1. เห็นชอบมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหากรณีที่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ก่อนได้รับอนุญาต และให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐถือเป็นแนวทางปฏิบัติต่อไป
2. ให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐที่ดำเนินการตามมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหากรณีที่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ก่อนได้รับอนุญาต ได้รับการยกเว้นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2523
1. ทส. ได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2559 โดยได้จัดประชุมเรื่อง หารือการเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้และขอผ่อนผันมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2523 ในกรณีที่ปรากฏว่ายังมีส่วนราชการใดเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ก่อนได้รับอนุญาต เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2562 (โดยมีปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นประธาน) และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุมหารือฯ ได้แก่ ทส. (กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งและกรมป่าไม้) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) (กรมชลประทาน) กระทรวงคมนาคม (คค.) (กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท) กระทรวงมหาดไทย (มท.) (กรมการปกครองและกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) (กรมอนามัย) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) และการประปาส่วนภูมิภาค ซึ่งในที่ประชุมได้รับทราบรายงานข้อมูลกรณีส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ก่อนได้รับอนุญาตและได้ดำเนินงานเสร็จเรียบร้อยแล้ว หรือกำลังอยู่ในระหว่างดำเนินงาน โดยยังมิได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่ตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวกับการป่าไม้ จำนวน 22,688 แห่ง ซึ่งต่อมากรมป่าไม้ได้รวบรวมและตรวจสอบข้อมูลดังกล่าว พบว่ามีส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐที่เข้าไปทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ก่อนได้รับอนุญาตใน 74 จังหวัด จำนวน 31,179 แห่ง ดังนี้
ลักษณะของแผนงาน/โครงการ - ข้อมูลที่หน่วยงานรายงาน / จำนวน (แห่ง)
1. โครงการเกี่ยวกับการสร้าง/ปรับปรุงถนน 4,610
2. โครงการเพื่อกิจการชลประทาน (อ่างเก็บน้ำ ฝาย ระบบส่งน้ำ ฯลฯ) 1,822
3. โครงการระบบประปา/แนวเดินท่อระบบประปา 1,572
4. สถานที่สาธารณะอื่น ๆ (ห้องน้ำสาธารณะ สนามกีฬา ลานกิจกรรมเอนกประสงค์ ศาลาเอนกประสงค์ ฯลฯ) 1,311
5. สถานศึกษา (ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โรงเรียน มหาวิทยาลัย ฯลฯ) 917
6. ที่ตั้งสำนักงาน/อาคารปฏิบัติงาน/บ้านพัก ของหน่วยงานราชการ 777
7. โครงการจัดการขยะ (บ่อขยะ หลุมกลบขยะ ฯลฯ) 432
8. เพื่อกิจการเกี่ยวกับแหล่งน้ำ (อนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำ ฝายน้ำล้น ฯลฯ) 399
9. สถานบริการด้านสาธารณสุข 286
10. เพื่อก่อสร้างวัด 260
11. โครงการเกี่ยวกับการพัฒนาระบบไฟฟ้า 254
12. สถานปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนา (ลานปฏิบัติธรรม โบสถ์คริสต์ มัสยิด) 222
13. เพื่อกิจการส่งเสริม/ปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยว 91
14. กิจการของสำนักงานตำรวจแห่ชาติ 84
15. เพื่อการเกษตร 43
16. เพื่อกิจการทางทะเล (ท่าเทียบเรือ เขื่อนกั้นคลื่น ฯลฯ) 35
17. ปลูกสร้างสวนป่า (อ.อ.ป.) 26
18. พัฒนาระบบสาธารณูปโภค 20
19. โครงการอนุกรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ (สิ่งแวดล้อม สภาวะทางอากาศ ฯลฯ) 15
20. เพื่อกิจการโทรคมนาคม 13
21. สถานีเพาะพันธุ์ ศึกษาวิจัย และดูแล พืช/สัตว์ 11
22. กิจการของโครงการหลวง -
23. กิจการรถไฟ -
24. ไม่ระบุ/อื่น ๆ 9,488
ลักษณะของแผนงาน/โครงการ - กรมป่าไม้รวบรวมและตรวจสอบ* / จำนวน (แห่ง)
1. โครงการเกี่ยวกับการสร้าง/ปรับปรุงถนน 9,560
2. โครงการเพื่อกิจการชลประทาน (อ่างเก็บน้ำ ฝาย ระบบส่งน้ำ ฯลฯ) 2,232
3. โครงการระบบประปา/แนวเดินท่อระบบประปา 1,004
4. สถานที่สาธารณะอื่น ๆ (ห้องน้ำสาธารณะ สนามกีฬา ลานกิจกรรมเอนกประสงค์ ศาลาเอนกประสงค์ ฯลฯ) 923
5. สถานศึกษา (ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โรงเรียน มหาวิทยาลัย ฯลฯ) 10,401
6. ที่ตั้งสำนักงาน/อาคารปฏิบัติงาน/บ้านพัก ของหน่วยงานราชการ 1,608
7. โครงการจัดการขยะ (บ่อขยะ หลุมกลบขยะ ฯลฯ) 774
8. เพื่อกิจการเกี่ยวกับแหล่งน้ำ (อนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำ ฝายน้ำล้น ฯลฯ) 1,519
9. สถานบริการด้านสาธารณสุข 895
10. เพื่อก่อสร้างวัด 387
11. โครงการเกี่ยวกับการพัฒนาระบบไฟฟ้า 253
12. สถานปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนา (ลานปฏิบัติธรรม โบสถ์คริสต์ มัสยิด) 157
13. เพื่อกิจการส่งเสริม/ปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยว 150
14. กิจการของสำนักงานตำรวจแห่ชาติ 142
15. เพื่อการเกษตร -
16. เพื่อกิจการทางทะเล (ท่าเทียบเรือ เขื่อนกั้นคลื่น ฯลฯ) 173
17. ปลูกสร้างสวนป่า (อ.อ.ป.) 237
18. พัฒนาระบบสาธารณูปโภค 522
19. โครงการอนุกรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ (สิ่งแวดล้อม สภาวะทางอากาศ ฯลฯ) 8
20. เพื่อกิจการโทรคมนาคม 14
21. สถานีเพาะพันธุ์ ศึกษาวิจัย และดูแล พืช/สัตว์ 33
22. กิจการของโครงการหลวง 40
23. กิจการรถไฟ 6
24. ไม่ระบุ/อื่น ๆ141
- หมายเหตุ – ข้อมูล ณ วันที่ 25 ตุลาคม 2562 และกรมป่าไม้ได้จำแนกประเภทโครงการเป็น 24 กิจกรรม (เพิ่มจากข้อมูลที่ส่วนราชการรายงานในที่ประชุมหารือฯ คือ กิจการของโครงการหลวงและกิจการรถไฟ)
2. เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหากรณีที่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ก่อนได้รับอนุญาตให้ถูกต้องตามระเบียบและกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้ ทส. โดยกรมป่าไม้จึงได้เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหากรณีที่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ก่อนได้รับอนุญาต และให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ก่อนได้รับอนุญาต และให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐถือเป็นแนวทางปฏิบัติต่อไป ดังนี้
2.1 การเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ทุกกรณีของส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐที่ได้ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว หรือกำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการโดยไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่ เห็นควรผ่อนผันให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐดำเนินการต่อไปได้ โดยให้ส่วนราชการหรือองค์การของรัฐดำเนินการให้ถูกต้องตามระเบียบและกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้ต่อไป ทั้งนี้ ให้พิจารณาเฉพาะส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐที่ได้ยื่นคำขออนุญาตไว้แล้ว หรือยื่นคำขออนุญาตเข้าทำประโยชน์ภายใน 180 วัน นับตั้งแต่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ
2.2 กรณีที่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐซึ่งต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (รายงาน Environmental Impact Assessment : รายงาน EIA) ของโครงการประเภทต่าง ๆ ตามแนวทางปฎิบัติที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ได้กำหนดไว้ก่อนการเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ทุกกรณีของส่วนราชการ หรือหน่วยงานของรัฐที่ได้ดำเนินงานเสร็จเรียบร้อยแล้ว หรือกำลังอยู่ในระหว่างดำเนินงานโดยไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่ตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวกับการป่าไม้ ให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐต้องเสนอรายงาน EIA ให้ถูกต้องตามระเบียบและกฎหมายต่อไป
2.3 การเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ของส่วนราชการหรือองค์การของรัฐทุกกรณีจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้ โดยจะต้องได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่ป่าไม้ก่อน จึงจะเข้าดำเนินการได้ หากปรากฏว่ายังมีส่วนราชการหรือองค์การของรัฐใดเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ก่อนได้รับอนุญาตอีก ซึ่งเป็นการปฏิบัติไม่ชอบด้วยกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้ เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการตามข้อ 2.1 และ 2.2 แล้ว ให้กรมป่าไม้พิจารณาดำเนินการตามกฎหมายโดยเคร่งครัด
2.4 มิให้ส่วนราชการทุกหน่วยงานจัดสรรงบประมาณให้แก่โครงการที่ดำเนินการในพื้นที่ป่าไม้ที่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่ป่าไม้
2.5 ในกรณีฉุกเฉินและมีความจำเป็นในการปรับปรุงและซ่อมแซมเพื่อแก้ไขความเดือดร้อนของราษฎร ให้สามารถดำเนินการไปพลางก่อนได้และแจ้งให้กรมป่าไม้ทราบภายหลัง ตัวอย่างเช่น กรณีเกิดเส้นทางหรือถนนที่ยังไม่ได้รับอนุญาต ถูกน้ำไหลบ่าทำให้ทางขาด ประชาชนจำนวนมากได้รับความเดือดร้อนซึ่งต้องเป็นกรณีฉุกเฉินและจำเป็นจริง ๆ
ทั้งนี้ ให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐที่ดำเนินการตามมาตรการข้างต้น ได้รับการยกเว้นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2523 (เรื่อง การเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้)
3. นอกจากนี้ กรมป่าไม้ได้ปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย ระเบียบ หลักเกณฑ์ และขั้นตอนปฏิบัติที่เกี่ยวข้องในการอนุญาตใช้พื้นที่ป่าไม้ของส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐรวมทั้งของเอกชน โดยได้วางกรอบแนวทางปฏิบัติ และหลักเกณฑ์ วิธีการ ให้เหมาะสมกับประเภทการใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าไม้เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ นโยบาย แผนการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้ และกำหนดประเภทและขอบเขตหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขการขออนุญาต และการอนุญาตใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าไม้ทุกประเภท1
......................................................
1 ปัจจุบันมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการอนุญาตใช้พื้นที่ป่าไม้ของส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐรวมทั้งของเอกชน ซึ่งจำแนกตามลักษณะของพื้นที่ คือ พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติและพื้นที่ป่าไม้ ดังนี้
กรณีขออนุญาตใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ จะต้องพิจารณาตามมาตรา 13/1 และมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2559 ได้แก่ (1) ระเบียบคณะกรรมการฯ ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการใช้พื้นที่เป็นสถานปฏิบัติงานหรือเพื่อประโยชน์อื่นของส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2563 (2) ระเบียบคณะกรรมการฯ ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขออนุญาตและการอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2563 และ (3) ระเบียบคณะกรรมการฯ ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขออนุญาตให้ใช้พื้นที่เพื่อโครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบและโครงการจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ห่างไกล ภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2561
กรณีขออนุญาตใช้พื้นที่ป่าตามมาตรา 4 (1) แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 จะต้องพิจารณาตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตทำประโยชน์ในเขตป่า พ.ศ. 2558
ทั้งนี้ เรื่องที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอมาในครั้งนี้เป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 ธันวามคม 2559 (เรื่อง ขอผ่อนผันมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2523 ในกรณีจังหวัดอุตรดิตถ์ ขอใช้พื้นที่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าน้ำปาด เพื่อก่อสร้างตลาดการค้าชายแดน ณ ช่องภูดู่ ท้องที่จังหวัดอุตรดิตถ์) ที่มอบหมายให้ ทส. (กรมป่าไม้) เร่งรัดการตรวจสอบการเข้าใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติของส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐทั้งหมดที่ยังมิได้ขออนุมัติการเข้าใช้พื้นที่ให้ครบถ้วนทุกกรณีในภาพรวมของประเทศ พร้อมทั้งให้ ทส. ประสานกับส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐดังกล่าว เพื่อดำเนินการให้ถูกต้องตามขั้นตอนและเป็นไปตามบทบัญญัติของกฏหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป เนื่องจากกรณีการขอใช้พื้นที่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าน้ำปาดเพื่อก่อสร้างตลาดการค้าชายแดน ณ ช่องภูดู่ นั้น ปรากฏข้อเท็จจริงว่า หน่วยงานเจ้าของโครงการได้ดำเนินการก่อสร้างไปแล้วก่อนได้รับอนุญาตให้เข้าใช้พื้นที่ตามกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้ รวมทั้งไม่ได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2523 (เรื่อง การเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้) ซึ่งกำหนดให้ส่วนราชการ ต่าง ๆ ที่ต้องการเข้าทำประโยชน์พื้นที่ป่าไม้จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับป่าไม้ คือ จะต้องได้รับอนุมติให้ใช้พื้นที่จาก ทส. ก่อน จึงจะเข้าไปดำเนินการได้ อย่างไรก็ดี การเข้าไปใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติดังกล่าวของจังหวัดอุตรดิตถ์เพื่อก่อสร้างตลาดการค้าชายแดน ณ ช่องภูดู่ มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศ อีกทั้งยังเป็นการดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล คณะรัฐมนตรีจึงได้ให้ความเห็นชอบให้ ทส. ได้รับการยกเว้นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี (8 กรกฎาคม 2523) โดยให้ ทส. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามกฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องต่อไป
ต่อมา ทส. (กรมป่าไม้) ได้ตรวจสอบแล้วพบว่า มีส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้2 โดยยังไม่ได้ขออนุญาตเข้าใช้พื้นที่ตามบทบัญญัติว่าด้วยการป่าไม้และตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2523 ในพื้นที่ 74 จังหวัด จำนวน 31,179 แห่ง ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหากรณีที่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ก่อนได้รับอนุญาตให้ถูกต้องตามระเบียบและกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้ ทส. จึงเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหากรณีที่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ก่อนได้รับอนุญาต และให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐถือเป็นแนวทางปฏิบัติต่อไป
..........................................
2 พื้นที่ป่าไม้ในกรณีนี้หมายถึงพื้นที่ป่าตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ 2507 พื้นที่อุทยานแห่งชาติตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 พื้นที่ป่าชายเลนตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558 และพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธารที่กำหนดไว้เป็นชั้นคุณภาพลุ่มน้ำตามมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 23 มิถุนายน 2563