คณะรัฐมนตรีรับทราบผลประชุมระดับรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียนวาระพิเศษผ่านระบบการประชุมทางไกล (Special Meeting of ASEAN Tourism Ministers on COVID-19) ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ) ได้เข้าร่วมการประชุมดังกล่าวเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2563 มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. การดำเนินมาตรการของประเทศสมาชิกอาเซียนแต่ละประเทศเพื่อลดผลกระทบของ COVID-19 และช่วยฟื้นฟูอุตสาหกรรมท่องเที่ยว สรุปได้ ดังนี้
(1) การให้การสนับสนุนทางการเงิน
สนับสนุนทางการเงินให้แก่กลุ่มลูกจ้างและผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลาง และวิสาหกิจขนาดย่อม (Micro, Small and Medium-sized Enterprises: MSME) เช่น การลดภาษีธุรกิจ การผ่อนผันการชำระเงินสมทบของลูกจ้างเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญ การกำหนดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และ การสนับสนุนเงินทุนและสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ
(2) การยกระดับเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล
แก้ไขปัญหาและสร้างความมั่นใจแก่ภาคธุรกิจอย่างต่อเนื่อง เช่น การพัฒนา แอปพลิเคชันเพื่อให้ประชาชนสามารถติดตามสถานการณ์ COVID-19 และการพัฒนาชุดตรวจ COVID-19 ที่ทราบ ผลรวดเร็วและแม่นยำ
(3) การเสริมสร้างขีดความสามารถและทักษะของบุคลากรด้านการท่องเที่ยว
สนับสนุนการพัฒนาทักษะของบุคลากรด้านการท่องเที่ยวให้ทันต่อสถานการณ์และพร้อมที่จะกลับเข้าสู่ตลาดภายหลังวิกฤตการณ์ COVID-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
(4) การประสานงานระหว่างหน่วยงาน
กระทรวงการท่องเที่ยวของประเทศสมาชิกอาเซียนแต่ละประเทศได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดเพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์ COVID-19 ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกและองค์การการท่องเที่ยวโลก โดยประเทศอาเซียนส่วนใหญ่ได้จัดตั้งหน่วยงานพิเศษหรือคณะกรรมการขึ้นเพื่อรับมือ COVID-19 โดยเฉพาะ
(5) การจัดกิจกรรมผ่านสื่อสังคมออนไลน์
ส่งเสริมสุขภาพและความปลอดภัยผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ โดยให้ชุมชนมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคมในการสนับสนุนรัฐบาลในการควบคุมการแพร่กระจายของ COVID-19
(6) การเตรียมแผนการฟื้นฟู
อยู่ระหว่างจัดเตรียมแผนการฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยว โดยหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าการตอบสนองเชิงนโยบายจะมีความเหมาะสม และคาดการณ์ว่าจะมีการดำเนินแผนการฟื้นฟูทั้งระยะสั้น (6 เดือนถึง 1 ปี) และระยะยาว (มากกว่า 1 ปี)
ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า ประเทศไทยมีมาตรการในการบรรเทา เยียวยา และฟื้นฟูผลกระทบที่เกิดขึ้นจาก COVID-19 โดยแบ่งออกเป็น 2 ระยะ โดยในระยะแรกประกอบด้วย มาตรการด้านการเงินการคลัง และมาตรการด้านการให้การช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ส่วนมาตรการระยะที่สองประกอบด้วย 6 ด้าน ได้แก่ มาตรการเสริมสร้างและการรักษาขีดความสามารถด้านการท่องเที่ยว มาตรการสร้างรายได้แก่สถานประกอบการท่องเที่ยว การพัฒนาทักษะบุคลากรด้านการท่องเที่ยว การสร้างมาตรฐานความปลอดภัยด้านการท่องเที่ยวและด้านสุขอนามัย การช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยว และการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ
2. ถ้อยแถลงการณ์ร่วมการประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียนวาระพิเศษ ซึ่งรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียนได้ให้การรับรองร่างแถลงการณ์ดังกล่าว โดยมีสาระสำคัญคือ การแสดงความห่วงใยและยืนยันเจตนารมณ์ร่วมกันในการเสริมสร้างความร่วมมือเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ตลอดจนเตรียมความพร้อมสำหรับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจภายหลังสถานการณ์คลี่คลายลง ทั้งนี้ เอกสารถ้อยแถลงการณ์ดังกล่าวมีสาระสำคัญที่ไม่แตกต่างจากร่างเอกสารที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2563
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 16 มิถุนายน 2563