ร่างถ้อยแถลงร่วมของการประชุมระดับสูงผ่านระบบการประชุมทางไกลว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศภายใต้ข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง: การต่อสู้กับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

ข่าวการเมือง Tuesday June 16, 2020 18:19 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ร่างถ้อยแถลงร่วมของการประชุมระดับสูงผ่านระบบการประชุมทางไกลว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศภายใต้ข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง: การต่อสู้กับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ด้วยความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบต่อร่างถ้อยแถลงร่วมของการประชุมระดับสูงผ่านระบบการประชุมทางไกลว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศภายใต้ข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง: การต่อสู้กับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ด้วยความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างเอกสารดังกล่าว ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้ง และมอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเข้าร่วมประชุมดังกล่าว และร่วมให้การรับรองร่างถ้อยแถลงฯ ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ เสนอ

สาระสำคัญร่างถ้อยแถลงฯ เป็นเอกสารแสดงเจตนารมณ์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวง การต่างประเทศและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของประเทศตามแนวเส้นทางเศรษฐกิจสายไหมที่จะร่วมมือกันในการรับมือกับการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

1. ตระหนักถึงผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ซึ่งเป็นความท้าทายที่ต้องได้รับความร่วมมือจากประชาคมโลก บนพื้นฐานของความเป็นเอกภาพ ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและการสนับสนุนซึ่งกันและกัน พร้อมทั้งสนับสนุนบทบาทและการดำเนินการของสหประชาชาติและองค์การอนามัยโลกในการควบคุมและจำกัดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)

2. แสดงความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมความร่วมมือ ดังนี้

(1) การป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยการแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์ การให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศที่ได้รับผลกระทบ การส่งเสริมการเข้าถึงวัคซีน เวชภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ การให้การสนับสนุนด้านสุขภาพและการบริการที่จำเป็นแก่ประชาชนของประเทศตามแนวเส้นทางเศรษฐกิจสายไหม รวมทั้งผู้ที่ทำงานภายใต้โครงการสายแถบและเส้นทาง ตลอดจนการสนับสนุนกลไกระดับทวิภาคี ภูมิภาค และระหว่างประเทศ ในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ

(2) การกระชับความร่วมมือในการพัฒนาความเชื่อมโยง โดยการส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งที่มีคุณภาพสูงและยั่งยืน บนพื้นฐานของการเปิดกว้าง ความโปร่งใส และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน การสนับสนุนการเปิดเส้นทางคมนาคมเพื่อส่งเสริมการค้าข้ามพรมแดนและการขนส่งอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็น รวมถึงการสนับสนุนการจัดตั้งช่องทางพิเศษเพื่ออำนวยความสะดวกด้านการค้าและการเดินทางของนักธุรกิจ

(3) การส่งเสริมการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจ โดยการสนับสนุนการเปิดตลาด ระบบการค้า พหุภาคี การรักษาห่วงโซ่การผลิตโลกเพื่ออำนวยความสะดวกด้านการค้า การลงทุน การส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ และการบริการทางอินเทอร์เน็ตอื่น ๆ รวมทั้งความเชื่อมโยงด้านนโยบายเศรษฐกิจมหภาคและการบรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030

(4) การส่งเสริมความร่วมมือที่ปฏิบัติได้จริง โดยการส่งเสริมความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมภายใต้ข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง การสานต่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ เขตเศรษฐกิจ และการดำเนินโครงการต่าง ๆ ที่มีความยั่งยืน ทั้งในมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม การเงินและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการดำเนินการตามหลักการและฉันทามติของการประชุมข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง ครั้งที่ 2

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 16 มิถุนายน 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ