คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการส่งคืนพื้นที่สวนป่าคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ พื้นที่ 366 ไร่ 78 ตารางวา ให้กรมป่าไม้ เพื่อนำพื้นที่เข้าสู่กระบวนการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาลภายใต้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ต่อไป ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ และให้ ทส. รับความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปด้วย
สาระสำคัญของเรื่อง
1. เรื่อง การส่งคืนพื้นที่สวนป่าคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ เนื้อที่ 366 ไร่ 78 ตารางวา ให้กรมป่าไม้ เพื่อนำพื้นที่เข้าสู่กระบวนการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล มีความเป็นมา ดังนี้
ลำดับ / ช่วงเวลา / รายละเอียดเหตุการณ์
1. ปี 2516 - 2525
กรมป่าไม้ได้คัดเลือกพื้นที่ปลูกสร้างสวนป่า เพื่อให้ อ.อ.ป. ไม้ปลูกทดแทนเงื่อนไขสัมปทานของบริษัท ชัยภูมิทำไม้ จำกัด โดยคัดเลือกบริเวณพื้นที่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าภูซำผักหนาม ตำบลทุ่งพระ อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติให้ อ.อ.ป. ปลูกป่าจำนวน 20,000 ไร่ เริ่มปลูกในปี 2521 และได้จัดตั้งหมู่บ้านป่าไม้และรวบรวมราษฎรที่ทำไร่เลื่อนลอยในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เข้าเป็นสมาชิกหมู่บ้านป่าไม้ จัดพื้นที่อาศัยครอบครัวละ 1 ไร่ จัดระบบสาธารณูปโภค สร้างวัดและโรงเรียน ให้หมู่บ้านป่าไม้ดำเนินการปลูกสร้างสวนป่าโดยจ้างแรงงานสมาชิกหมู่บ้านป่าไม้ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2525 จึงหยุดปลูกขยาย ได้พื้นที่ป่ารวม 4,401 ไร่ ส่วนพื้นที่ที่เหลือจำนวน 15,599 ไร่ มีราษฎรอ้างสิทธิครอบครองทำประโยชน์มาก่อน
หมายเหตุ 1: การรวบรวมราษฎรให้เข้ามาอยู่ในพื้นที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ราษฎรมีส่วนร่วมในการปกป้องป่าไม้โดยราษฎรสามารถปลูกพืชบางชนิดเพื่อหาเลี้ยงชีพและรับเงินจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นรางวัลในการดูแลพื้นที่
หมายเหตุ 2: นับตั้งแต่ลำดับที่ 2 เป็นต้นไปเป็นเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับบริเวณพื้นที่ 4,401 ไร่ เท่านั้น
2. 8 มิถุนายน 2538
อ.อ.ป. ได้รับมอบพื้นที่สวนป่าคอนสารมาดูแลรักษาและใช้ประโยชน์จากกรมป่าไม้ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2535
3. ปี 2547
เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) รวมตัวเรียกร้องขอที่ดินทำกิน โดยอ้างว่าสวนป่าและป่าสงวนแห่งชาติป่าภูซำผักหนามทับที่ดินทำกินของตน
หมายเหตุ: คปท. มีสมาชิกทั้งหมด 31 คน
4. 25 กันยายน 2551
คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ จังหวัดชัยภูมิ ในคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ (กบร.) ได้มีการประชุม โดยมีมติให้พิสูจน์สิทธิ์ โดยหน่วยงานเจ้าของพื้นที่จะออกคำสั่งทางปกครองตามผลที่ได้จากการพิสูจน์สิทธิ์ หากราษฎรไม่พอใจสามารถฟ้องศาลปกครองได้ แต่ปรากฎว่าไม่มีราษฏรที่ร้องเรียนเข้าร่วมกระบวนการพิสูจน์สิทธิ์แม้แต่รายเดียว
5. ปี 2552
กลุ่ม คปท. และบริวารได้ร่วมกันบุกรุกเข้าไปครอบครองที่ดินส่วนป่าคอนสารเนื้อที่ 84 ไร่ (ในพื้นที่ป่า 4,401 ไร่ ข้างต้น) คณะเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้เจรจาให้ราษฎรกลุ่มดังกล่าวออกจากพื้นที่เนื่องจากเป็นการกระทำผิดกฎหมายแต่ราษฎรกลุ่มนี้ไม่ยินยอม กลับปลูกสร้างบ้านเรือน ที่พักอาศัยในลักษณะถาวรและกึ่งถาวร นอกจากนี้ยังได้ปลูกพืชผลการเกษตรและตั้งชื่อบริเวณที่เข้าไปบุกรุกว่า “ชุมชนบ่อแก้ว”
หมายเหตุ : กลุ่มผู้บุกรุกป่าหรือราษฎรชุมชนบ่อแก้วมีจำนวนประมาณ 200 คน โดยภาครัฐสามารถสืบหาตัวตนได้เพียง 31 คน ซึ่งเป็นสมาชิก คปท. เท่านั้น
6. ปี 2552
คปท. ได้ยื่นข้อเรียกร้องให้ยกเลิกสวนป่าคอนสารโดยเด็ดขาดและดำเนินการจัดสรรที่ดินทำกินแก่ราษฎรผู้เดือดร้อนโดยดำเนินการตามแนวทางโฉนดชุมชน โดยเรียกร้องพื้นที่ดำเนินการโฉนดชุมชน ในพื้นที่สวนป่าคอนสาร จำนวน 1,500 ไร่ (ในพื้นที่ป่า 4,401 ไร่ ข้างต้น) โดยอ้างว่าตำบลทุ่งพระได้ประชาคมตำบลทุกหมู่บ้าน มีมติให้ยกเลิกสวนป่าคอนสารและดำเนินการจัดสรรที่ดินให้ราษฎร ผู้เดือดร้อน
7. 22 กรกฎาคม 2552
ราษฎรตำบลทุ่งพระ (ตามที่ คปท. กล่าวอ้างถึงในลำดับ 6) จำนวน 81 คน ได้มีบันทึกขอแย้งสิทธิคัดค้านผลการประชุมประชาคมตำบลทุ่งพระที่อ้างว่ามีมติให้ยกเลิกสวนป่าคอนสารเนื่องจากราษฎร กลุ่มดังกล่าวไม่เคยทราบว่ามีการประชาคมให้ยกเลิกสวนป่าคอนสาร และไม่เคยลงลายมือชื่อในกรณีดังกล่าว การปรากฏลายมือชื่อของราษฎรกลุ่มดังกล่าวเป็นการสร้างเอกสารเท็จ
8. ปี 2553 – 2562
ศาลจังหวัดภูเขียวได้ตัดสินให้จำเลยและบริวาร (ราษฎรชุมชน บ่อแก้ว) ออกจากสวนป่าคอนสารให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและต้นไม้ที่จำเลยและบริวารได้นำไปปลูกไว้ในพื้นที่พิพาทปรับสภาพพื้นที่สวนป่าให้กลับคืนสู่สภาพเดิม ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องในพื้นที่สวนป่าคอนสารทั้งหมดอีกต่อไป โดยศาลอุทธรณ์และศาลฎีกายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ต่อมาศาลจังหวัดภูเขียวได้นัดฟังคำสั่งและคำพิพากษาศาลฎีกาเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2562 มีคำสั่งว่า “ให้คู่ความปฏิบัติตามคำพิพากษาภายใน 30 วัน มิฉะนั้นอาจถูกยึดทรัพย์ ถูกจับ จำขัง หรือบังคับคดีตามกฎหมาย” ศาลฎีกาพิพากษา ถือเป็นที่สุด ทุกฝ่ายต้องปฏิบัติตาม จะดำเนินการจัดที่ดินทำกินในบริเวณที่ศาลพิพากษาแล้วมิได้เนื่องจากจะเป็นการขัดอำนาจศาล
หมายเหตุ 1: จำเลยคือ สมาชิก คปท. 31 คน บริวาร คือราษฎรชุมชนบ่อแก้วที่ไม่ใช่กลุ่ม คปท. (กลุ่มที่ภาครัฐไม่สามารถสืบหาตัวตนได้) ประมาณ 170 คน รวมประมาณ 200 คน
หมายเหตุ 2: ต่อมามีการขยายระยะเวลาบังคับคดีรวม 5 ครั้ง จนถึงวันที่ 20 กรกฎาคม 2563
9. 13 สิงหาคม 2562
ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และตัวแทนของ ขปส. ได้ประชุมร่วมกันในกรณีสวนป่าคอนสาร โดยสรุปได้ว่าให้กลุ่มราษฎรออกจากพื้นที่พิพาท เนื่องจากคำพิพากษาศาลถึงที่สุดแล้ว หากราษฎรมีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ คทช. ให้หน่วยงานของรัฐจัดหาที่ดินภายนอกสวนป่าเพื่อจัดที่ดินให้ราษฎรต่อไป เนื่องจากที่ดินสวนป่าคอนสารไม่เข้าหลักเกณฑ์ (มีภาระผูกพันตามกฎหมาย)
หมายเหตุ: คปท. ได้เข้าร่วมกับ ขปส. โดย ขปส. (ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมหรือ P-Move) เป็นองค์การ ภาคประชาชนที่รวบรวมเครือข่ายและกลุ่มผู้ได้รับความเดือดร้อน ต่าง ๆ ไว้ด้วยกัน เช่น ปัญหาที่ดินทำกิน ปัญหาสิทธิมนุษยชน เป็นต้น ทั้งนี้ ปัจจุบันมีประเด็นปัญหาระหว่างภาครัฐกับ ขปส. รวม 266 กรณี (ข้อมูล ณ วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2563)
10. 27 กันยายน 2562
ตัวแทนกำนันและผู้ใหญ่บ้านตำบลทุ่งพระ อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ ได้ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ โดยระบุว่า (1) คณะกรรมการตำบลทุ่งพระได้เคยจัดประชุมประชาคม แต่กลุ่ม ผู้เรียกร้องไม่ประสานความร่วมมืออย่างแท้จริง และ (2) ให้รายชื่อ ผู้เรียกร้องที่คัดกรองแล้วเข้าสู่กระบวนการประชาคมหมู่บ้านและ สภาตำบลเพื่อรับรองก่อนมีการยื่นรายชื่อรับรองการจัดการที่ดินต่อไป
11. 30 กันยายน 2562
ตัวแทนกลุ่ม ขปส. ได้ยื่นรายชื่อต่อจังหวัดชัยภูมิจำนวน 131 ราย เพื่อคัดกรองคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์การจัดที่กินทำกินให้ชุมชน ตามนโยบายรัฐบาล
หมายเหตุ: บุคคล 131 รายดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มราษฎรชุมชนบ่อแก้วจำนวนประมาณ 200 คน
12. 13 ธันวาคม 2562
คณะกรรมการตำบลทุ่งพระ ซึ่งประกอบด้วยฝ่ายปกครอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จำนวน 10 หมู่บ้าน ในตำบลทุ่งพระขอคัดค้านการสำรวจที่ดินเพื่อมอบให้กลุ่มราษฎรชุมชนบ่อแก้ว อีกทั้งเห็นว่า (1) ไม่ควรยกที่ดินให้บุคคลอื่นที่ไม่ใช่ราษฎรในพื้นที่ตำบลทุ่งพระ (2) บุคคลที่ศาลพิพากษาให้ออกจากพื้นที่สวนป่าคอนสารที่มีรายชื่อในการพิจารณาจัดที่ดินทำกินตามแนวทางการจัดการที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล ไม่ควรนำมาพิจารณาจัดที่ดินทำกินตามแนวทางการจัดการที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล และ (3) ควรพิจารณารายชื่อราษฎรผู้สมควรได้รับสิทธิ์จากการคัดกรองของฝ่ายปกครองและคณะกรรมการตำบลทุ่งพระ ก่อนเป็นอันดับแรก และขอให้ คทช. ได้ร่วมกันพิจารณากำหนดพื้นที่อื่นที่มิใช่พื้นที่สวนป่าคอนสาร เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งของราษฎรในตำบลทุ่งพระ และการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นปกติสุขต่อไป
2. อ.อ.ป. พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทำการสำรวจตรวจสอบพื้นที่สวนป่าคอนสารและได้ร่วมกันจัดทำแผนที่สวนป่าคอนสารที่จะส่งมอบให้กับกรมป่าไม้ (เพื่อส่งมอบให้ ขปส.) เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2562 จำนวน 7 แปลง รวมพื้นที่ 366 – 0 – 78 ไร่ (ในพื้นที่ป่า 4,401 ไร่ ข้างต้น) ดังนี้
2.1 แปลงที่ 1 แปลงปี 2524 พื้นที่ 51 – 3 – 10 ไร่
2.2 แปลงที่ 2 แปลงปี 2522 พื้นที่ 86 – 2 – 04 ไร่
2.3 แปลงที่ 3 ประกอบด้วยแปลงปี 2522 พื้นที่ 23 – 2 - 82 ไร่ และแปลงปี 2523 พื้นที่ 89 – 2 – 93 ไร่
2.4 แปลงที่ 4 แปลงปี 2523 พื้นที่ 43 – 0 – 70 ไร่
2.5 แปลงที่ 5 แปลงปี 2523 พื้นที่ 13 – 3 – 49 ไร่
2.6 แปลงที่ 6 ประกอบด้วยแปลงปี 2522 พื้นที่ 36 – 1 – 62 ไร่
2.7 แปลงที่ 7 แปลงปี 2522 พื้นที่ 21 – 0 – 08 ไร่
3. คณะกรรมการขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ในคราวประชุมครั้งที่ 11/2562 เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2562 มีมติเห็นชอบให้ส่งมอบพื้นที่สวนป่าคอนสารจำนวน 366 – 0 – 78 ไร่ ให้กับกรมป่าไม้ เพื่อนำพื้นที่ดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาลตามขั้นตอนต่าง ๆ ต่อไป
4. คณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ในคราวประชุม ครั้งที่ 2/2562 เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2562 เพื่อติดตามเร่งรัดผลการดำเนินการแก้ไขปัญหากรณีเร่งด่วน 16 กรณี ซึ่งรวมถึงกรณีการปลูกสร้างสวนป่าคอนสารทับที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย ตำบลทุ่งพระ อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งให้เร่งรัดดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยเร่งด่วน ที่ประชุมมีความเห็นให้องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ เร่งรัดการส่งคืนพื้นที่ 366 ไร่ 78 ตารางวา เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบโดยเร็ว
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 23 มิถุนายน 2563