คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ มติที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2563 [ซึ่งเป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 ตามมาตรา 5 (1) ที่กำหนดให้ คจร. เสนอนโยบายและแผนหลักต่อคณะรัฐมนตรี] โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้
1. คจร. ได้รับทราบเรื่องต่าง ๆ ดังนี้
1) ความคืบหน้าการดำเนินงานตามแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดย ณ เดือนมกราคม 2563 สรุปได้ดังนี้ (1) โครงการที่เปิดให้บริการแล้ว 6 เส้นทาง ระยะทางรวม 137.80 กิโลเมตร (2) โครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 9 เส้นทาง ระยะทางรวม 188.94 กิโลเมตร (3) โครงการอยู่ระหว่างประกวดราคา 7 เส้นทาง ระยะทางรวม 97.99 กิโลเมตร และ (4) โครงการส่วนต่อขยายปี พ.ศ. 2570-2572 จำนวน 8 เส้นทาง ระยะทางรวม 134.43 กิโลเมตร
มติ คจร.
รับทราบความคืบหน้าการดำเนินงานตามแผนแม่บทฯ
2) แนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมระบบรางและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง โดย คค. ได้กำหนดแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมระบบราง ประกอบด้วย (1) แผนระยะเร่งด่วน 4 ปี (พ.ศ. 2563 -2566) สำหรับการจัดซื้อขบวนรถไฟประเภทที่ใช้เทคโนโลยีทั่วไป และ (2) แผนระยะ 6 ปี (พ.ศ. 2563-2568) สำหรับการจัดซื้อขบวนรถไฟประเภทที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง รวมทั้งได้จัดประชุมสำรวจความสนใจของผู้ประกอบการเอกชนเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2563 โดยมีหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน/ผู้ประกอบการร่วมแสดงความเห็นและข้อเสนอแนะ โดยทุกหน่วยงานเห็นด้วยและมีความพร้อมสำหรับแผนดังกล่าว ทั้งนี้ คค. จะนำแนวทางการพัฒนาฯ เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป
มติ คจร.
รับทราบแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมระบบรางและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง
3) โครงการการศึกษาสำรวจข้อมูลด้านการขนส่งและจราจรเพื่อจัดทำแผนแม่บทในเมืองภูมิภาค จังหวัดบึงกาฬ ปัจจุบันศึกษาแล้วเสร็จ และอนุกรรมการจัดระบบการจราจรทางบกได้เห็นชอบและมีมติมอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปใช้เป็นข้อมูลและแนวทางในการแก้ไขปัญหาด้านการขนส่งและจราจรของจังหวัด โดยพิจารณาขอรับการจัดสรรงบประมาณในการดำเนินงานตามแผน 9,202.07 ล้านบาท
มติ คจร.
รับทราบผลการศึกษาฯ
2. คจร. ได้พิจารณาเรื่องต่าง ๆ เช่น
1) แผนม่บทการแก้ไขปัญหาการจราจรในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ (1) การเพิ่มพื้นที่และความสามารถในการรองรับปริมาณการจราจรบนถนนในจุดที่จำเป็น และ (2) การส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งสาธารณะโดยแบ่งแผนงานเป็น 2 ระยะ คือ แผนงานระยะเร่งด่วน (พ.ศ. 2562-2566) และแผนระยะกลาง/ยาว (พ.ศ. 2567-2576) รวมงบประมาณทั้งสิ้น 273,678 ล้านบาท
มติ คจร.
เห็นชอบแผนแม่บทฯ
มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้แผนแม่บทฯ เป็นกรอบแนวทางในการดำเนินการแก้ไขปัญหาจราจรต่อไป และให้รายงานความคืบหน้าต่อ คจร. ต่อไป
2) การจัดทำมาตรฐานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านการจราจร ได้จัดทำมาตรฐานการวิเคราะห์ฯ เสร็จแล้ว และจากผลการศึกษาได้กำหนดให้การพัฒนาโครงการต่าง ๆ ซึ่งเดิมไม่ต้องมีการศึกษาผลกระทบด้านการจราจร เช่น ห้างสรรพสินค้า หอประชุม สนามกีฬา สำนักงานของรัฐ จะต้องมีการศึกษาและจัดทำผลกระทบด้านการจราจรในอนาคตด้วย นอกจากนี้ ได้กำหนดกรอบการนำผลการศึกษาไปสู่การปฏิบัติ ดังนี้ (1) ระยะสั้น (พ.ศ. 2563-2564) จัดให้มีมาตรฐานในการจัดทำรายงานการวิเคราะห์การจราจร (TIA) (2) ระยะกลาง (พ.ศ. 2565-2567) ประกาศใช้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีและเสนอร่างพระราชบัญญัติ (3) ระยะยาว (พ.ศ. 2568-2569) ประกาสใช้พระราชบัญญัติ
มติ คจร.
รับทราบการจัดทำมาตรฐานการวิเคราะห์ฯ
เห็นชอบแผนการนำเสนอผลการศึกษาไปสู่การปฏิบัติ
มอบหมายสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ดำเนินการตามแผนการนำผลการศึกษาไปสู่การปฏิบัติต่อไป
3) การปรับเพิ่มอัตราความเร็วของรถยนต์ทุกประเภทบนถนนที่มีช่องจราจรตั้งแต่ 4 ช่องขึ้นไป
มติ คจร.
เห็นชอบในหลักการปรับเพิ่มอัตราความเร็วของรถยนต์บนถนนทางหลวงที่มีทางเดินรถที่จัดแบ่งช่องเดินรถในทิศทางเดียวกันไว้ ตั้งแต่ 2 ช่องเดินรถ มีเกาะกลาง ถนนเฉพาะแบบกำแพงกั้นและไม่มีจุดกลับรถเสมอระดับถนน เป็นอัตราความเร็วไม่เกิน 120 กม./ชม.
มอบหมาย คค. ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พิจารณาปรับปรุงกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดอัตราความเร็วสูงสุดเป็นไม่เกิน 120 กม./ชม. และการกำหนดความเร็วขั้นต่ำ สำหรับการขับรถยนต์ในช่องทางเดินรถช่องขวาสุดโดยใช้ความเร็วไม่ต่ำกว่า 100 กม./ชม.
4) การขอทบทวนมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2536 เรื่อง การส่งเสริมการจัดท่าเทียบเรือสาธารณะเพื่อแก้ปัญหาจราจรให้สามารถนำพื้นที่บางส่วนของท่าเรือสาธารณะมาใช้ในเชิงพาณิชย์ เนื่องจากเดิมจะไม่ให้เอกชนเช่าท่าเทียบเรือของหน่วยงานของรัฐ หรือวัดในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลแบบผูกขาด แต่ควรกำหนดให้เป็นท่าเทียบเรือสาธารณะเพื่อสนับสนุนการขนส่งทางน้ำ อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการลดปัญหาการจราจรในปัจจุบันและยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและการให้บริการ จึงต้องเชื่อมโยงระบบขนส่งสาธารณะเข้าด้วยกันเพื่อให้บริหารในลักษณะตั๋วร่วม และจำเป็นต้องบริหารจัดการพื้นที่บนท่าเรือให้มีพื้นที่ปิดสำหรับให้เอกชนลงทุนในระบบตั๋วร่วมดังกล่าว
มติ คจร.
เห็นชอบให้กรมเจ้าท่านำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาขอทบทวนมติคณะรัฐมนตรีฯ เพื่อให้สามารถนำพื้นที่บางส่วนของท่าเรือสาธารณะมาใช้ในเชิงพาณิชย์ได้
มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุนการดำเนินการให้เกิดการพัฒนาระบบขนส่งทางน้ำเชื่อมต่อกับระบบขนส่งอื่นอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
5) ขอความเห็นชอบการดำเนินงานส่วนของฐานรากโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย – ลำสาลี (บึงกุ่ม) ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในส่วนที่ซ้อนทับกับโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) โดยปัจจุบัน รฟม. และ กทพ. อยู่ระหว่างเตรียมจัดทำบันทึกข้อตกลงการดำเนินงานร่วมกัน ซึ่งรวมถึงการบริหารและกำกับดูแลการก่อสร้าง การตรวจรับพัสดุ และการเบิกจ่ายเงินค่าจ้างก่อสร้าง รวมทั้งปรับแผนการดำเนินการเพื่อให้สามารถก่อสร้างฐานรากของโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย – ลำสาลี (บึงกุ่ม) ของ รฟม. ในส่วนที่ซ้อนทับกับโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 ของ กทพ. ไปพร้อมกัน
มติ คจร.
เห็นชอบการดำเนินงานส่วนของฐานรากโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลฯ ให้ดำเนินการก่อสร้างฐานรากของโครงการทั้งสองไปพร้อมกัน ทั้งนี้ ให้ กทพ. ตกลงรายละเอียดกับ รฟม. ต่อไป
มอบหมายให้กระทรวงการคลัง (กค.) หารือสำนักงบประมาณจัดหาแหล่งเงินที่เหมาะสมสำหรับก่อสร้างฐานรากโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลฯ วงเงินรวม 1,470 ล้านบาท
รับทราบการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลฯ โดย รฟม. จะดำเนินการตามขั้นตอนในพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562
6) แนวทางการปรับลดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้า โดยแบ่งเป็น 2 ระยะ ได้แก่ (1) แนวทางการดำเนินงานระยะสั้น เช่น มาตรการปรับลดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้ามหานครสายฉลองรัชธรรม โดยมีค่าโดยสารสูงสุด 20 บาท (2) แนวทางการดำเนินงานระยะยาว เช่น การศึกษา การจัดตั้งทุนหมุนเวียน มาตรการทางด้านภาษี
มติ คจร.
รับทราบแนวทางการปรับลดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้า
มอบหมาย คค. ร่วมกับ กค. ศึกษาแนวทางการดำเนินงานระยะยาวต่อไป
7) แนวทางการพัฒนาระบบเทคโนโลยีด้านการจราจรและขนส่งเพื่อแก้ไขปัญหาจราจรในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการขนส่งและจราจรในส่วนของฮาร์ดแวร์ค่อนข้างมาก เช่น การติดตั้งกล้องโทรทัศน์ CCTV การติดตั้งระบบตรวจนับปริมาณจราจรบนถนน และการติดตั้งระบบ GPS ต่าง ๆ โดย สนข. จะขอรับการสนับสนุนการใช้ข้อมูลหรือทรัพยากรที่มีอยู่แล้ว ของหน่วยงาน ต่าง ๆ และนำมาบูรณาการและพัฒนาทางด้านซอฟต์แวร์ต่อไป
มติ คจร.
มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ตร. กทพ. ให้การสนับสนุน
ข้อมูลและการใช้อุปกรณ์ตรวจวัดสภาพจราจรต่าง ๆ เพื่อร่วมสนับสนุนให้ สนข. สามารถพัฒนาระบบเทคโนโลยีเพื่อการบริหารจัดการต่อไป
3. เรื่องอื่น ๆ เช่น
1) การเตรียมมาตรการภาคขนส่งเพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) โดย คค. ได้ดำเนินการจัดระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) โดยแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว
มติ คจร.
รับทราบการเตรียมมาตรการภาคขนส่งเพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ Covid-19
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 9 มิถุนายน 2563