การเตรียมการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ก่อนการเปิดภาคเรียนปีการศึกษา 2563 ในสถานการณ์ การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

ข่าวการเมือง Tuesday June 30, 2020 18:34 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานเสนอการเตรียมการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ก่อนการเปิดภาคเรียนปีการศึกษา 2563 ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ประกอบด้วย 1) การจัดทำแนวทางการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) 2) การสำรวจความพร้อมการเปิดเรียน ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 ของโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน 3) แนวทางการใช้จ่ายเงินอุดหนุนสำหรับโรงเรียนที่จัดสถานที่พักนอนให้กับนักเรียนในพื้นที่ยากลำบาก ห่างไกล ไม่สามารถเดินทางไป-กลับได้ 4) แนวทางการใช้จ่ายเงินอุดหนุนสำหรับโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย 5) การอนุมัติการจบการศึกษาปีการศึกษา 2562 ภายหลังวันที่ 15 พฤษภาคม 2563 (ระหว่างวันที่ 16 พฤษภาคม - 30 มิถุนายน 2563) 6) การขอรับจัดสรรกล่องรับสัญญาณโทรทัศน์ระบบดิจิทัลจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จำนวน 1,158,931 กล่อง

สาระสำคัญ

กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้สรุปการเตรียมการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ก่อนการเปิดภาคเรียนปีการศึกษา 2563 ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 (COVID-19) ดังนี้

1. การจัดทำแนวทางการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้จัดทำ แนวทางการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนในสังกัด ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ปีการศึกษา 2563 และได้มีการชี้แจงเอกสารดังกล่าวในที่ประชุมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาผ่าน Video Conference เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2563 ดำเนินการประเมินตนเองเพื่อเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคจังหวัด (ศปก.จ.) ตามลำดับ รวมถึงมาตรการเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

2. การสำรวจความพร้อมการเปิดเรียน ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 ของโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ให้โรงเรียนสำรวจความพร้อมการเปิดเรียน ภาคเรียนที่ 1/2563 โดยจำแนกแบบสำรวจเป็น 3 ฉบับ ได้แก่ 1) แบบสำรวจข้อมูลสำหรับโรงเรียนทั่วไป 2) แบบสำรวจข้อมูลสำหรับโรงเรียนที่มีจำนวนลักษณะพิเศษ (พักนอน) และ 3) แบบสำรวจโรงเรียนทั่วไปที่มีจำนวนนักเรียนมากกว่า 20 คนต่อห้อง สำหรับระดับชั้นอนุบาล ประถมศึกษา และโรงเรียนขยายโอกาส หรือจำนวนนักเรียนมากกว่า 25 คนต่อห้อง สำหรับระดับมัธยมศึกษา ซึ่งผลการสำรวจสรุปได้ ดังนี้

2.1 ข้อมูลพื้นฐานของโรงเรียน

1) โรงเรียนร้อยละ 51.00 เป็นโรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียน ไม่เกิน 120 คน

2) มีโรงเรียน/สถานศึกษาสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ ซึ่งจัดการศึกษาสำหรับเด็กพิเศษ ทั้งเฉพาะความพิการและศูนย์การศึกษาพิเศษ รวมถึงเด็กด้อยโอกาสในโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์โดยรับนักเรียนทั้งประเภทอยู่ประจำ และไป-กลับ จำนวนรวม 176 โรงเรียน

2.2 แนวทางการจัดการเรียนการสอน และมาตรการเฝ้าระวัง/ป้องกันโรค จากการสำรวจพบว่า แผนการดำเนินการของโรงเรียนเป็นไปตามเอกสารแนวทางการจัดการเรียนการสอน โดยโรงเรียนส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 81.77 วางแผนจัดการเรียนการสอนปกติ (On-site) ที่เหลือจัดแบบผสมผสาน

2.3 กรณีพิเศษอื่นๆ

1) กรณีนักเรียนไทยที่ตกค้างอยู่ในต่างประเทศ ที่ไม่สามารถข้ามพรมแดนกลับมาได้ ขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำนักเรียนกลับมายังประเทศไทย ทั้งนี้ ต้องสอดคล้องกับมาตรการของศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.)

2) กรณีนักเรียนต่างชาติ ยังไม่สามารถข้ามชายแดนมาเรียนได้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานจะดำเนินการตามมาตรการของศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) สำหรับการจัดการเรียนการสอนให้นักเรียนกลุ่มนี้ เช่น ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาแนวทางช่วยเหลือนักเรียนให้ได้รับสื่อการเรียนการสอน หรือวิธีการอื่น ๆ ตามบริบทพื้นที่

3) กรณีโรงเรียนประจำ/นักเรียนประจำพักนอน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกำหนดมาตรการการดำเนินงานสำหรับโรงเรียนประจำ/นักเรียนประจำพักนอนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อการบริหารจัดการของสถานศึกษา และการบริหารค่าอาหารนักเรียน

3. แนวทางการใช้จ่ายเงินอุดหนุนสำหรับโรงเรียนที่จัดสถานที่พักนอนให้กับนักเรียนในพื้นที่ยากลำบาก ห่างไกล ไม่สามารถเดินทางไป-กลับได้

กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้จัดสรรงบประมาณ งบเงินอุดหนุน ประเภทเงินอุดหนุนทั่วไป รายการค่าอาหารนักเรียนพักนอน สำหรับโรงเรียนที่จัดสถานที่พักนอนให้กับนักเรียนในพื้นที่ยากลำบาก ห่างไกล ไม่สามารถเดินทางไป-กลับได้ โดยโรงเรียนได้ดำเนินการ กำกับ ดูแล และจัดระบบแบบเต็มเวลา และเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) กระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดรูปแบบการจัดการเรียนการสอน 3 รูปแบบ ซึ่งโรงเรียนสามารถเลือกรูปแบบการจัดการเรียนการสอนโดยพิจารณาตามความเหมาะสมและบริบทของโรงเรียน ดังนี้ 1) การเรียนในชั้นเรียน (On-Site) 2) การเรียนผ่านโทรทัศน์ (On-Air) และ 3) การเรียนการสอนแบบออนไลน์ (Online) กรณีโรงเรียนเลือกจัดการเรียนผ่านโทรทัศน์ (On-Air) และ/หรือการเรียนการสอนแบบออนไลน์ (Online) นักเรียนสามารถเรียนรู้ได้จากที่บ้าน ซึ่งไม่ได้พักนอนที่โรงเรียน ดังนั้น โรงเรียนจึงไม่สามารถดำเนินการจัดอาหารให้แก่นักเรียนได้ กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จึงกำหนดแนวทางการบริหารงบประมาณค่าอาหารนักเรียนพักนอน โดยให้โรงเรียนแต่งตั้งคณะกรรมการอย่างน้อย 3 คน ดำเนินการจ่ายเงินสดให้แก่ผู้ปกครอง/นักเรียนตามงบประมาณที่ได้รับจัดสรรจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยมีหลักฐาน คือ ใบสำคัญรับเงิน และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ปกครอง/นักเรียน (ผู้รับเงิน)

4. แนวทางการใช้จ่ายงบอุดหนุนสำหรับโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย

ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 25 พฤศจิกายน 2553 กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้จัดสรรงบประมาณงบเงินอุดหนุน ประเภทเงินอุดหนุนทั่วไป รายการค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาสำหรับนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ สำหรับนักเรียนโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย 12 แห่ง มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการจัดการเรียนการสอน และค่าใช้จ่ายสำหรับนักเรียนประจำ ประกอบด้วย รายการค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาด้านวิชาการสำหรับนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ และรายการค่าใช้จ่ายสำหรับการเป็นนักเรียนประจำ และเพื่อดำเนินการตามมาตรการเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย จึงเตรียมการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนร่วมกันในหลายวิธีการ เช่น การจัดการเรียนการสอนออนไลน์ การเรียนการสอนในชั้นเรียน และหรือการเรียนการสอนแบบผสมผสาน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขความพร้อมของพื้นที่จังหวัดและดุลยพินิจของผู้ปกครอง คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ร่วมกับโรงเรียน โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้กำหนดแนวทางการบริหารจัดการและการใช้จ่ายงบประมาณของโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ให้โรงเรียนกำหนดรูปแบบวิธีการและจ่ายค่าอาหาร ค่าอาหารเสริม สำหรับนักเรียนที่เรียนผ่านระบบออนไลน์ตามที่โรงเรียนกำหนดหรือได้รับอนุญาตจากโรงเรียน ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2563 เป็นต้นไป และให้โรงเรียนสามารถใช้เงินอุดหนุนทั่วไป รายการค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาสำหรับนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการตามมาตรการป้องกันและแก้ปัญหาของแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับนักเรียนประจำ และเป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ การเรียนการสอนในชั้นเรียนการเรียนการสอนแบบผสมผสาน และการสอนชดเชย เช่น ค่าสนับสนุนอุปกรณ์การเรียนการสอนออนไลน์ ค่าจัดทำเอกสารประกอบการเรียนรู้ ค่าสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเช่าสัญญาณอินเทอร์เน็ต การปรับปรุงพัฒนา อาคารสถานที่แหล่งเรียนรู้ การจัดหาอุปกรณ์ป้องกันการแพร่ระบาดสำหรับนักเรียน ค่าใช้จ่าย สำหรับวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ ค่าเบี้ยประชุม เป็นต้น ตามบริบทของโรงเรียน

5. การอนุมัติการจบการศึกษาปีการศึกษา 2562 ภายหลังวันที่ 15 พฤษภาคม 2563 (ระหว่างวันที่ 16 พฤษภาคม – 30 มิถุนายน 2563)

เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2563 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบมาตรการเร่งด่วนในการป้องกันวิกฤตการณ์จากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) กระทรวงศึกษาธิการ จึงได้ออกประกาศกระทรวง ลงวันที่ 17 มีนาคม 2563 ให้สถานศึกษาทุกแห่งของรัฐและเอกชน ทั้งในระบบและนอกระบบ ซึ่งอยู่ในสังกัดและกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ ปิดเรียนด้วยเหตุพิเศษ ตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป ทำให้โรงเรียนไม่สามารถจัดการเรียนการสอนเพื่อแก้ไขผลการเรียนในช่วงนี้ได้ ต่อมากระทรวงศึกษาธิการ ได้มีประกาศกระทรวง ลงวันที่9 เมษายน 2563 ให้สถานศึกษาทุกแห่งของรัฐและเอกชน ทั้งในระบบและนอกระบบ ซึ่งอยู่ในสังกัดและในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเรียนในวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 กระทรวงศึกษาธิการจึงได้พิจารณาการอนุมัติการจบการศึกษาภายหลังวันที่ 15 พฤษภาคม 2563 กับระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยปีการศึกษา การเปิดและปิดสถานศึกษา พ.ศ. 2549 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 6 ที่กำหนดวันเริ่มต้นปีการศึกษา คือวันที่ 16 พฤษภาคม วันสิ้นปีการศึกษา คือวันที่ 15 พฤษภาคม ของปีถัดไป และกฎหมายระเบียบอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้ข้อสรุปว่า การแก้ไขผลการเรียนและอนุมัติการจบการศึกษา ระหว่างวันที่ 16 พฤษภาคม ถึง 30 มิถุนายน 2563 ถือเป็นเหตุสุดวิสัยและถือว่าเป็นการแก้ไขผลการเรียนก่อนเปิดภาคเรียนปีการศึกษาถัดไป โดยไม่ถือเป็นการขัดแย้งกับระเบียบดังกล่าว ดังนั้น การที่สถานศึกษาแก้ไขผลการเรียนของนักเรียนเสร็จสิ้น หลังจากวันที่ 15 พฤษภาคม 2563 (ระหว่างวันที่16 พฤษภาคม ถึง 30 มิถุนายน 2563) ต้องถือว่าเป็นการอนุมัติให้จบการศึกษา ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2562

6. การขอรับจัดสรรกล่องรับสัญญาณโทรทัศน์ระบบดิจิทัลจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้สำรวจความต้องการขอรับกล่องรับสัญญาณโทรทัศน์ระบบดิจิทัลของนักเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบว่านักเรียนมีความต้องการกล่องรับสัญญาณโทรทัศน์ระบบดิจิทัล รวมทั้งสิ้น 1,158,931 กล่อง เป็นความต้องการของนักเรียนในสถานศึกษาสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 1,030,798 กล่อง กระทรวงมหาดไทย จำนวน 127,867 กล่อง และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จำนวน 266 กล่อง ซึ่งจะประสานขอรับจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ต่อไป

ผลกระทบ

การจัดการเรียนการสอนที่โรงเรียนเป็นการให้โอกาสผู้เรียนได้เรียนรู้ร่วมกับเพื่อนร่วมชั้นในโรงเรียน ทั้งองค์ความรู้ ทักษะวิชาการ ทักษะชีวิตจากการมีปฏิสังคม และยังช่วยแบ่งเบาภาระของผู้ปกครองในการกำกับดูแลบุตรหลานให้เรียนทางไกล ให้ผู้ปกครองสามารถกลับไปทำงานได้อย่างมีผลิตภาพ แต่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยที่ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตระหนักว่าการจัดการเรียนการสอน และจัดกิจกรรมในโรงเรียนต้องดำเนินการอย่างรอบคอบและระมัดระวัง เพื่อความปลอดภัยของนักเรียนและบุคลากร และป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดอันจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจสังคมของประเทศต่อไป

ค่าใช้จ่ายและแหล่งที่มา

งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษา ขั้นพื้นฐานในการดำเนินการข้อ 1 ถึง 5 สำหรับข้อ 6 สำนักงานคณะกรรมการกิจารกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายกล่องรับสัญญาณโทรทัศน์ระบบดิจิทัล

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 30 มิถุนายน 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ