างรายได้เพิ่ม และประโยชน์ในเชิงมูลค่าของผู้ประกอบการ หน่วยงานภาครัฐ และชุมชน
3.4.2 ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ธุรกิจเทคโนโลยีพลังงานไม่น้อยกว่า 10 ราย
3.4.3 สร้างเครือข่ายทางด้านพลังงานภายในประเทศและต่างประเทศไม่น้อยกว่า 60 พันธมิตร
3.4.4 มีบุคลากร ผู้เชี่ยวชาญทางด้านพลังงาน ทั้งในด้านวิจัย และด้านเทคนิคของ ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติไม่น้อยกว่า 120 ราย
3.4.5 พัฒนาการแก้ปัญหาในอุตสาหกรรมพลังงานของประเทศ โดยใช้เทคโนโลยีเชิงลึก (Deep technology)
4. สวทช. ได้หารือกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานภายใต้ อว. ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหน่วยงานภายใต้ พน. (กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานและสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน) โดยเห็นพ้องกันว่าควรสนับสนุนให้มีการจัดตั้ง ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (ENTEC) เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานร่วมกับพันธมิตรภายนอก
/1 ซุปเปอร์คาปาซิเตอร์ หรือตัวเก็บประจุยิ่งยวด เป็นตัวเก็บประจุชนิดหนึ่งที่มีขนาดความจุมากกว่าชนิดปกติ ใช้ในรถไฮบริด โครงงานพลังงานทดแทนต่าง ๆ
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 9 มิถุนายน 2563