คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานผลสัมฤทธิ์ของการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง (Work From Home) และการเหลื่อมเวลาในการทำงานในสถานที่ตั้งของส่วนราชการ รายสัปดาห์ ครั้งที่ 5 ตามที่สำนักงาน ก.พ. เสนอ โดยสรุปข้อมูล ณ วันที่ 9 มิถุนายน 2563 ซึ่งได้รับข้อมูลจาก 146 ส่วนราชการ คิดเป็นร้อยละ 99 ของส่วนราชการทั้งหมด (147 ส่วนราชการ) สรุปข้อมูลดังนี้
1. การปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งของส่วนราชการ (Work From Home)
1.1 ส่วนราชการร้อยละ 90 (132 ส่วนราชการ) มีการมอบหมายให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งของส่วนราชการ และส่วนราชการร้อยละ 43 (64 ส่วนราชการ) กำหนดให้มีจำนวนข้าราชการและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งร้อยละ 50 ขึ้นไป (ลดลงจากสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งมี 66 ส่วนราชการ คิดเป็นร้อยละ 45) โดยในจำนวนนี้มีส่วนราชการร้อยละ 16 (23 ส่วนราชการ) มอบหมายให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ทุกคนปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง (เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งมี 21 ส่วนราชการ คิดเป็นร้อยละ 14) ทั้งนี้ มีการมอบหมายให้ปฏิบัติงานที่บ้านในหลายรูปแบบ เช่น ปฏิบัติงานที่บ้านสลับกับการมาปฏิบัติงาน ณ สถานที่ตั้งของส่วนราชการ วันเว้นวัน สัปดาห์ละ 1 วัน สัปดาห์ละ 2 วัน สัปดาห์เว้นสัปดาห์ เป็นต้น
1.2 ส่วนราชการร้อยละ 10 (14 ส่วนราชการ) มีการมอบหมายให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานทุกคนปฏิบัติงานในสถานที่ตั้งของส่วนราชการ (เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งมี 8 ส่วนราชการ คิดเป็นร้อยละ 6) โดยส่วนราชการที่เริ่มมอบหมายให้ทุกคนปฏิบัติงานในสถานที่ตั้งของส่วนราชการในสัปดาห์นี้ ได้แก่ กรมพลศึกษา กรมการข้าว กรมฝนหลวงและการบินเกษตร กรมบังคับคดี กรมศิลปากร และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ
2. การเหลื่อมเวลาในการทำงานในสถานที่ตั้งของส่วนราชการ
2.1 ส่วนราชการกำหนดให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่เหลื่อมเวลาการปฏิบัติงานเมื่อจำเป็นต้องปฏิบัติงานในสถานที่ตั้งของส่วนราชการ โดยส่วนใหญ่ร้อยละ 50 กำหนดการเหลื่อมเวลาการปฏิบัติงานเป็น 3 ช่วงเวลา คือ เวลา 7.30 – 15.30 น. เวลา 8.30 – 16.30 น. และเวลา 9.30 – 17.30 น.
2.2 ส่วนราชการมอบหมายให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในสถานที่ตั้งตามวันเวลาปกติในบางลักษณะงาน โดยลักษณะงานส่วนใหญ่ คือ งานให้บริการประชาชน งานป้องกันและรักษาความมั่นคงภายในประเทศ งานด้านสื่อสารมวลชน งานจัดเก็บภาษี และงานสนับสนุนอื่น ๆ
3. แนวทางการบริหารงานของส่วนราชการ
3.1 การกำกับดูแลและบริหารผลการทำงาน ส่วนราชการร้อยละ 100 กำหนดให้มีระบบรายงานผลงานผ่านช่องทางต่าง ๆ โดยส่วนใหญ่ร้อยละ 80 ให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่รายงานความก้าวหน้าของงานทั้งรายวัน ผ่าน Application LINE ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ และ Google From
3.2 การนำระบบเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้สนับสนุนการปฏิบัติงาน ส่วนราชการมีการนำระบบเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้สนับสนุนการปฏิบัติงานโดยส่วนใหญ่เลือกใช้ Application LINE ร้อยละ 99 Application Zoom ร้อยละ 66 Microsoft Team ร้อยละ 33 Cisco Webex ร้อยละ 26 ตามลำดับ
4. ข้อจำกัดของส่วนราชการ ในการมอบหมายข้าราชการและเจ้าหน้าที่ให้ปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งของส่วนราชการ ได้แก่ การขาดความพร้อมด้านอุปกรณ์ปฏิบัติงานและสัญญาณเครือข่ายอินเทอร์เน็ต การขาดความพร้อมของเจ้าหน้าที่ในการใช้เทคโนโลยีในการปฏิบัติงาน ความไม่สะดวกในการติดต่อสื่อสารและการประสานงานในกรณีเร่งด่วน งานเกี่ยวกับเอกสารราชการที่ยังคงมีความจำเป็นต้องปฏิบัติงานในสถานที่ตั้ง
5. ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการปฏิบัติงานใน – นอกสถานที่ตั้งของส่วนราชการ ได้แก่ ควรจัดให้มีอุปกรณ์รองรับการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง ควรสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติงานที่บ้าน เช่น ค่าบริการอินเทอร์เน็ต เป็นต้น และอาจนำแนวทางการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งไปใช้ในอนาคตเพื่อลดปัญหาการจราจร มลพิษทางอากาศ และลดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคของส่วนราชการ
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 16 มิถุนายน 2563