คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) โดยการกีฬา แห่งประเทศไทยเป็นตัวแทนประเทศไทยในการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพการจัดการแข่งขันรถจักรยานยนต์ชิงแชมป์โลก รายการ โมโต จีพี ประจำปี 2564 – 2568 (5 ปี) และเห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณค่าลิขสิทธิ์การจัดการแข่งขัน ภายในกรอบวงเงิน 25 ล้านยูโร (เป็นเงิน 900,000,000 บาท) โดยให้การกีฬาแห่งประเทศไทยนำรายได้จากการบริหารสิทธิประโยชน์มาสมทบค่าลิขสิทธิ์ และจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณที่ครอบคลุมทุกแหล่งเงิน เพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามความจำเป็นและเหมาะสมตามขั้นตอนต่อไป สำหรับค่าใช้จ่ายในการจัดการแข่งขันฯ เห็นควรให้การกีฬาแห่งประเทศไทยดำเนินการขอรับการสนับสนุนจากเอกชนและ ใช้รายได้จากการบริหารสิทธิ์เป็นลำดับแรกก่อน หากไม่เพียงพอหรือมีความจำเป็นให้ขอรับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ โดยให้มีการติดตามประเมินผลการดำเนินงานเป็นรายปี เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาปรับแผนการดำเนินงานในแต่ละปีให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ทั้งนี้ การเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันดังกล่าวควรคำนึงถึงความประหยัดและความคุ้มค่าของการใช้งบประมาณ การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ความเสี่ยงและความเสียหายที่จะเกิดขึ้นอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดตั้งและบริหารสัญญาจะต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดที่ทางราชการและประชาชนจะได้รับเป็นสำคัญ รวมทั้งการปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และมติคณะรัฐมนตรีให้ถูกต้องครบถ้วนต่อไป ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
1. กก. ขอความเห็นชอบในหลักการให้ประเทศไทยเสนอตัวเป็นเจ้าภาพการจัดการแข่งขันรถจักรยานยนต์ชิงแชมป์โลก รายการ โมโต จีพี ประจำปี 2564 – 2568 (5 ปี) ต่อจากสัญญาฉบับปัจจุบันที่ประเทศไทยได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฯ ประจำปี 2561 – 2563 (3 ปี) (คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2560) โดยดอร์น่า สปอร์ต กรุ๊ป (เจ้าของลิขสิทธิ์การแข่งขัน) กำหนดว่าหากประเทศไทยพิจารณาการต่อสัญญาการเป็นเจ้าภาพการจัดการแข่งขันฯ ไปอีก 5 ปี จะได้รับสิทธิ์การเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฯ ในปฏิทินการแข่งขันแบบถาวร ซึ่งเมื่อพิจารณาจากผลการจัดการแข่งขันใน 2 ปีที่ผ่านมา คือ รายการ “PTT Thailand Grand Prix 2018” และรายการ “PTT Thailand Grand Prix 2019” ณ สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต จังหวัดบุรีรัมย์ พบว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก โดยได้รับเลือกให้เป็นสนามแข่งขันที่ดีที่สุดประจำปี 2561 และเป็นสนามการแข่งขันที่มีผู้เข้าชมการแข่งขันมากที่สุดในฤดูกาล นอกจากนี้ การเป็นเจ้าภาพการจัดการแข่งขันฯ ยังส่งผลให้ประเทศไทยมีภาพลักษณ์ที่ดีเป็นที่รู้จักในระดับโลกมากยิ่งขึ้น และแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของประเทศไทยในการจัดการแข่งขันระดับโลก อีกทั้งยังสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศกว่า 3,000 ล้านบาท ซึ่งรวมไปถึง การกระจายรายได้ลงสู่พื้นที่โดยเฉพาะในจังหวัดบุรีรัมย์และจังหวัดใกล้เคียงในภาคการบริการ การท่องเที่ยว การค้าขาย และการจ้างแรงงานท้องถิ่นด้วย ดังนั้น คณะกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทย (ในคราวประชุมคณะกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 9/2562 เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2562) จงมีมติเห็นชอบการต่อสัญญาการเป็นเจ้าภาพ การจัดการแข่งขันฯ ประจำปี 2564 – 2568 (5 ปี) ซึ่งสอดคล้องกับแผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2560 – 2564) ยุทธศาสตร์ที่ 3 และยุทธศาสตร์ที่ 4 ที่ระบุให้มีการผลักดันให้มีการจัดการแข่งขันกีฬาระดับอาชีพในประเทศมากขึ้น โดยการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการจัดการแข่งขันกีฬาระดับอาชีพ โดยการจัดการแข่งขันตลอดระยะเวลา 5 ปี จะใช้งบประมาณทั้งสิ้น 3,248.14 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าลิขสิทธิ์การเป็นเจ้าภาพการแข่งขันฯ 1,800 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการจัดการแข่งขัน 1,448.14 ล้านบาท รวมที่รัฐรับภาระ 900 ล้านบาท รวมที่เอกชนรับภาระ 2,348.14 ล้านบาท ทั้งนี้ หากงบประมาณไม่เพียงพอให้ขอรับเงินสนับสนุนจากกองทุนพัฒนากีฬาแห่งชาติหรือให้ตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีสมทบต่อไป
2. ในส่วนของค่าลิขสิทธิ์การจัดการแข่งขันฯ ประจำปี 2564 – 2568 นั้น พบว่า เพิ่มขึ้นจากค่าลิขสิทธิ์ฯ ในปี 2561 – 2563 (เดิมปีละ 300 ล้านบาท เป็นเริ่มต้นที่ 324 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นปีละ 18 ล้านบาท รวมทั้ง กก. [การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.)] ได้ขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาลเพื่อเป็นค่าลิขสิทธิ์การจัดการแข่งขัน เพิ่มขึ้นจากเดิมรัฐบาลสนับสนุน 1 ใน 3 ของค่าลิขสิทธิ์ทั้งหมด เป็น รัฐบาลสนับสนุน ร้อยละ 50 ของค่าลิขสิทธิ์ทั้งหมด
3. กก. ได้เคยนำเรื่องนี้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2563 ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาถอนเรื่องดังกล่าวคืนไปได้ เพื่อทบทวนในรายละเอียดอีกครั้งหนึ่งก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
4. กก. ได้ชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ในประเด็นสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) โดย กก. ได้วางแผนการดำเนินงานและแผนทางด้านสาธารณสุขเพื่อรองรับต่อสถานการณ์ดังกล่าวแล้ว และได้ยืนยันว่าจะสามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายในภาพรวมและวัตถุประสงค์ในด้านอื่น ๆ ถึงแม้จะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID – 19 โดย ไม่จำเป็นต้องของบประมาณจากภาครัฐเพิ่มเติมเพื่อสมทบค่าลิขสิทธิ์การจัดการแข่งขัน เนื่องจาก กก. ยังคงเชื่อมั่นว่าผู้สนับสนุนต่าง ๆ จะยังคงให้การสนับสนุน อีกทั้งการจัดการแข่งขันยังได้รับการเผยแพร่ผ่านการถ่ายทอดสดไปทั่วโลกโดยสถานีโทรทัศน์ช่องกีฬาที่มีมาตรฐานสากลที่มีการยอมรับทั่วโลก โดยขณะนี้ยังคงมีแผนการจัดการแข่งขันฯ ในปี 2563 ตามเดิม ในระหว่างวันที่ 21 – 22 พฤศจิกายน 2563 อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID – 19 ยังไม่คลี่คลาย หรือยังไม่สามารถเปิดให้มีการเดินทางข้ามประเทศได้ตามปกติ หรือ มีความจำเป็นต้องยกเลิกการแข่งขันในปีนี้ ประเทศไทยจะสามารถโอนค่าลิขสิทธิ์ไปใช้สำหรับการแข่งขันฯในปีถัดไปได้
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 8 กรกฎาคม 2563