คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการดำเนินการจัดการมูลฝอยติดเชื้อร่วมกันของราชการส่วนท้องถิ่นกับหน่วยงานของรัฐหรือราชการส่วนท้องถิ่นอื่น พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) กระทรวงมหาดไทย และกรุงเทพมหานคร ไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้ สธ. รับความเห็นของ กษ. ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
1. กำหนดนิยามคำว่า “มูลฝอยติดเชื้อ” “การเก็บ” “การขน” “การกำจัด” “แหล่งกำเนิดมูลฝอยติดเชื้อ” “ข้อตกลงร่วมกัน” “คณะกรรมการสาธารณสุขจังหวัด” “คณะกรรมการสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร”
2. กำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสาธารณสุขจังหวัด หรือคณะกรรมการสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร ดังนี้
2.1 ประเมินศักยภาพของราชการส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานของรัฐในจังหวัดเพื่อจัดวางระบบการจัดการมูลฝอยติดเชื้อแบบศูนย์รวมในเขตจังหวัดเดียวกัน รวมทั้งระบบการจัดการมูลฝอยติดเชื้อในพื้นที่เฉพาะตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่
2.2 ดำเนินการจัดประชุมราชการส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อชี้แจงและร่วมกันพิจารณาดำเนินการตามระบบการจัดการมูลฝอยติดเชื้อแบบศูนย์รวม และทำข้อตกลงร่วมกัน
2.3 ในกรณีที่จำเป็นต้องดำเนินการข้ามเขตจังหวัดให้ประสานงานและร่วมมือกัน เพื่อจัดวางระบบการจัดการมูลฝอยติดเชื้อแบบศูนย์รวม เพื่อสนับสนุนการทำข้อตกลงร่วมกัน
2.4 กำกับดูแลการดำเนินการวางระบบการรายงานและการติดตาม กำกับในระดับจังหวัด และให้รายงานผลการดำเนินการแก่คณะกรรมการสาธารณสุขทราบอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
3. กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการดำเนินการร่วมกันในการเก็บ การขน หรือการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อของราชการส่วนท้องถิ่นกับราชการส่วนท้องถิ่นอื่น ดังนี้
3.1 จัดทำข้อตกลงร่วมกันเกี่ยวกับการบริหารจัดการระหว่างราชการส่วนท้องถิ่นกับราชการส่วนท้องถิ่นอื่น โดยกำหนดบทบาทการดำเนินการของแต่ละฝ่าย พื้นที่ที่จะดำเนินการ อัตราค่าธรรมเนียม ค่าใช้จ่าย และอื่น ๆ ตามความจำเป็นและเหมาะสมกับการดำเนินการร่วมกัน
3.2 ให้ราชการส่วนท้องถิ่นแต่ละฝ่ายออกข้อบัญญัติท้องถิ่นควบคุมสุขลักษณะการจัดการมูลฝอยติดเชื้อ และกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมที่สอดคล้องกับข้อตกลงร่วมกัน ทั้งนี้ต้องไม่เกินกว่ากฎกระทรวง ตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุขกำหนด
3.3 ในการดำเนินการเก็บ การขน หรือการกำจัดมูลฝอยติดเชื้ออาจมอบให้เอกชนหรือบุคคลใดดำเนินการแทนภายใต้การควบคุมดูแลของราชการส่วนท้องถิ่นที่มีบทบาท หรืออาจอนุญาตให้เอกชนที่ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ดำเนินการแทนก็ได้ ทั้งนี้ภายใต้ข้อตกลงร่วมกัน
3.4 ในกรณีมีปัญหาข้อพิพาทระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตั้งแต่สองจังหวัดขึ้นไป ให้นำเสนอเรื่องดังกล่าวต่อคณะกรรมการสาธารณสุขจังหวัดในแต่ละจังหวัด หรือคณะกรรมการสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร แล้วแต่กรณี เพื่อหารือและหาข้อยุติร่วมกัน หากยังหาข้อยุติไม่ได้ให้เสนอคณะกรรมการสาธารณสุขเป็นผู้วินิจฉัยและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการสาธารณสุขให้เป็นที่สุด
4. กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการดำเนินการร่วมกันในการเก็บ การขน หรือการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อของราชการส่วนท้องถิ่นกับหน่วยงานของรัฐ ดังนี้
4.1 จัดทำข้อตกลงร่วมกันเกี่ยวกับการบริหารจัดการมูลฝอยติดเชื้อ ตามระบบการจัดการมูลฝอยติดเชื้อแบบศูนย์รวม โดยกำหนดบทบาทการดำเนินการของแต่ละฝ่าย พื่นที่ที่จะดำเนินการ อัตราค่าธรรมเนียมสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายและค่าบริการ และอื่น ๆ ตามความจำเป็นและเหมาะสมกับการดำเนินการร่วมกัน
4.2 กรณีหน่วยงานของรัฐที่ราชการส่วนท้องถิ่นอยู่ในเขตจังหวัดเดียวกัน หรือข้ามเขตจังหวัดขอความร่วมมือเป็นหน่วยงานของรัฐในสังกัด สธ. ซึ่งมีสำนักงานตั้งอยู่ในส่วนภูมิภาค เพื่อประโยชน์ใน การจัดการร่วมกันให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขหรือผู้ซึ่งปลัดกระทรวงสาธารณสุขมอบหมายเป็นผู้ลงนามแทนหน่วยงานของรัฐนั้น ในการจัดทำข้อตกลงร่วมกันได้ ในกรณีหน่วยงานของรัฐอื่นนอกสังกัด สธ. ในเขตจังหวัดเดียวกันหรือข้ามเขตจังหวัด ให้หัวหน้าหน่วยงานของรัฐอื่นนั้นที่มีอำนาจเป็นผู้ลงนาม
4.3 หน่วยงานของรัฐที่ทำความร่วมมือกันกับราชการส่วนท้องถิ่นในการดำเนินการ เก็บ การขน หรือการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อแล้วแต่กรณี เมื่อได้รับเงินค่าธรรมเนียมจากราชการส่วนท้องถิ่นหรือจากสถานบริการการสาธารณสุขใดที่เป็นแหล่งกำเนิดมูลฝอยติดเชื้อ ภายใต้การมอบอำนาจการจัดเก็บค่าธรรมเนียมแทนราชการส่วนท้องถิ่นตามข้อตกลงร่วมกัน ให้เงินนั้นเป็นรายได้ของหน่วยงานรัฐนั้นและดำเนินการตามกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ สธ. เสนอว่า
1) ปัจจุบันการจัดการมูลฝอยติดเชื้อพบว่า ยังมีปัญหาเกี่ยวกับสถานที่กำจัดมูลฝอยติดเชื้อ ไม่เพียงพอและครอบคลุมในทุกพื้นที่ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หลายแห่งมีปัญหาเรื่องของระบบบริหารจัดการมูลฝอยติดเชื้อ การจัดการไม่ถูกสุขลักษณะ กล่าวคือ การกำจัดมูลฝอยติดเชื้อมีสถานที่ทั่วประเทศที่เป็นเตาเผา จำนวน 11 แห่ง เป็นของ อปท. จำนวน 8 แห่ง เอกชน จำนวน 3 แห่ง และยังมีเตาเผาซึ่งตั้งอยู่ในสถานพยาบาลที่เป็นแหล่งกำเนิดมูลฝอยติดเชื้อ จำนวน 61 แห่ว โดยในปี 2561 สถานพยาบาลมีปริมาณมูลฝอย ติดเชื้อ 55,497.22 ตัน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี การกำจัดมูลฝอยติดเชื้อของสถานพยาบาล โดยโรงพยาบาลบาง แห่งมีเตาเผามูลฝอยติดเชื้อหรือมีการทำลายมูลฝอยติดเชื้อด้วยไอน้ำ จึงมีนโยบายให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลมีการรวบรวมมูลฝอยติดเชื้อและส่งต่อไปยังโรงพยาบาลชุมชน ซึ่งโรงพยาบาลชุมชนนั้นอาจกำจัดมูลฝอยติดเชื้อเองหากมีศักยภาพเพียงพอ หรือให้โรงพยาบาลทั่วไป หรือ อปท. หรือจ้างเอกชนให้กำจัดมูลฝอยติดเชื้อนั้นแทน ส่วนการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อของ อปท. แม้ว่า อปท. บางแห่งจะกำจัดมูลฝอยติดเชื้อได้ แต่ก็ยังมีประเด็นปัญหา ในการจัดการมูลฝอยติดเชื้อให้ อปท. อื่น และในส่วนของสถานพยาบาลก็ยังมีปัญหาและอุปสรรคในการส่งมูลฝอย ติดเชื้อเพื่อนำไปกำจัดจาก อปท. ท้องถิ่นหนึ่งไปยัง อปท. อีกท้องถิ่นหนึ่ง นอกจากนี้ การกำจัดมูลฝอยติดเชื้อ เป็นหน้าที่ของ อปท. มิใช่ของสถานพยาบาลด้วย
2) โดยที่แผนแม่บทการบริหารจัดการมูลฝอยของประเทศ พ.ศ. 2549 – 2564 สธ. มีบทบาทและหน้าที่ในการกำหนดกฎ ระเบียบ กฎหมายเกี่ยวกับการจัดการมูลฝอยติดเชื้อ จัดทำแผนแม่บทการจัดการมูลฝอย ติดเชื้อและผลักดันการบริหารจัดการมูลฝอยติดเชื้อแบบศูนย์รวม กำกับ ติดตาม ตรวจสอบ การเก็บ ขน และกำจัดมูลฝอยโดยใช้ระบบใบกำกับการขนส่ง (Manifest System) และมีเป้าหมายจัดการมูลฝอยติดเชื้อได้อย่างถูกต้อง ตามหลักวิชาการภายในปี 2563 ประกอบกับมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการสาธารณสุข (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2550 บัญญัติให้การเก็บ ขน หรือกำจัดสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยในเขตราชการส่วนท้องถิ่นใดให้เป็นอำนาจของราชการส่วนท้องถิ่นนั้น และวรรคสอง บัญญัติให้การดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ราชการส่วนท้องถิ่นอาจร่วมกับหน่วยงานของรัฐ หรือราชการส่วนท้องถิ่นอื่น ดำเนินการภายใต้ข้อตกลงร่วมกันก็ได้ แต่ในกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะโดยส่วนรวม รัฐมนตรีมีอำนาจออกกฎกระทรวง โดยคำแนะนำของคณะกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการดำเนินการร่วมกันได้ ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาและดำเนินการให้เป็นไปตามแผนแม่บทการบริหารจัดการมูลฝอยติดเชื้อดังกล่าว สธ. จึงได้จัดทำกฎกระทรวงในเรื่องนี้ขึ้น เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการดำเนินการจัดการมูลฝอยติดเชื้อร่วมกันของราชการส่วนท้องถิ่นกับหน่วยงานของรัฐหรือราชการส่วนท้องถิ่นอื่น ซึ่งจะทำให้การจัดการมูลฝอยติดเชื้อเป็นระบบศูนย์รวมในเขตจังหวัดเดียวกัน หรือตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ และทำให้การกำกับดูแลกำจัดมูลฝอยติดเชื้อร่วมกันของหน่วยงานของรัฐดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล อันจะส่งผลให้ลดปัจจัยเสี่ยงของการเกิด โรคที่เกิดจากการจัดการมูลฝอยติดเชื้อที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งส่งผลต่อความปลอดภัยของประชาชนและสภาพแวดล้อม ความเป็นอยู่ของคนในท้องถิ่น
3) ในคราวประชุมคณะกรรมการสาธารณสุข เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2562 พิจารณาแล้วเห็นชอบร่างกฎกระทรวงตามข้อ 2) ที่ผ่านการพิจารณาของคณะอนุกรรมการพิจารณากลั่นกรองร่างกฎหมายระดับอนุบัญญัติและร่างคำแนะนำของคณะกรรมการสาธารณสุขตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุขแล้ว
จึงได้เสนอร่างกฎกระทรวงหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการดำเนินการจัดการมูลฝอยติดเชื้อร่วมกันของราชการส่วนท้องถิ่นกับหน่วยงานของรัฐหรือราชการส่วนท้องถิ่นอื่น พ.ศ. …. มาเพื่อดำเนินการ
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 30 มิถุนายน 2563