คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะการให้การอุดหนุนที่มีเงื่อนไขเพื่อ การส่งออก พ.ศ. …. และร่างกฎกระทรวงการคำนวณประโยชน์ที่ได้รับจากการอุดหนุน พ.ศ. …. รวม 2 ฉบับที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้
1. ร่างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะการให้การอุดหนุนที่มีเงื่อนไขเพื่อการส่งออก พ.ศ. …. มีสาระสำคัญ ดังนี้
1.1 บทนิยาม กำหนดบทนิยามคำว่า “ภาษีทางตรง” “ค่าธรรมเนียมในการนำเข้า” “ภาษีทางอ้อม” “ภาษีทางอ้อมระหว่างการผลิต” “ภาษีทางอ้อมสะสม” “การลดหย่อนภาษี” และ “การลดหย่อนหรือการคืนค่าธรรมเนียมในการนำเข้า”
1.2 การอุดหนุนที่มีเงื่อนไขเพื่อการส่งออก กำหนดลักษณะของการอุดหนุนที่มีเงื่อนไขเพื่อการส่งออก ได้แก่
(1) การให้การอุดหนุนโดยตรงต่อวิสาหกิจโดยมีเงื่อนไขเพื่อการส่งออก
(2) มาตรการถือครองเงินตราต่างประเทศ หรือการปฏิบัติในลักษณะเดียวกัน เพื่อเป็นสิทธิประโยชน์พิเศษที่เกี่ยวกับการส่งออก
(3) การให้หรือกำหนดเงื่อนไขการให้ค่าขนส่งและค่าระวางภายในประเทศเพื่อ การส่งออกที่ดีกว่าการให้หรือการกำหนดเงื่อนไขการให้ค่าขนส่งและค่าระวางเพื่อการจำหน่ายในประเทศ
(4) การกำหนดมาตรการทางตรงหรือทางอ้อมโดยให้เงื่อนไขที่ดีกว่าสำหรับสินค้าหรือบริการซึ่งใช้ในการผลิตเพื่อการส่งออกเมื่อเทียบกับสินค้าหรือบริการที่เหมือนกันหรือที่สามารถทดแทนกันได้ ซึ่งใช้ในการผลิตเพื่อการบริโภคภายในประเทศ
(5) การลดหย่อนหรือการชะลอการเรียกเก็บภาษีทางตรง หรือค่าใช้จ่ายสวัสดิการสังคม บางส่วนหรือทั้งหมด ที่เฉพาะเจาะจงกับการส่งออก
(6) การให้หักค่าใช้จ่ายใด ๆ เป็นพิเศษ ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับการส่งออก หรือความสามารถในการส่งออก ในการคำนวณภาษีทางตรงที่มากกว่าหรือนอกเหนือจากที่ให้แก่การผลิตสินค้าเพื่อบริโภคภายในประเทศ
(7) การยกเว้นหรือการลดหย่อนภาษีทางอ้อมแก่การผลิตและการจำหน่ายสินค้าเพื่อการส่งออก ซึ่งมากกว่าการผลิตและการจำหน่ายสินค้าชนิดเดียวกันเพื่อการบริโภคภายในประเทศ
(8) การยกเว้น การลดหย่อน หรือการชะลอการเรียกเก็บภาษีทางอ้อมสะสม ที่ให้แก่สินค้าหรือบริการที่นำมาใช้ในการผลิตสินค้าเพื่อการส่งออก
(9) การลดหย่อนหรือการคืนค่าธรรมเนียมในการนำเข้าปัจจัยที่ใช้ในการผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกเกินกว่าค่าธรรมเนียมที่มีการเรียกเก็บจริง
(10) การใช้มาตรการการค้ำประกันหรือการประกันการส่งออก ซึ่งเป็นการ ลดต้นทุนของสินค้าหรือไม่ได้สะท้อนความเสี่ยงที่แท้จริง
(11) การสนับสนุนจากรัฐบาลในการให้สินเชื่อเพื่อการส่งออกโดยมีอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำว่าอัตราที่ควรจะต้องจ่าย
2. ร่างกฎกระทรวงการคำนวณประโยชน์ที่ได้รับจากการอุดหนุน พ.ศ. …. มีสาระสำคัญ ดังนี้
2.1 การคำนวณประโยชน์ที่ได้รับกรณีที่รัฐบาลเข้าร่วมลงทุน
(1) การร่วมลงทุนโดยการซื้อหุ้น ให้คำนวณจากส่วนต่างระหว่างมูลค่าหุ้นที่รัฐบาลเข้าร่วมลงทุนกับมูลค่าหุ้นในตลาดของกิจการนั้นในช่วงระยะเวลาที่ใกล้เคียงกัน
(2) การร่วมลงทุนในกรณีที่ไม่มีมูลค่าหุ้นในตลาดของกิจการที่เข้าร่วมลงทุน มูลค่าการเข้าร่วมลงทุนให้ถือว่าเป็นเงินให้เปล่าจากรัฐบาล
(3) การร่วมลงทุนในรูปแบบอื่น การคำนวณให้เป็นไปตามที่ พณ. ประกาศกำหนด
2.2 การคำนวณประโยชน์ที่ได้รับกรณีรัฐบาลให้เงินกู้
ให้คำนวณจากส่วนต่างระหว่างจำนวนดอกเบี้ยที่ผู้กู้ชำระให้รัฐบาลกับจำนวนดอกเบี้ยที่ต้องชำระหากเป็นการกู้ยืมทางพาณิชย์
2.3 การคำนวณประโยชน์ที่ได้รับกรณีรัฐบาลเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้
ในกรณีที่รัฐบาลเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ ซึ่งมีผลทำให้ค่าใช้จ่าย หรือค่าธรรมเนียมในการกู้ยืมต่ำกว่ากรณีที่ไม่มีการค้ำประกันจากรัฐบาล ให้คำนวณจากส่วนต่างของจำนวนค่าใช้จ่ายหรือค่าธรรมเนียมดังกล่าว
2.4 การคำนวณประโยชน์ที่ได้รับกรณีรัฐบาลให้สินค้าหรือบริการ
(1) กรณีผู้ได้รับการอุดหนุนได้ซื้อสินค้าหรือบริการชนิดเดียวกับสินค้าหรือบริการจากเอกชนรายอื่น ให้คำนวณจากส่วนต่างระหว่างราคาสินค้าหรือบริการที่จ่ายให้แก่รัฐบาลกับราคาสินค้าหรือบริการที่ต่ำที่สุดที่จ่ายให้แก่เอกชนรายดังกล่าว
(2) กรณีไม่มีสินค้าหรือบริการที่นำมาเปรียบเทียบได้ ให้เปรียบเทียบโดยใช้ราคาที่ต่ำที่สุดของสินค้าหรือบริการในกลุ่มธุรกิจเดียวกัน
(3) กรณีที่รัฐบาลเป็นผู้ค้ารายเดียว ให้คำนวณจากส่วนต่างระหว่างราคาที่ได้รับการอุดหนุนกับราคาปกติของสินค้าหรือบริการที่เอกชนรายอื่นจ่าย
2.5 การคำนวณประโยชน์ที่ได้รับกรณีรัฐบาลซื้อสินค้า
(1) กรณีมีเอกชนรายอื่นเป็นผู้ซื้อด้วย ให้คำนวณจากส่วนต่างระหว่างราคา ที่รัฐบาลซื้อกับราคาสูงสุดที่มีการเสนอซื้อในตลาดของสินค้านั้น
(2) กรณีที่ไม่มีราคาที่เอกชนรายอื่นซื้อ ให้เปรียบเทียบโดยใช้ราคาของสินค้าในกลุ่มธุรกิจเดียวกัน
(3) กรณีที่รัฐบาลเป็นผู้ซื้อรายเดียว ให้คำนวณจากส่วนต่างของราคาที่รัฐบาลซื้อกับต้นทุนเฉลี่ยของสินค้าในช่วงระยะเวลาที่นำข้อมูลมาใช้ เพื่อการไต่สวนการอุดหนุน รวมกับกำไรที่เหมาะสม
2.6 การคำนวณประโยชน์ที่ได้รับกรณีรัฐบาลให้เงินให้เปล่า
ให้รวมถึงการลดหรือยกเว้นภาษี การเร่งรัดให้มีการหักค่าเสื่อมราคาของสินทรัพย์ โดยให้คำนวณจากจำนวนเงินที่รัฐบาลให้เปล่าหรือเทียบเท่าเงินให้เปล่าหรือมูลค่าลดหย่อนดังกล่าว
2.7 การคำนวณประโยชน์ที่ได้รับในกรณีที่รัฐบาลยกหนี้ให้
ให้คำนวณจากมูลค่าหนี้ที่ได้รับการปลดหนี้ รวมทั้งดอกเบี้ยค้างจ่าย
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 30 มิถุนายน 2563