(ร่าง) แผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2562 - 2565)

ข่าวการเมือง Tuesday June 30, 2020 18:20 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เสนอดังนี้

1. เห็นชอบและประกาศใช้ (ร่าง) แผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2562 - 2565)

2. เห็นชอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามที่กำหนดไว้ใน (ร่าง) แผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฯ แปลงแผนไปสู่การปฏิบัติด้วยการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านสิทธิมนุษยชนของหน่วยงาน สำหรับงบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ให้หน่วยงานใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่แต่ละหน่วยงานได้รับจัดสรร โดยดำเนินการในภารกิจของหน่วยงาน และนำมิติด้านสิทธิมนุษยชนมาเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้ดียิ่งขึ้นด้วย

3. เห็นชอบให้หน่วยงานต่าง ๆ (ตามข้อ 2) รายงานผลการปฏิบัติตาม (ร่าง) แผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฯ เมื่อสิ้นปีงบประมาณ ปีละ 1 ครั้ง ห้วงระหว่างเดือนตุลาคม – ธันวาคมของทุกปี และมอบหมายให้ ยธ. รับผิดชอบกำหนดแนวทาง วิธีการรายงานผลและแบบรายงานผลการดำเนินงาน พร้อมแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบและถือปฏิบัติ

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงยุติธรรมเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบและประกาศใช้ (ร่าง) แผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2562 - 2565) เนื่องจากแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2557 - 2561) ได้หมดวาระแล้ว กระทรวงยุติธรรม (กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ) จึงได้จัดทำ (ร่าง) แผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฯ โดยได้ศึกษาบริบทภายในประเทศและระหว่างประเทศเพื่อเป็นกรอบแนวทางการดำเนินการ เช่น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 – 2564) ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน สนธิสัญญาหลักระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นต้น รวมทั้งประเด็นที่ยังไม่สามารถดำเนินการได้สำเร็จภายใต้แผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในฉบับที่ผ่านมาซึ่งเกี่ยวกับประเด็นการขับเคลื่อนกฎหมายต่าง ๆ ให้เป็นรูปธรรม เช่น 1) อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ ซึ่งประเทศไทยได้เป็นรัฐภาคีแล้ว 2) ร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ. .... เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมและไม่เลือกปฏิบัติทางเพศ เป็นต้น โดย (ร่าง) แผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในภาพรวมของประเทศให้มีประสิทธิภาพ รวมทั้งส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยให้ก้าวหน้าทัดเทียมระดับสากล ซึ่งประกอบด้วย แผนรายด้าน 10 ด้าน และแผนรายกลุ่ม 12 กลุ่ม ซึ่งมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนการดำเนินการตามข้อเสนอแนะในเรื่องต่าง ๆ มีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้

แผนรายด้าน 10 ด้าน

1. ด้านกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้ประชาชนไม่มีความรู้ทางกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิในกระบวนการยุติธรรม และสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมเพิ่มขึ้น (ยธ.)

2. ด้านการศึกษา เพื่อส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนที่ด้อยโอกาสมีสิทธิทางการศึกษาที่ดีขึ้นทัดเทียมกับคนทั่วไป (อว. และ ศธ.)

3. ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างการใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้เหมาะสมกับการขับเคลื่อนการเจริญเติบโตของประเทศ (ทส และ อก.)

4. ด้านเศรษฐกิจและธุรกิจ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตไปพร้อมกับการกระจายรายได้อย่างเป็นธรรม (กค. กษ. พณ. ยธ. และ อก.)

5. ด้านการขนส่ง เพื่อการพัฒนานวัตกรรมด้านการขนส่งที่ตอบสนองต่อความต้องการของกลุ่มคนพิการและผู้สูงอายุ (มท.)

6. ด้านสาธารณสุข เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพหลักประกันสุขภาพในเรื่องระบบการบริการสำหรับประชาชน (โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง) เช่นการรักษาพยาบาล (สธ.)

7. ด้านข้อมูลข่าวสารและเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อพัฒนาและจัดทำมาตรการการคุ้มครองข้อมูลและการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งเป็นการป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนในสังคมออนไลน์ (พม. ดศ. วธ. และ กสทช.)

8. ด้านการเมืองการปกครอง และความมั่นคง เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีสิทธิในการมีส่วนร่วมและกระบวนการตัดสินใจเชิงนโยบายมากกว่าการมีส่วนร่วมตามที่รัฐกำหนด (มท. ศย. อส. และสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง)

9. ด้านที่อยู่อาศัย เพื่อสร้างมาตรการหรือนโยบาย หรือโครงการในการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มเปราะบาง (พม. มท. และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน))

10. ด้านสิทธิชุมชน วัฒนธรรม และศาสนา เพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจแนวปฏิบัติของแต่ละศาสนา รวมทั้งส่งเสริมสิทธิชุมชนในการจัดการ บำรุงรักษาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน (ทส. และ วธ.)

แผนรายกลุ่ม 12 กลุ่ม

1. กลุ่มเด็กและเยาวชน เพื่อให้เด็กและเยาวชนทุกช่วงวัยได้รับการพัฒนาและคุ้มครองสิทธิอย่างมีคุณภาพ ทั่วถึงและเท่าเทียม (เช่น การศึกษา การเข้าถึงบริการสุขภาพ) (พม.)

2. กลุ่มนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เพื่อให้ความคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนผ่านการดำเนินการต่าง ๆ เช่น เร่งผลักดันร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

3. กลุ่มผู้ต้องราชทัณฑ์ เพื่อส่งเสริมกระบวนการยุติธรรมทางเลือกเพื่อลดปริมาณคดีขึ้นสู่ศาล รวมทั้งการเตรียมความพร้อมให้ผู้ต้องขังมีศักยภาพและความรู้ในการประกอบอาชีพ (ยธ.)

4. กลุ่มผู้พ้นโทษ เพื่อส่งเสริมคุ้มครองให้กลุ่มผู้พ้นโทษได้รับการคุ้มครองอย่างเป็นธรรมเท่าเทียมกันโดยไม่เลือกปฏิบัติ และสามารถดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรี (ยธ.)

5. กลุ่มผู้สูงอายุ เพื่อให้ผู้สูงอายุเข้าถึงระบบบริการสาธารณสุข สาธารณูปโภคอย่างทั่วถึงตามที่ รัฐจัดให้ รวมทั้งเพื่อให้มีมาตรการจูงใจให้มีหน่วยงานดูแลผู้สูงอายุอย่างมีประสิทธิภาพ (พม.)

6. กลุ่มคนพิการ เพื่อให้คนพิการสามารถเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวก การศึกษา และใช้ประโยชน์จากบริการสาธารณะได้อย่างมีคุณภาพเพิ่มขึ้น (พม. และ ศธ.)

7. กลุ่มชาติพันธุ์ ผู้ไร้รัฐ ไร้สัญชาติ และผู้แสวงหาที่พักพิงในเขตเมือง เพื่อให้มีมาตรการในการแก้ปัญหาแก่กลุ่มชาติพันธุ์ ผู้ไร้สัญชาติฯ ให้สามารถเข้าถึงสวัสดิการของภาครัฐ (มท. ตช. และ สมช.)

8. กลุ่มความหลากหลายทางเพศ เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศและไม่เลือกปฏิบัติทางเพศในเรื่องต่าง ๆ เช่น การจ้างงาน กระบวนการสืบสวนสอบสวนคดี การล่วงละเมิดทางเพศ (พม. ยธ. และ สธ.)

9. กลุ่มผู้ป่วย (ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยเอดส์ ผู้เสพยา) เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ประชาชนโดยเน้นเรื่องการปฏิบัติตนอย่างเหมาะสมต่อผู้ติดเชื้อและผู้ป่วย (พม. ยธ. และ สธ.)

10. กลุ่มสตรี เพื่อพัฒนากลไกสอดส่องปัญหาการกระทำความรุนแรงต่อสตรี และสร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบบยุติธรรม (พม.)

11. กลุ่มเกษตรกร และกลุ่มแรงงาน เพื่อส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญาตามที่กฎหมายกำหนด เช่น พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ. 2560 (กษ. รง. และ อก.)

12. กลุ่มผู้เสียหาย และพยาน เพื่อพัฒนากลไกการช่วยเหลือผู้เสียหายในคดีอาญาให้สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ (ยธ.)

สำหรับกลไกในการขับเคลื่อน (ร่าง) แผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฯ เช่น 1) คณะกรรมการขับเคลื่อนงานสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย 2) แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน เป็นต้น ซึ่งสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในการประชุม ครั้งที่ 3/2563 เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2563 ได้พิจารณาแล้วและมีมติเห็นชอบ (ร่าง) แผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฯ แล้ว

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 30 มิถุนายน 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ