ขอทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2561 เรื่อง การชำระหนี้เงินกู้ของกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย เพื่อช่วยเหลือชาวไร่อ้อยในฤดูการผลิตปี 2558/2559

ข่าวการเมือง Tuesday June 30, 2020 18:18 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและรับทราบตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2561 เดิม ให้ อก. ใช้จ่ายเงินของกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กองทุนฯ) ที่มีอยู่และรายได้ที่คาดว่าจะนำส่งเข้ากองทุนฯ มาชำระหนี้เงินกู้ให้กับธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (ธนาคารกรุงไทยฯ) (ขณะนั้นกองทุนฯ ยังมีภาระหนี้เงินต้นจำนวน 3,685.16 ล้านบาท) ปรับเป็น คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการอนุมัติงบประมาณแผ่นดินให้กับ อก. เพื่อชำระหนี้เงินกู้เฉพาะในส่วนของเงินต้นปีละ 350 ล้านบาท เป็นเวลา 5 ปี และชำระที่เหลือในปีที่ 6 จำนวน 335.16 ล้านบาท รวมทั้งสิ้นจำนวน 2,085.16 ล้านบาท ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 - 2569

2. รับทราบการปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้ (ครั้งที่ 2) ระหว่างกองทุนฯ กับธนาคารกรุงไทยฯ จำกัด และการขยายกรอบระยะเวลาชำระหนี้จากเดิม ภายในเดือนธันวาคม 2565 ขยายออกไปจนถึงเดือนตุลาคม 2569 (ขยายอีกประมาณ 4 ปี) ตามมติคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ในการประชุมครั้งที่ 3/2563 เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2563 ทั้งนี้ เห็นควรให้ อก. จัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณตามแผนการชำระคืนต้นเงินกู้ เพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามความจำเป็นและเหมาะสม รวมทั้งขอให้ อก. ดำเนินการให้ถูกต้องเป็นไปตามพันธกรณีและข้อตกลงของไทยภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) อย่างเคร่งครัด ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ

สาระสำคัญของเรื่อง

อก. รายงานว่า

1) การชำระหนี้ของกองทุนฯ ณ วันที่ 30 เมษายน 2563

รายการชำระหนี้ / จำนวนเงิน (ล้านบาท)

ชำระหนี้เงินต้น 12,960.54

ชำระดอกเบี้ย 1,044.55

รวมชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย14,005.09

คงเหลือภาระหนี้เงินต้น 2,085.16

คงเหลือดอกเบี้ย134.00

2) คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ในการประชุมครั้งที่ 3/2563 เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2563 ได้มีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการบริหารกองทุนเสนอให้นำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา ดังนี้

2.1) ขอทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2561 ที่ได้เคยมีมติให้ อก. ใช้จ่ายเงินของกองทุนฯ ที่มีอยู่และรายได้ที่คาดว่าจะนำส่งเข้ากองทุนฯ มาชำระหนี้เงินกู้ให้กับธนาคารกรุงไทยฯ โดยขอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติงบประมาณแผ่นดินให้กับ อก. เพื่อชำระหนี้เงินกู้เฉพาะในส่วนของเงินต้นปีละ 350 ล้านบาท เป็นเวลา 5 ปี และชำระที่เหลือในปีที่ 6 จำนวน 335.16 ล้านบาท รวมทั้งสิ้นจำนวน 2,085.16 ล้านบาท ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 – 2569

2.2) เห็นชอบในหลักการการปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้ (ครั้งที่ 2) ระหว่างกองทุนฯ กับธนาคารกรุงไทยฯ โดยขอขยายระยะเวลาชำระหนี้จากเดิมภายในเดือนธันวาคม 2565 ออกไปถึงเดือนตุลาคม 2569

3) กองทุนฯ ได้แจ้งธนาคารกรุงไทยฯ เพื่อขอปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้ (ครั้งที่ 2) โดยขอขยายระยะเวลาชำระหนี้จากเดิมภายในเดือนธันวาคม 2565 ออกไปจนถึงเดือนตุลาคม 2569 (ตามข้อ 2.2 แล้ว) และธนาคารกรุงไทยฯ ได้แจ้งว่าในเบื้องต้นธนาคารกรุงไทยฯ เห็นชอบการขยายระยะเวลาชำระหนี้ตามที่กองทุนฯ เสนอ

4) สถานะทางการเงินของกองทุนฯ ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2563 มีดังนี้

รายการ / จำนวนเงิน (ล้านบาท)

ยอดเงินคงเหลือรวม 1,674.66

มีภาระผูกพันที่ต้องจ่ายรวมโครงการต่าง ๆ 530.25

มีเงินสดคงเหลือปลอดภาระผูกพันที่สามารถใช้จ่ายได้ 1,144.41

อย่างไรก็ตาม กองทุนฯ ยังมีภาระต้องจ่ายเงินชดเชยตามมาตรา 56 แห่งพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 คืนให้กับโรงงานน้ำตาล เนื่องจากราคาอ้อยขั้นสุดท้ายและผลตอบแทนการผลิตและ การจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้ายต่ำกว่าราคาอ้อยขั้นต้น และผลตอบแทนการผลิตและการจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ในฤดูการผลิตปี 2560/2561 และฤดูการผลิตปี 2561/2562 จากเหตุดังกล่าวจะทำให้กองทุนฯ มีภาระหนี้เงินชดเชยที่จะต้องชำระคืนให้แก่โรงงานน้ำตาลไปจนถึงปีงบประมาณ 2566 ซึ่งคาดว่ากองทุนฯ จำเป็นต้องชดเชยประมาณ 22,799.22 ล้านบาท

5) หากคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบการขอทบทวนมติคณะรัฐมนตรี จะส่งผลให้กองทุนฯ มีแหล่งรายได้ที่ชัดเจนในการชำระหนี้กับธนาคารกรุงไทยฯ ซึ่งจะช่วยให้กองทุนฯ ปลอดภาระหนี้ ก่อให้เกิดเสถียรภาพของระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ประกอบกับสามารถบริหารแหล่งรายได้เพื่อการชำระหนี้ที่จะเกิดขึ้นใหม่ในอนาคต รวมถึงการจ่ายเงินชดเชยให้แก่โรงงานในกรณีที่ราคาอ้อยขั้นสุดท้าย และผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้ายต่ำกว่าราคาอ้อยขั้นต้น และผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้นดังกล่าว ตามความในมาตรา 56 แห่งพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527

6) อก. แจ้งว่ากรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศพิจารณาแล้วมีความเห็นว่า การขอรับเงินอุดหนุนจากงบประมาณแผ่นดินเพื่อเป็นแหล่งรายได้ให้แก่กองทุนฯ ในการชำระหนี้ให้แก่ธนาคารกรุงไทยฯ สำหรับการให้ความช่วยเหลือด้านปัจจัยการผลิตแก่ชาวไร้อ้อย ในฤดูการผลิตปี 2558/2559 ไม่เข้าข่ายการอุดหนุนการส่งออก อันเป็นประเด็นสำคัญในกรณีพิพาทระหว่างไทยกับบราซิลเรื่องน้ำตาล แต่การขอรับเงินงบประมาณแผ่นดินเพื่อชำระหนี้ดังกล่าวอาจเข้าข่ายการอุดหนุนภายใน ซึ่งไทยมีข้อผูกพันการอุดหนุนภายในภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) สำหรับสินค้าเกษตรทุกรายการ (รวมสินค้าน้ำตาล) เป็นวงเงินไม่เกินปีละ 19,028 ล้านบาท ทั้งนี้ ภายใต้กฎเกณฑ์ WTO เรื่องสินค้าเกษตร ประเทศสมาชิกให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านการเกษตรสำหรับประเทศกำลังพัฒนา และมีข้อกำหนดเพื่อเปิดโอกาสให้ประเทศกำลังพัฒนาสนับสนุนการพัฒนาทางการเกษตรของตน ผ่านมาตรการให้ ความช่วยเหลือของรัฐเพื่อสนับสนุนการพัฒนาการเกษตรและชนบท การอุดหนุนการลงทุนและการอุดหนุนเรื่องปัจจัยการผลิตการเกษตรซึ่งต้องให้เป็นการทั่วไปแก่ผู้ผลิตที่มีรายได้ต่ำ หรือผู้ผลิตที่มีทรัพยากรไม่สมบูรณ์ รวมถึงการอุดหนุนเป็นจำนวนเล็กน้อย (de minimis) ที่มีมูลค่าไม่เกินร้อยละ 10 ของมูลค่ารวมของผลผลิต (Value of Production: VOP) ในช่วงปีที่เกี่ยวข้อง โดยมาตรการและการอุดหนุนภายในเหล่านี้ จะไม่นับรวมเป็นการอุดหนุนภายในที่บิดเบือนทางการค้าที่ต้องแจ้งเตือนต่อ WTO

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 30 มิถุนายน 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ