เรื่อง รายงานผลการจัดสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาไทยตามกฎหมายการค้าสหรัฐฯ มาตรา 301 พิเศษ ประจำปี 2563 และการจัดทำรายชื่อตลาดที่มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาสูงในประเทศคู่ค้า (Notorious Markets)
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการจัดสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาไทยตามกฎหมายการค้าสหรัฐฯ มาตรา 301 พิเศษ ประจำปี 2563 และการจัดทำรายชื่อตลาดที่มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาสูงในประเทศคู่ค้า (Notorious Markets) และรับทราบการจัดทำร่างพระราชบัญญัติสิทธิบัตร (ฉบับที่..) พ.ศ. .... โดยมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 และที่แก้ไขเพิ่มเติมเพื่อให้สามารถเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาตามขั้นตอนต่อไปโดยเร็ว พร้อมทั้งมอบหมายให้หน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมาย ได้แก่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองทัพบก กองทัพเรือ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ กรมศุลกากร สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ กวดขันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาทั้งในท้องตลาดและบนอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะในตลาดที่มีการระบุในรายงานการจัดทำรายชื่อตลาดที่มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาสูงในประเทศคู่ค้า (Notorious Markets) ตลอดจนสกัดกั้นการลำเลียงและขนส่งสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา อย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยมอบหมายกระทรวงพาณิชย์ (พณ.) โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญาและ ดศ. ดำเนินการร่วมกันเพื่อให้มีการระงับการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาบนอินเทอร์เน็ตหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เป็นความผิดอาญาตามกฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาออกจากระบบคอมพิวเตอร์อย่างต่อเนื่องต่อไป ตลอดจนบังคับใช้กฎหมายเพื่อให้มีการปฏิบัติตามคำสั่งศาลภายใต้พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติมอย่างเข้มงวด ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2563 United State Trade Representative (USTR) ได้ประกาศสถานการณ์คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศคู่ค้าฯ ประจำปี 2563 ซึ่งไทยยังคงสถานะอยู่ในบัญชี Watch List (WL) ร่วมกับประเทศอื่นอีก 22 ประเทศ เช่น สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม สาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน สาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ ประเทศแคนาดา สหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล สหรัฐเม็กซิโก และมีประเทศที่อยู่ใน Priority Watch List (PWL) จำนวน 10 ประเทศ เช่น สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐอินเดีย สาธารณรัฐอินโดนีเซีย สหพันธรัฐรัสเซีย ส่วนรายงาน Notorious Markets ประจำปี 2562 ได้มีการระบุชื่อตลาดในไทย 2 แห่ง โดยเป็นการละเมิดในท้องตลาด 1 แห่ง คือ ย่านพัฒน์พงษ์ และตลาดออนไลน์ 1 แห่ง คือ www.shopee.co.th ทั้งนี้ สหรัฐฯ แสดงความพอใจต่อนโยบายและผลการดำเนินการด้านทรัพย์สินทางปัญญาของไทยที่สำคัญ ได้แก่
1. การบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องภายใต้กลไกของคณะกรรมการนโยบายทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติ
2. การป้องปรามการละเมิดเครื่องหมายการค้าและลิขสิทธิ์อย่างต่อเนื่อง การเผยแพร่สถิติการจับกุมผ่านช่องทางออนไลน์ และการจัดกิจกรรมรณรงค์ และสร้างความตระหนักรู้ด้านทรัพย์สินทางปัญญา
3. การเสนอแก้ไขพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการยกระดับการคุ้มครองงานอันมีลิขสิทธิ์และสิทธิข้างเคียงในสภาพแวดล้อมดิจิทัลและการเตรียมการเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาว่าด้วยลิขสิทธิ์ขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก รวมทั้งการเสนอแก้ไขพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อปรับปรุงขั้นตอนการจดทะเบียนและเตรียมการเข้าเป็นภาคีความตกลงกรุงเฮกว่าด้วยการจดทะเบียนการออกแบบผลิตภัณฑ์ระหว่างประเทศ
4. การเพิ่มจำนวนผู้ตรวจสอบสิทธิบัตรของกรมทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อแก้ไขปัญหางานค้างสะสมการจดทะเบียนสิทธิบัตร
1. การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญายังคงมีอยู่ เช่น การจำหน่ายสินค้าละเมิดเครื่องหมายการค้าและลิขสิทธิ์ทั้งในท้องตลาดและตลาดออนไลน์ การละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ทั้งในหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน
2. การดำเนินคดีทางแพ่งใช้เวลานานและค่าเสียหายที่เจ้าของสิทธิได้รับไม่เหมาะสม
3. พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 และที่แก้ไขเพิ่มเติมยังไม่ตอบสนองต่อข้อกังวลของสหรัฐฯ เช่น การคุ้มครองมาตรการทางเทคโนโลยีการบังคับใช้สิทธิ กรณีมีการลักลอบบันทึกภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์ และการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์โดยมิชอบ
4. พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 ยังมีการกำหนดสัดส่วนระหว่างภาพยนตร์ไทยกับภาพยนตร์ต่างประเทศที่จะนำออกฉายในโรงภาพยนตร์
5. ปัญหาด้านการจดทะเบียนสิทธิบัตรค้างสะสม โดยเฉพาะสิทธิบัตรยา
6. การให้ความสำคัญกับการป้องกันการนำข้อมูลผลการทดสอบยาและเคมีภัณฑ์ทางการเกษตรไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ที่ไม่เป็นธรรมหรือการเปิดเผยข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ
พณ. เห็นว่าไทยควรมีการพัฒนาระบบการคุ้มครองและป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอย่างต่อเนื่องต่อไป โดยเฉพาะการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในทุกรูปแบบ รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพในการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา ตลอดจนการปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล โดยให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและมาตรการด้านสาธารณสุข ซึ่งเป็นประเด็นที่สหรัฐฯ ให้ความสำคัญ
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 23 มิถุนายน 2563