คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานผลการสอบหาข้อเท็จจริงกรณีบริษัท ไทยแลนด์ ดิวตี้ ฟรี ช็อปส์ จำกัด ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) เสนอ โดยสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. คณะรัฐมนตรีมีมติ (24 ตุลาคม 2560) เห็นชอบให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ บริษัท ไทยแลนด์ ดิวตี้ ฟรี ช็อปส์ จำกัด (บจก. TDFS) จำนวน 166.29 ล้านบาท ออกจากบัญชีงบการเงินของ ททท. และให้ กก. ตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อให้ทราบถึงสาเหตุ ปัญหา อุปสรรค รวมทั้งผู้รับผิดชอบต่อความเสียหายของรัฐที่เกิดขึ้นให้ชัดเจนด้วย
2. ททท. ได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีข้างต้นโดยแต่งตั้งคณะกรรมการสอบหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ บจก. TDFS ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้จัดประชุมเพื่อพิจารณาพยานเอกสารและพยานบุคคลจำนวน 11 ครั้ง(ระหว่างเดือนธันวาคม 2560 - ตุลาคม 2562) สรุปได้ดังนี้
2.1 ความเป็นมาและผลการดำเนินการของ บจก.TDFS
2.1.1 คณะรัฐมนตรีมีมติ (30 สิงหาคม 2537) เห็นชอบโครงการจัดตั้งร้านค้าปลอดอากรในเมือง โดยให้จัดตั้งเป็นบริษัทจำกัดในเครือของ ททท. (บจก. TDFS) และให้ ททท. เป็นเจ้าของบริษัทจำกัดในฐานะผู้ถือหุ้น มีเงินลงทุนจำนวน 200 ล้านบาท จากนั้น บจก. TDFS ได้กู้ยืมเงินจากธนาคาร ไทยพาณิชย์จำกัด (มหาชน) วงเงิน 250 ล้านบาท เพื่อเพิ่มสภาพคล่อง ทั้งนี้ บจก. TDFS ได้ว่าจ้างบริษัท แอเรียนต้า อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (บจก. ARI) ให้เป็นผู้บริหารร้านค้าปลอดอากรดังกล่าวเนื่องจากเป็นบริษัทที่มีผลงานและประสบการณ์ด้านร้านค้าปลอดอากร โดยทำสัญญา 2 ระยะ ประกอบด้วย ระยะเริ่มต้นให้ บจก. ARI เตรียมเปิดร้านค้าปลอดอากร ระยะเวลาดำเนินการ 6 เดือน ค่าบริการ 1.99 ล้านบาท/เดือน และระยะที่ 2 ให้ บจก. ARI บริหารจัดการร้านค้าปลอดอากรเป็นเวลา 5 ปี ค่าบริการ 6.25 ล้านบาท/ปี
2.1.2 บจก. TDFS เริ่มเปิดกิจการขายสินค้าปลอดอากรตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2538 ซึ่งในช่วงปี 2538 - 2540 บจก. TDFS มีผลประกอบการขาดทุน 165.63 ล้านบาท 201.59 ล้านบาท และ 265.27 ล้านบาท ตามลำดับ รวมทั้งได้ยืมเงินจาก ททท. รวมทั้งสิ้นจำนวน 16.7 ล้านบาท เนื่องจากประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง
2.1.3 คณะรัฐมนตรีมีมติ (17 มิถุนายน 2540) อนุมัติให้บริษัท คิง พาวเวอร์อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (บจก. KPI) เช่าสิทธิในการบริหารร้านค้าปลอดอากรในเมืองจาก ททท. และเช่าทรัพย์สินของ บจก.TDFS เป็นเวลา 10 ปี และอนุมัติให้ ททท. ทดรองจ่ายเงินคงค้างตามสัญญาจ้างบริหารเดิมให้แก่ บจก. ARI ในวงเงิน 62 ล้านบาท ไปก่อน เพื่อเป็นการสิ้นสุดสัญญาเดิมระหว่าง บจก. TDFS และ บจก. ARI โดยเร็ว ตามที่ททท. เสนอ จากนั้น บจก.TDFS ได้ยุติการประกอบกิจการร้านค้าปลอดอากรเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2540 (รวมเวลาดำเนินกิจการร้านค้าปลอดอากร 1 ปี 8 เดือน) และ บจก. KPI ได้เข้าดำเนินกิจการต่อเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2560
2.2 การดำเนินการภายหลัง บจก.TDFS ยุติการประกอบกิจการ เดิมคณะกรรมการ ททท. เห็นว่า การให้ บจก. KPI เช่าสิทธิและทรัพย์สินของ บจก. TDFS จะมีค่าตอบแทนประมาณ 900 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้ บจก. TDFS สามารถชำระหนี้สินที่บริษัทมีต่อบุคคลภายนอกได้ทั้งหมด แต่เนื่องจากในเวลาต่อมาคณะมนตรีมีมติ (27 มกราคม 2541) สนับสนุนให้มีร้านค้าปลอดอากรหลายแห่งเพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรี ส่งผลให้ บจก. KPI ขอยกเลิกข้อตกลงในการเช่าสิทธิและทรัพย์สินจาก ททท. และ บจก. TDFS เนื่องจากสามารถดำเนินธุรกิจร้านค้าปลอดอากรได้เอง ซึ่งหากดำเนินการตามข้อตกลงเดิมจะทำให้ บจก. KPI มีต้นทุนสูงและไม่สามารถแข่งขันในเชิงธุรกิจกับผู้ประกอบการรายอื่นได้
2.3 การล้มละลาย คณะกรรมการฯ พบว่า คณะกรรมการ ททท. ได้พยายามแก้ไขปัญหาของ บจก. TDFS มาโดยตลอด โดยได้แต่งตั้งคณะการต่าง ๆ เพื่อศึกษารายละเอียดวิเคราะห์ข้อมูลเรื่องทรัพย์สิน หนี้สิน สาเหตุการขาดทุน และทางเลือกต่าง ๆ รวมทั้งศึกษาและหาวิธีการแก้ไขปัญหาหนี้สินของบริษัท TDFS อย่างไรก็ตาม ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นฟ้อง บจก. TDFS ต่อศาลล้มละลายกลาง และศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2544 และมีคำพิพากษาให้ บจก.TDFS เป็นบุคคลล้มละลายในวันที่ 2 กันยายน 2545
ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2548 กรมบังคับคดีได้แจ้งจำนวนส่วนแบ่งที่ ททท. จะได้รับการแบ่งทรัพย์รวมเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 709,998.12 บาท คิดเป็นร้อยละ 0.286 ของมูลหนี้ ดังนั้น ททท. จึงต้องขอจำหน่ายหนี้สูญ(ตามข้อ 1) ซึ่ง ททท. ได้หารือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเกี่ยวกับการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้แล้ว โดยคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 5) มีความเห็นว่า กรณี บจก. TDFS นั้น ททท. ได้กระทำกิจการภายในขอบเขตวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมท่องเที่ยวตามที่พระราชบัญญัติการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2522 กำหนดโดยบางกิจการเป็นการดำเนินการในทางธุรกิจซึ่งการเกิดหนี้สูญย่อมถือเป็นกรณีปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้
3. คณะกรรมการฯ ได้สรุปสาเหตุ ปัญหา และอุปสรรคที่ทำให้เกิดการจำหน่ายหนี้สูญออกจากบัญชีลูกหนี้ของ บจก. TDFS พบว่า บจก. TDFS ดำเนินกิจการร้านค้าปลอดอากรได้เพียง 1 ปี 8 เดือน ซึ่งเป็นการประกอบธุรกิจในระยะเวลาอันสั้น ทั้งนี้ การดำเนินกิจการร้านค้าปลอดอากรที่มีเงินลงทุนสูงต้องใช้เวลาคืนทุนประมาณ 5 ปีขึ้นไป ด้วยเหตุนี้ บจก. TDFS จึงไม่สามารถคืนทุนหรือได้รับผลกำไรจากการประกอบธุรกิจได้ อีกทั้ง บจก. TDFS มีค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ทำให้ประสบปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงินจนขาดทุน ประกอบกับ การเปลี่ยนแปลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีที่สนับสนุนให้มีร้านค้าปลอดอากรหลายแห่งเพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรี ส่งผลให้แนวทางที่ ททท. เสนอให้ บจก. KPI เช่าสิทธิและทรัพย์สินของ บจก. TDFS เป็นระยะเวลา 10 ปีโดยจ่ายค่าตอบแทน 900 ล้านบาท เพื่อให้ บจก. TDFS สามารถชำระหนี้ได้ทั้งหมดนั้น ไม่อาจดำเนินการให้บรรลุผลได้ ทำให้ บจก. TDFS อยู่ในสภาวะหนี้สินล้นพ้นตัวและกลายเป็นบุคคลล้มละลายตามคำพิพากษา
4. คณะกรรมการฯ เห็นว่า การดำเนินกิจการของ บจก. TDFS เป็นการดำเนินกิจกรรมตามวัตถุประสงค์แห่งพระราชบัญญัติการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2522 ประกอบกับ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ปฏิบัติตามระเบียบ ข้อบังคับ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องตามหน้าที่ของตนอย่างครบถ้วนและเต็มความสามารถแล้วรวมทั้ง ททท. ได้พยายามแก้ไขปัญหาหนี้สินของ บจก. TDFS มาโดยตลอด ซึ่งเมื่อ ททท. ได้ดำเนินการตามวัตถุประสงค์ที่กฎหมายกำหนดแล้ว บางกิจการเป็นการดำเนินการในทางธุรกิจซึ่งการเกิดหนี้สูญย่อมถือเป็นกรณีปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้และถือเป็นความเสี่ยงของการประกอบกิจการตามปกติ ดังนั้น คณะกรรมการฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า ไม่ต้องมีผู้รับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ บจก. TDFS ออกจากบัญชีแต่อย่างใด
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 30 มิถุนายน 2563