ผลการประชุมสุดยอดอาเซียน สมัยพิเศษ และการประชุมสุดยอดอาเซียนบวกสาม สมัยพิเศษ ว่าด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)

ข่าวการเมือง Wednesday July 8, 2020 16:50 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมสุดยอดอาเซียน สมัยพิเศษ และกาประชุมสุดยอดอาเซียนบวกสาม สมัยพิเศษ ว่าด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำผลการประชุมไปปฏิบัติและติดตามผลการประชุม ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

กต. รายงานว่า การประชุมสุดยอดอาเซียน สมัยพิเศษ และการประชุมสุดยอดอาเซียนบวกสาม สมัยพิเศษ ว่าด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ผ่านระบบการประชุมทางไกล เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2563 โดยมีนายเหวียน ซวน ฟุก นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามเป็นประธาน และมีนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เข้าร่วมประชุม สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

1. การเสริมสร้างความร่วมมือด้านสาธารณสุข

1.1 การจัดตั้งกองทุนอาเซียนเพื่อรับมือกับโควิด-19 (COVID-19 ASEAN Response Fund) ประเทศไทยได้ผลักดันให้มีการจัดตั้งกองทุนดังกล่าว ซึ่งจะระดมทุนจากกองทุนเพื่อการพัฒนาอาเซียน กองทุนความร่วมมืออาเซียนบวกสาม กองทุนความร่วมมืออาเซียนกับประเทศคู่เจรจาต่าง ๆ รวมถึงการสนับสนุนจากภาคีภายนอกอื่น ๆ เพื่อใช้ในการจัดซื้อชุดตรวจโควิด-19 และอุปกรณ์การแพทย์ต่าง ๆ ตลอดจนสนับสนุนการวิจัยและพัฒนายาและวัคซีน นอกจากนี้ ประเทศไทยจะมอบชุดตรวจโควิด-19 (แบบ RT-PCR) ที่ผลิตในประเทศไทยและผ่านการทดสอบตามมาตรฐานสากลแล้วให้แก่ประเทศสมาชิกอาเซียน ประเทศละ 10,000 ชุด เพื่อเป็นการเริ่มต้นความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมของอาเซียน

1.2 การประสานความร่วมมือของอาเซียนในการแก้ไขปัญหาแบบองค์รวม ดังนี้

1.2.1 เสริมสร้างความเข้มแข็งของกลไกและศูนย์ต่าง ๆ ของอาเซียนที่มีอยู่ เช่น เครือข่ายศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขของอาเซียน ศูนย์ประสานงานอาเซียนเพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการจัดการภัยพิบัติ เพื่อต่อสู้กับโรคโควิด-19

1.2.2 เตรียมความพร้อมในการรับมือกับภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขในอนาคต

1.2.3 จัดทำคู่มือมาตรฐานในการปฏิบัติงานในภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขของอาเวียนและจัดตั้งคลังสำรองอุปกรณ์ทางการแพทย์ระดับภูมิภาค

1.2.4 ประเทศบวกสามมีข้อเสนอเกี่ยวกับการจัดตั้งกลไกเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านสาธารณสุขกับอาเซียน เช่น สาธารณรัฐประชาชนจีนเสนอจัดตั้งเครือข่ายศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขของอาเซียนบวกสาม สาธารณรัฐเกาหลีสนับสนุนให้จัดตั้งกลไกการหารือระหว่างรัฐมนตรีสาธารณสุขของอาเซียนกับสาธารณรัฐเกาหลี และประเทศญี่ปุ่นสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์อาเซียนด้านโรคติดเชื้อ

1.3 การแลกเปลี่ยนข้อมูลและแนวปฏิบัติ ด้านการป้องกันการควบคุมโรค การรักษา การศึกษาและวิจัยยาและวัคซีน การปรับเปลี่ยนนโยบายของประเทศสมาชิก การส่งเสริมการสื่อสารสาธารณะที่มีประสิทธิภาพและโปร่งใส ตลอดจนการต่อต้านข่าวปลอม ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้เสนอให้ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมในการพัฒนาระบบการให้บริการด้านสาธารณสุข เช่น ระบบการแพทย์ทางไกล

2. การบรรเทาผลกระทบและการเตรียมการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจและสังคม

2.1 ด้านการค้าและการลงทุน

2.1.1 การรักษาตลาดที่เปิดกว้างต่อการค้าและการลงทุนรวมถึงการรักษาความเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุปทาน

2.1.2 การผลักดันให้มีการลงนามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคภายในปีนี้

2.1.3 การหารือกันอย่างใกล้ชิดก่อนที่จะใช้มาตรการและข้อจำกัดต่าง ๆ ที่จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจ เช่น การปิดชายแดน

2.1.4 การเร่งรัดการดำเนินการตามข้อตกลงทางเศรษฐกิจของอาเซียนและสนับสนุนการให้ความช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยประเทศไทยส่งเสริมให้มีการจัดการเจรจาการค้าระหว่างผู้ประกอบการผ่านระบบการประชุมทางไกลและการจัดงานแสดงสินค้าเสมือนจริง รวมทั้งการใช้เศรษฐกิจดิจิทัลและพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในภูมิภาคมากขึ้น ตลอดจนสนับสนุนให้ประเทศสมาชิกอาเซียนเชื่อมโยงระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์และใช้มาตรฐานรหัสคิวอาร์ (Quick Response Code: QR Code)

2.2 การใช้กลไกภายใต้ความร่วมมืออาเซียนบวกสาม เช่น การใช้มาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคีในการส่งเสริมเสถียรภาพทางการเงินของภูมิภาคที่ประชุมฯ ได้เสนอให้ใช้ประโยชน์จากองค์กรสำรองข้าวฉุกเฉินของอาเซียนบวกสามที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยเพื่อให้เกิดความมั่นคงทางอาหารในภูมิภาค

2.3 การจัดทำแผนฟื้นฟูภายหลังการระบาด จะมีการหารือเกี่ยวกับการจัดทำแผนฟื้นฟูดังกล่าวต่อไปในการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน

3. การให้ความช่วยเหลือคนชาติอาเซียน โดยให้อิงแนวปฏิบัติอาเวียนว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือในภาวะฉุกเฉินโดยคณะทูตของประเทศสมาชิกอาเซียนในประเทศที่สามแก่คนชาติของประเทศสมาชิกอาเซียนในสถานการณ์วิกฤต

4. การเตรียมความพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินในอนาคต

4.1 ประเทศไทยได้เสนอหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้เป็นหนึ่งในทางเลือกเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันต่อความท้าทายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

4.2 ที่ประชุมย้ำถึงการส่งเสริมความร่วมมือกับภาคีภายนอกและความร่วมมือระหว่างประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เพื่อให้สามารถรับมือกับความท้าทายระดับโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 8 กรกฎาคม 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ