เรื่อง ร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดที่ดินที่ได้รับอนุญาตให้ทำประโยชน์ตามประเภทหนังสือแสดงสิทธิ ตามมาตรา 7 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2562
1. เห็นชอบในหลักการร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดที่ดินที่ได้รับอนุญาตให้ทำประโยชน์ตามประเภทหนังสือแสดงสิทธิ ตามมาตรา 7 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2562 ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณา โดยให้รับข้อสังเกตของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้
2. ให้ ทส. รับความเห็นของ กษ. ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
3. ให้ กษ. รับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
กำหนดให้ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินที่มีหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01 ส.ป.ก. 4-01 ก ส.ป.ก. 4-01 ข ส.ป.ก. 4-01 ค) และหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินที่อยู่อาศัย (ส.ป.ก. 4-01 ช) เป็นที่ดินที่ได้รับอนุญาตให้ทำประโยชน์ตามประเภทหนังสือแสดงสิทธิตามมาตรา 7 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2562 และให้ไม้ที่ปลูกในที่ดินดังกล่าวให้ถือว่าไม่เป็นไม้หวงห้าม
1. โดยที่มาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2562 บัญญัติให้ไม้ชนิดใดที่ขึ้นในป่าจะให้เป็นไม้หวงห้ามประเภทใด ให้กำหนดโดย พระราชกฤษฎีกา สำหรับไม้ทุกชนิดที่ขึ้นในที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์ หรือสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดิน ไม่เป็นไม้หวงห้าม หรือไม้ที่ปลูกขึ้นในที่ดินที่ได้รับอนุญาตให้ทำประโยชน์ตามประเภทหนังสือแสดงสิทธิที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ให้ถือว่าไม่เป็นไม้หวงห้าม ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติดังกล่าว จึงสมควรกำหนดให้ที่ดินที่ได้รับอนุญาตให้ทำประโยชน์สามารถปลูกไม้ขึ้นในที่ดินดังกล่าวได้ โดยไม่ถือว่าเป็นไม้ หวงห้าม
2. กรมป่าไม้ได้ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมชลประทาน กรมธนารักษ์ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ที่ประชุมมีมติเห็นควรประกาศเฉพาะที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินที่มีหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01 ส.ป.ก.4-01 ก ส.ป.ก. 4-01 ข ส.ป.ก. 4-01 ค) และหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินที่อยู่อาศัย (ส.ป.ก.4-01 ช) ไปก่อน เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีการเพิกถอนการเป็นป่าสงวนแห่งชาติแล้ว
3. ทส. พิจารณาแล้วเห็นว่า โดยที่กรมป่าไม้ได้มอบพื้นที่ป่าเสื่อมสภาพที่เหมาะสมต่อการเกษตร และพื้นที่ป่าเพื่อเศรษฐกิจให้ ส.ป.ก. ดำเนินการปฏิรูปที่ดินตามนโยบายรัฐบาล เมื่อปี พ.ศ. 2536 เนื้อที่ประมาณ 44.28 ล้านไร่ โดยกำหนดเงื่อนไขการใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ให้ราษฎรปลูกไม้ผล หรือไม้ยืนต้นอย่างน้อยร้อยละ 20 ของเนื้อที่ที่ได้รับ เกษตรกรที่ได้รับหนังสืออนุญาตให้ทำประโยชน์ในเขต ส.ป.ก. บางรายได้ดำเนินการปลูกสร้างสวนป่า และได้ขึ้นทะเบียนสวนป่าตามพระราชบัญญัติสวนป่า พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติมแล้ว เนื้อที่ประมาณ 205,000 ไร่ ดังนั้น จึงมีที่ดินในเขต ส.ป.ก. อีกจำนวนมากที่ประสงค์จะทำไม้หวงห้ามที่ปลูกขึ้นตามเงื่อนไขการใช้ประโยชน์ที่ดินดังกล่าว ต้องขออนุญาตทำไม้ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 การประกาศที่ดินใน ส.ป.ก. ให้ไม้ที่ปลูกขึ้นในที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินตามข้อ 2. ไม่เป็นไม้หวงห้าม จึงเป็นการช่วยให้เกษตรกรสามารถทำไม้ที่ปลูกขึ้นในพื้นที่เขต ส.ป.ก. ได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้น อีกทั้งจะเป็นการสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรที่ได้รับหนังสืออนุญาตให้ทำประโยชน์ในเขต ส.ป.ก. ให้ความร่วมมือตามนโยบายรัฐบาลในการเพิ่มพื้นที่ ป่าเศรษฐกิจและพื้นที่สีเขียวอย่างเป็นรูปธรรม
จึงได้เสนอร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดที่ดินที่ได้รับอนุญาตให้ทำประโยชน์ตามประเภทหนังสือแสดงสิทธิ ตามมาตรา 7 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2562 มาเพื่อดำเนินการ
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 8 กรกฎาคม 2563