คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานความก้าวหน้าการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่จังหวัดนครราชสีมา ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอดังนี้
ตามที่ได้เกิดเหตุการณ์คนร้ายกราดยิงประชาชนในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันเสาร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ 2563 โดยมีจำนวนผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ จำนวน 95 ราย โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 กรณีเสียชีวิต จำนวน 27 ราย กลุ่มที่ 2 กรณีได้รับบาดเจ็บ จำนวน 68 ราย ในการนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จึงขอรายงานความก้าวหน้าการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่จังหวัดนครราชสีมา ดังนี้
1. การช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจ (ด้านอาชีพ)
- การขอบรรจุเข้ารับราชการทหาร 19 ราย ได้รับบรรจุ จำนวน 2 ราย รออนุมัติ จำนวน 13 ราย สละสิทธิ จำนวน 3 ราย รอความเห็นทางการแพทย์ จำนวน 1 ราย
- การขอบรรจุเข้ารับราชการตำรวจ 6 ราย ได้รับบรรจุ จำนวน 1 ราย ไม่ผ่านคุณสมบัติ จำนวน 1 ราย และขอเพิ่มเติม จำนวน 4 ราย
- การขอบรรจุเข้ารับราชการครู จำนวน 2 ราย ได้รับอนุมัติ จำนวน 1 ราย อยู่ระหว่างรอผล จำนวน 1 ราย
- การขอบรรจุแพทย์โรงพยาบาลพิษณุโลกหลังศึกษาจบ จำนวน 1 ราย อยู่ระหว่างการรอผลการพิจารณาจากกระทรวงสาธารณสุข
- การขอบรรจุเป็นลูกจ้างประจำมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จำนวน 1 ราย อยู่ระหว่างการรอจัดสรรงบประมาณ
- การขอบรรจุเป็นพนักงานการไฟฟ้าสาขาหนองแซง จังหวัดสระบุรี จำนวน 1 ราย อยู่ระหว่างการพิจารณาจากการไฟฟ้า
- การขอบรรจุพนักงานดับเพลิงเทศบาลตำบลสำโรงกลาง จังหวัดสมุทรปราการ จำนวน 1 ราย อยู่ระหว่างการพิจารณาจากเทศบาลตำบลสำโรง
2. การช่วยเหลือด้านการศึกษา
- ความต้องการศึกษาต่อ จำนวน 7 ราย 5 ครอบครัว ปัจจุบันได้ศึกษาต่อตามความต้องการ และได้ประสานโรงเรียนมัธยมศึกษาเพื่อให้เด็กเข้ารับการศึกษาต่อเมื่อศึกษาจบระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6
- ความต้องการทุนการศึกษาจนจบปริญญาตรี จำนวน 34 ราย 26 ครอบครัว ได้รับทุนการศึกษาจากกระทรวงกลาโหม 29 ทุน และบริษัท AIS มอบทุนการศึกษาแก่บุตรผู้เสียชีวิตจนจบปริญญาตรีจำนวน 8 ราย และกระทรวงศึกษาธิการโดยคณะกรรมการเยียวยานักเรียนนักศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่จังหวัดนครราชสีมามีมติให้ให้ต้นสังกัดของแต่ละหน่วยงานการศึกษาพิจารณาให้ความช่วยเหลือเยียวยานักเรียนเป็นกรณีพิเศษ เมื่อการประชุมครั้งที่ 1/2563 วันพุธที่ 4 มีนาคม 2563
3. การช่วยเหลือด้านสุขภาพ
- ด้านร่างกาย ปัจจุบันมีผู้ได้รับบาดเจ็บนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล จำนวน 2 ราย ได้แก่ โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้าและโรงพยาบาลตำรวจ โดยรวมอาการดีขึ้น และผู้ได้รับบาดเจ็บที่ออกจากโรงพยาบาล จำนวน 3 ราย เข้ารับการกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟูร่างกายอย่างต่อเนื่อง
- ด้านจิตใจ ผู้ได้รับผลกระทบ จำนวน 68 ราย ได้รับการดูแลด้านจิตใจปัจจุบันมีผู้ได้รับผลกระทบและสมาชิกในครอบครัวทั้งหมดมีสุขภาพจิตดีขึ้นสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้
4. ด้านที่อยู่อาศัย
- ความต้องการปรับปรุงสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย จำนวน 6 ราย ดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน 5 ราย ส่วนอีก 1 ราย ไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากอาศัยอยู่บ้านเช่าที่ใกล้กับสถานที่ทำงาน ประกอบกับผู้รับผลกระทบรายนี้มีบ้านเป็นของตนเองอยู่ต่างอำเภอและมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีอยู่แล้ว ทั้งนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้เสนอให้เช่าโครงการบ้านเช่าราคาพิเศษ เริ่มต้นที่ 999 บาท ซึ่งเป็นโครงการจากการเคหะแห่งชาติแล้ว แต่ผู้ได้รับผลกระทบแจ้งว่าโครงการนั้นอยู่ไกลจากที่ทำงานปัจจุบัน
5. ด้านการศึกษาสำหรับคนพิการ
ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์มีบุตรพิการ 1 คน (ออทิสติก) มีความประสงค์ให้บุตรได้รับการศึกษาสำหรับคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการได้ดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการศึกษาสำหรับเด็กพิการ เพื่อแก้ไขปัญหาในการจัดการศึกษาสำหรับเด็กพิการ และพัฒนาบุคลากรครูแนะแนวการศึกษาพิเศษ ครูผู้สอนและให้คำปรึกษาผู้ปกครองเด็กพิการให้สามารถจัดการศึกษา การจัดทำแผนการศึกษาเฉพาะรายบุคคล (IEP) รวมทั้งการพัฒนาผู้ปกครองให้เป็นครูที่มีทักษะในการช่วยพัฒนาเด็กพิการ
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 8 กรกฎาคม 2563