ร่างข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างอาเซียนและสำนักงานสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้าแห่งสหรัฐอเมริกา

ข่าวการเมือง Tuesday June 30, 2020 18:45 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบการดำเนินการจัดทำร่างข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างอาเซียนและสำนักงานสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้าแห่งสหรัฐอเมริกา ฉบับที่ 3 ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ

สาระสำคัญของร่างข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านทรัพย์สินทางปัญญาฯ ฉบับที่ 3

1. ร่างข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือฯ ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ด้านทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างอาเซียนและ USPTO ต่อเนื่องจากข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือฯ ฉบับที่ 1 และฉบับที่ 2 โดยมุ่งเน้นการสานต่อกิจกรรมเพื่อพัฒนาบุคลากร แลกเปลี่ยนความรู้ และให้ความช่วยเหลือทางวิชาการในประเด็นด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่อาเซียนและสหรัฐฯ ให้ความสำคัญร่วมกัน เช่น การเข้าเป็นภาคีความตกลงระหว่างประเทศด้านทรัพย์สินทางปัญญา การบริหารจัดการสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญา การใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญาในเชิงพาณิชย์ การบังคับใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา พร้อมทั้งได้เพิ่มเติมประเด็นความร่วมมือให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์มากยิ่งขึ้น เช่น การดำเนินคดีแพ่งที่เกี่ยวกับเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา การสอบสวนและการดำเนินคดีอาญาเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาในเชิงพาณิชย์ และประเด็นทรัพย์สินทางปัญญากับการคุ้มครองผู้บริโภค

2. USPTO จะร่วมกับคณะทำงานความร่วมมือด้านทรัพย์สินทางปัญญาอาเซียนในการกำหนดกิจกรรมความร่วมมือภายใต้ร่างข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือฯ ให้สอดคล้องกับเป้าหมายของการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและแผนปฏิบัติการด้านทรัพย์สินทางปัญญาของอาเซียน พ.ศ. 2559 – 2562 โดยสำนักงานเลขาธิการอาเซียนจะเป็นผู้สนับสนุนการดำเนินกิจกรรมและรายงานผลให้ USTPO ทราบเป็นรายไตรมาส

3. USPTO จะสนับสนุนงบประมาณแก่อาเซียนเพื่อจัดกิจกรรมความร่วมมือด้านทรัพย์สินทางปัญญาภายใต้ข้อตกลงฉบับนี้ วงเงินรวม 2,000,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ โดยจะแบ่งงบประมาณเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 งบประมาณสำหรับการเดินทาง ที่พัก การแปลเอกสาร และสถานที่จัดกิจกรรมความร่วมมือ วงเงินรวมไม่เกิน 1,625,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ และส่วนที่ 2 งบประมาณสำหรับการบริหารและการสนับสนุนด้านอื่น ๆ วงเงินรวมไม่เกิน 375,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ

ทั้งนี้ ข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือฯ จะมีผลใช้บังคับเมื่อมีการลงนามครั้งสุดท้าย โดยการถอนตัวจากข้อตกลงสามารถกระทำได้ทุกเมื่อก่อนที่ข้อตกลงจะสิ้นสุดลง โดยแจ้งให้อีก ฝ่ายทราบเป็นลายลักษณ์อักษร โดยประเทศสมาชิกอาเซียนรวมทั้งประเทศไทยได้รับประโยชน์จากข้อตกลงความร่วมมือด้านทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างอาเซียนและ USPTO มาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการพัฒนาบุคลากร การส่งเสริมการตระหนักรู้เรื่องทรัพย์สินทางปัญญา การพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศสมาชิกอาเซียนให้มีประสิทธิภาพ และการส่งเสริมการวิจัยและการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมในภูมิภาค นอกจากนี้ ยังมีผลผูกพันเชิงนโยบายระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนและ USPTO ในการสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมความร่วมมือด้านทรัพย์สินทางปัญญาให้บรรลุเป้าหมายของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนด้วย

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 30 มิถุนายน 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ