สรุปมติการประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ ครั้งที่ 1/2563

ข่าวการเมือง Tuesday June 23, 2020 18:37 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบสรุปมติการประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2563 ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ โดยที่ประชุมได้พิจารณาร่วมกันเพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาราคายางพารา โดยเฉพาะความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวสวนยางจากปัญหาราคายางพาราตกต่ำ รวมทั้ง ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพาราและผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไม้ยางและผลิตภัณฑ์ ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สรุปผลการประชุมได้ ดังนี้

1. โครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการไม้ยางและผลิตภัณฑ์

1.1 เห็นชอบในหลักการโครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการไม้ยางและผลิตภัณฑ์ วงเงิน 20,000 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 – เมษายน 2565 ระยะเวลาในการชดเชยดอกเบี้ยตามโครงการฯ 1 ปี นับตั้งแต่ได้รับการอนุมัติ แต่ไม่เกิน 30 เมายน 2565

1.2 มอบหมายให้การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ประสานกับผู้ประกอบกิจการที่เกี่ยวข้องเพื่อหารือธนาคารแห่งประเทศไทยและสถาบันการเงินในการพิจารณาแหล่งเงินที่จะใช้สนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนตามร่างพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบก่อนเป็นลำดับแรก

1.3 มอบหมายให้ กษ. โดย กยท. แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินโครงการชุด ต่าง ๆ ตามที่ กยท. เสนอ และจัดทำรายละเอียดโครงการเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป

2. โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 2

2.1 เห็นชอบในหลักการโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 2

2.2 มอบหมายให้ กษ. โดย กยท. และภาคเกษตรกร ร่วมหารือทบทวนหลักเกณฑ์และข้อกำหนดของโครงการฯ ให้มีความชัดเจนเกี่ยวกับการกำหนดราคายางที่ใช้ประกันรายได้ ปริมาณผลผลิต ระยะเวลาที่ชดเชย และจำนวนพื้นที่สวนยางกรีดได้ของเกษตรกรแต่ะรายที่จะประกันรายได้ โดยให้อยู่ในกรอบอัตรายอดคงค้างภาระที่รัฐต้องรับภาระชดเชยงบประมาณ ตามนัยมาตรา 28 ของพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 และจัดทำรายละเอียดโครงการฯ ที่ได้ปรับปรุงตามมติการประชุมเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป

3. การขยายระยะเวลาชำระคืนเงินกู้โครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง และโครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายาง

3.1 เห็นชอบขยายระยะเวลาคืนเงินกู้โครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง และโครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายางให้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ออกไปจากเดิม คือ วันที่ 31 พฤษภาคม 2563 เป็น วันที่ 31 ธันวาคม 2566 โดยให้กระทรวงการคลัง (กค.) ขยายระยะเวลาค้ำประกันเงินกู้กับ ธ.ก.ส. ออกไปและยกเว้นค่าธรรมเนียมในการค้ำประกันเงินกู้ตามระยะเวลาการขยายระยะเวลาชำระคืนเงินกู้ให้ ธ.ก.ส. พร้อมชดเชยต้นทุนเงินในอัตรา FDR+1 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2555 ตามขั้นตอนต่อไป

3.2 เห็นชอบการจัดสรรงบประมาณสำหรับเป็นค่าเช่าโกดัง ค่าประกันภัย ค่าจ้างผลิตยางและอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนมีนาคม 2559 – กุมภาพันธ์ 2563 จำนวนเงิน 772.47 ล้านบาท และเห็นชอบการจัดสรรงบประมาณสำหรับเป็นค่าเช่าโกดังและค่าประกันภัย ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 – มีนาคม 2564 จำนวนเงิน 126.286 ล้านบาท

3.3 มอบหมายให้ กยท. หารือกับ ธ.ก.ส. ในเรื่องงบประมาณในการขยายระยะเวลาชำระคืนเงินกู้โครงการฯ ออกไปเป็นวันที่ 31 ธันวาคม 2566 โดยให้พิจารณาถึงอัตราชดเชยต้นทุนเงินของ ธ.ก.ส. ด้วย

3.4 มอบหมายให้ กยท. ระบายยางในสต๊อก โดยพิจารณาความเหมาะสมของราคายางในตลาด รวมถึงการนำยางในสต๊อกไปใช้ในหน่วยงานภาครัฐ

3.5 มอบหมายให้ กษ. โดย กยท. ดำเนินการจัดทำรายละเอียดโครงการเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป

4. การปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง

4.1 เห็นชอบปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง ได้แก่ 1) ให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการโดยธนาคารพาณิชย์หรือธนาคารของรัฐ (สถาบันการเงินเฉพาะกิจ) ได้ทุกธนาคาร 2) ให้ผู้ประกอบการที่ได้รับสินเชื่อในทุก ๆ 1 ล้านบาท จะต้องมีการเพิ่มปริมาณการใช้ยางในประเทศอย่างน้อย 2 ตันต่อปี ในปีการผลิต 2563 หรือระยะเวลาตามที่คณะกรรมการบริหารโครงการฯ กำหนด และ 3) ให้ กยท. ตรวจสอบการใช้ยางของผู้ประกอบการเป็นรายปี ในปีการผลิต 2563 หรือระยะเวลาตามที่คณะกรรมการบริหารโครงการฯ กำหนด

4.2 มอบหมายให้ กษ. โดย กยท. จัดทำรายละเอียดโครงการ เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจาราต่อไป

5. การเพิ่มกิจกรรมช่วยเหลือผู้ประกอบกิจการยาง (ยางแห้ง) ในสถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 ภายใต้โครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการยาง (ยางแห้ง) วงเงินสินเชื่อ 20,000 ล้านบาท

5.1 เห็นชอบการเพิ่มกิจกรรมช่วยเหลือผู้ประกอบกิจการยาง (ยางแห้ง) ในสถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 ภายใต้โครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการยาง (ยางแห้ง) วงเงินสินเชื่อ 20,000 ล้านบาท

5.2 เห็นชอบในหลักการของหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการชดเชยดอกเบี้ย ได้แก่

5.2.1 ผู้เข้าร่วมโครงการ ต้องซื้อยางมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตของฤดูกาลใหม่ (รายเดือน) เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนผลผลิตของเกษตรกรชาวสวนยางและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง และหากผู้เข้าร่วมโครงการไม่มีการซื้อยางก็จะไม่ได้รับการชดเชยในเดือนนั้น

5.2.2 หลักฐานและเอกสารในการชดเชยดอกเบี้ย ต้องเป็นหลักฐานการซื้อยางมาเป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตในแต่ละเดือน เอกสารบัญชียางที่ส่งให้กรมวิชาการเกษตรตามพระราชบัญญัติควบคุมยาง พ.ศ. 2542 และเอกสารและหลักฐานอื่น ๆ ตามที่ กยท. กำหนด

5.2.3 รัฐบาลจะสนับสนุนชดเชยดอกเบี้ยในอัตราตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินร้อยละ 2 ต่อปี

5.3 มอบหมายให้ กษ. โดย กยท. จัดทำรายละเอียดโครงการเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป

ข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี (ประธาน กนย.)

1. มอบหมายให้ กค. เร่งรัดการตรวจสอบข้อมูลในการคืนภาษีหัก ณ ที่จ่ายที่หักไว้ในอัตราร้อยละ 0.75

2. มอบหมายให้ กยท. หารือกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับการสนับสนุนและส่งเสริมการลงทุนโดยเฉพาะส่งเสริมเทคโนโลยีของผู้ประกอบการผลิตถุงมือยางให้สามารถแข่งขันได้ และให้ครอบคลุมถึงผู้ประกอบการน้ำยางข้นด้วย

6. การเพิ่มเติมวงเงินงบประมาณโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 1

6.1 เห็นชอบการเพิ่มวงเงินงบประมาณโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง

ระยะที่ 1 งบประมาณสำหรับประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง จำนวน 2,347,900,329.32 บาท และงบประมาณสำหรับชดเชยต้นทุนเงิน ในอัตราเงินฝากประจำ 12 เดือน ของ ธ.ก.ส. บวก 1 ในอัตรา 2.40 จำนวน 56,349,607.90 บาท โดยใช้ทุน ธ.ก.ส. สำรองจ่ายแทนรัฐบาลไปก่อน และให้ ธ.ก.ส. ขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งเป็นไปตามหลักการเดิมที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติ (15 ตุลาคม 2562) อนุมัติโครงการดังกล่าวไปแล้ว

6.2 มอบหมายให้ กษ. โดย กยท. หารือกับสำนักงบประมาณ กค. และ ธ.ก.ส. ในประเด็นกรอบวงเงินตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 และจัดทำรายละเอียดโครงการที่ได้ปรับปรุงตามมติการประชุม เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป

7. แนวทางการสนับสนุนเกษตรกร สถาบันเกษตรกร และผู้ประกอบกิจการยางจากปัญหาราคายางพาราตกต่ำและผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 สมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย สมาคมผู้ผลิตถุงมือยางไทย สมาคมน้ำยางข้นไทย และสมาคมยางพาราไทย ได้เสนอแนวทางการฟื้นฟูเกษตรกรชาวสวนยางหลังการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 โดยขอรับการสนับสนุนเงินลงทุนเครื่องจักรและเทคโนโลยีของผู้ประกอบกิจการยาง ได้แก่ อุตสาหกรรมถุงมือยาง อุตสาหกรรมน้ำยางข้น เพื่อให้สามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจได้เร็วขึ้น อีกทั้งเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันที่ยั่งยืนรวมถึงการแก้ไขปัญหามาตรการต่อต้านการทุ่มตลาดของสหรัฐอเมริกา

ข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี (ประธาน กนย.)

1. มอบหมายให้ กยท. หารือกับ สกท. สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมสนับสนุนเงินลงทุนเครื่องจักรและเทคโนโลยีการผลิตให้แก่เครือข่ายอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางของสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางและผู้ประกอบกิจการยาง ได้แก่ อุตสาหกรรมถุงมือยาง อุตสาหกรรมน้ำยางข้น

2. มอบหมายให้ กษ. แก้ไขระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการใช้จ่ายเงินกองทุนให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558

3. มอบหมายให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พิจารณาจัดสรรงบประมาณที่จะสนับสนุนเงินทุนให้ผู้ประกอบการในส่วนของงบประมาณภายใต้กรอบนโยบายการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรค COVID-19

4. มอบหมายให้ อก. ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข พณ. กษ. ในการส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมผลิตถุงมือยางของไทยเพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้

5. มอบหมายให้ พณ. เจรจาเพื่อแก้ไขปัญหามาตรการต่อต้านการทุ่มตลาดของสหรัฐอเมริกา

ทั้งนี้ กษ. โดย กยท. จะจัดทำรายละเอียดของการดำเนินการตามข้อ 1-6 เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 23 มิถุนายน 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ