คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติหอการค้า (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
1. แก้ไขเพิ่มเติมหน้าที่ของหอการค้าให้ครอบคลุมการดำเนินงานต่าง ๆ อันจะเป็นการส่งเสริมการค้าและการประกอบวิสาหกิจของสมาชิกได้มากขึ้น เช่น เป็นสถาบันอนุญาโตตุลาการชี้ขาดข้อพิพาททางการค้า รวมทั้งจัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางการค้า ทำความตกลงหรือความร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐ
2. แก้ไขเพิ่มเติมขอบเขตการดำเนินงานของหอการค้า โดยกำหนดข้อยกเว้นให้หอการค้าสามารถดำเนินการกิจการบางประการเพื่อให้เป็นไปตามหน้าที่ของหอการค้า
3. แก้ไขเพิ่มเติมการเลิกหอการค้าโดยมติที่ประชุมใหญ่ โดยให้ใช้คะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสาม ในสี่ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด
4. ปรับปรุงอัตราค่าธรรมเนียมท้ายพระราชบัญญัติ
1) พณ. ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติหอการค้า (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่ สคก. ตรวจพิจารณาแล้ว ขอยืนยันให้ดำเนินการร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวต่อไป
2) พณ. ได้พิจารณาทบทวนการจัดเก็บค่าธรรมเนียมตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2563 (เรื่อง แนวทางการทบทวนอัตราค่าธรรมเนียมในการอนุมัติ อนุญาต ของทางราชการ) แล้ว โดยพิจารณาเปรียบเทียบรายได้จากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรายปีกับต้นทุนการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรายปี พบว่าต้นทุนการจัดเก็บฯ สูงกว่ารายได้จากการจัดเก็บฯ ซึ่งค่าธรรมเนียมส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากการออกเอกสาร เช่น ใบอนุญาต ใบแทนใบอนุญาต การขอตรวจหรือคัดเอกสาร การขอให้คัดและรับรองสำเนาเอกสาร ซึ่งยังมีความจำเป็นต้องออกเอกสาร เนื่องจากภาคเอกชนมีความจำเป็นต้องใช้เอกสารเพื่อเป็นหลักฐานยืนยันทางกฎหมาย และเพื่อขอรับการสนับสนุนต่าง ๆ จากภาครัฐและภาคเอกชนอื่น ๆ จึงได้ปรับปรุงอัตราค่าธรรมเนียมให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน และได้รายงานผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากร่างพระราชบัญญัติหอการค้าฯ ดังนี้
3) ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้มีดังนี้
3.1) ผลกระทบเชิงลบ หอการค้าตามกฎหมายนี้จะมีภาระหน้าที่ในการปฏิบัติตามกฎหมายฉบับนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์การเป็นสมาชิก และการดำเนินกิจการ
3.2) ผลกระทบเชิงบวก กฎหมายฉบับนี้จะส่งผลต่อภาพรวมและเกิดประโยชน์ใน ด้านการค้า และเศรษฐกิจของประเทศให้มีความทันสมัย สอดคล้องกับการลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ เพื่อขจัดปัญหาในการประกอบธุรกิจ ลดและเลิกกฎหมายที่เป็นอุปสรรค และเป็นการสร้างความเข้มแข็ง และศักยภาพให้แก่หอการค้าในประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรที่จะสามารถสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจ ขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises : SMEs) อีกทั้งสอดคล้องกับพระราชกฤษฎีกาการทบทวนความเหมาะสมของกฎหมาย พ.ศ. 2558 ที่กำหนดให้หน่วยงานผู้รักษาการตามกฎหมายต้องดำเนินการทบทวนกฎหมายในความรับผิดชอบทุก ๆ 5 ปี
4) สำหรับการรับฟังความคิดเห็นนั้นได้ดำเนินการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยการจัดประชุมสัมมนารับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รับฟังความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (www.dbd.go.th) โทรสารหมายเลข 0 2547 4472 และไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ (dbd.legal@gmail.com) จำนวน 1 ครั้ง ระหว่างวันที่ 29 มิถุนายน 2561 ถึงวันที่ 13 กรกฎาคม 2561 รวมทั้งได้จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายตามแนวทางมติคณะรัฐมนตรี (19 พฤศจิกายน 2562) เรื่อง การดำเนินการเพื่อรองรับและขับเคลื่อนการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 และได้เผยแพร่ผลการรับฟังความคิดเห็น พร้อมการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายผ่านทางเว็บไซต์ให้ประชาชนรับทราบด้วยแล้ว
จึงได้เสนอร่างพระราชบัญญัติหอการค้า (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มาเพื่อดำเนินการ
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 8 กรกฎาคม 2563