คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการเป็นกองบังคับการหรือส่วนราชการอย่างอื่นในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
1. เปลี่ยนชื่อส่วนราชการระดับกองบังคับการ “กองบังคับการตำรวจมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ 904” ในสังกัดกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เป็น “กองบังคับการปฏิบัติการพิเศษ” และแก้ไขเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการดังกล่าว เช่น ต่อต้านการก่อการร้าย สนับสนุนการป้องกันและปราบปราม การระงับเหตุฉุกเฉิน ปราบปรามการก่อการร้าย การก่อวินาศกรรมทั่วราชอาณาจักร และรักษาความสงบเรียบร้อย ป้องกันปราบปรามการก่อจลาจล การควบคุมฝูงชน ที่มีผลกระทบต่อการถวายความปลอดภัยรอบเขตพระราชฐาน 2. เปลี่ยนชื่อส่วนราชการภายในระดับกองกำกับการ ในกองบังคับการปฏิบัติการพิเศษ ในสังกัดกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง จาก “กองกำกับการปฏิบัติการพิเศษ” เป็น “กองกำกับการต่อต้านการก่อการร้าย”
ทั้งนี้ ตช. เสนอว่า กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการเป็นกองบังคับการหรือส่วนราชการอย่างอื่นใน ตช. พ.ศ. 2552 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ได้กำหนดให้กองบังคับการตำรวจมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ 904 เป็นส่วนราชการระดับกองบังคับการ โดยมีส่วนราชการในสังกัด ดังนี้
1) ส่วนราชการระดับกองบังคับการ ได้แก่ กองบังคับการตำรวจมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ 904
2) ส่วนราชการระดับกองกำกับการ ได้แก่ (1) ฝ่ายอำนวยการ (2) – (7) กองกำกับการ 1 – 6 (8) กองกำกับการวิเคราะห์ข่าวและเครื่องมือพิเศษ (9) กองกำกับการปฏิบัติการพิเศษ และ (10) กองกำกับการสายตรวจ
โดยที่ภารกิจการถวายความปลอดภัยสำหรับองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท พระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นพระองค์เจ้าขึ้นไป ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ผู้แทนพระองค์ซึ่งเป็นพระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นพระองค์เจ้าขึ้นไป และบุคคลที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับเป็นพระราชอาคันตุกะเป็นภารกิจที่สำคัญสูงสุดของ ตช. ซึ่งกองบังคับการตำรวจมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ 904 มีอำนาจหน้าที่ด้านการถวายความปลอดภัยดังกล่าว และได้รับมอบหมายการปฏิบัติหน้าที่ถวายความปลอดภัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับการฝึกด้านยุทธวิธีเฉพาะทาง เพื่อฝึกข้าราชการตำรวจที่มีทัศนคติที่ดีต่อสถาบัน สำหรับเตรียมความพร้อมในการถวายงาน แต่เนื่องจากชื่อหน่วยงานและอำนาจหน้าที่ปัจจุบันยังไม่สอดคล้องกับภารกิจที่ได้รับมอบหมายเพิ่มขึ้น ดังนั้น เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการถวายความปลอดภัย ถวายอารักขา ถวายพระเกียรติ การปฏิบัติภารกิจทั้งปวงเป็นไปตามพระราชประสงค์และตามราชประเพณี ตลอดจนการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นไปด้วยความเรียบร้อย รวดเร็ว ทันต่อสถานการณ์และเกิดความปลอดภัยสูงสุด จึงมีความจำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่และเห็นควรเปลี่ยนชื่อส่วนราชการะดับกองบังคับการ จากเดิม “กองบังคับการตำรวจมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ 904” เป็น “กองบังคับการปฏิบัติการพิเศษ” และเปลี่ยนชื่อส่วนราชการระดับกองกำกับการ จากเดิม “กองกำกับการปฏิบัติการพิเศษ” ในกองบังคับการตำรวจมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ 904 สังกัดกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เป็น “กองกำกับการต่อต้านการก่อการร้าย” ในกองบังคับการปฏิบัติการพิเศษ สังกัดกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง
การเปลี่ยนชื่อกองบังคับการตำรวจมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ 904 สังกัดกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง และแก้ไขเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการดังกล่าว เพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจที่ได้รับมอบหมายเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้ข้าราชการตำรวจมีการพัฒนาความรู้ ความสามารถ มีความชำนาญในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้กำลังพลมีความพร้อมรับมือกับอาชญากรรมพิเศษ ภัยคุกคามและภัยพิบัติต่าง ๆ สามารถที่จะรองรับวิกฤตการณ์ได้ทุกรูปแบบ และทันต่อเหตุการณ์ภัยคุกคามในปัจจุบันหรือที่จะเกิดขึ้นในอนาคต อันจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม และความสงบเรียบร้อยของประเทศ สำหรับการแก้ไขเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการดังกล่าวจะทำให้การปฏิบัติภารกิจตามอำนาจหน้าที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลยิ่งขึ้น ข้าราชการตำรวจปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างถูกต้อง ปลอดภัย ลดความสูญเสีย สามารถอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งมีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและยุทธศาสตร์ ตช.
ตช. ได้ดำเนินการตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 แล้ว รายงานว่า การเปลี่ยนชื่อและแก้ไขเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการภายใน ตช. ดังกล่าว ได้มีการวิเคราะห์และกำหนดตำแหน่งข้าราชการตำรวจให้สอดคล้องกับภารกิจที่รับผิดชอบ โดยคำนึงถึงโครงสร้างส่วนราชการ ลักษณะงาน ปริมาณงาน คุณภาพงาน ความมีประสิทธิภาพและความประหยัด โดยการวิเคราะห์และกำหนดตำแหน่งข้าราชการตำรวจให้กับกองบังคับการปฏิบัติการพิเศษ ใช้วิธีการปรับเกลี่ยตำแหน่งและกำลังพลภายในกองบังคับการปฏิบัติการพิเศษ จึงส่งผลให้ ตช. มีค่าใช้จ่ายงบบุคลากรเพิ่มขึ้นในส่วนของเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษ แต่สามารถถัวจ่ายจากงบประมาณประจำปีที่ ตช. ได้รับการจัดสรร (งบบุคลากร) ได้ จึงไม่ส่งผลกระทบต่องบประมาณหมวดเงินเดือนของ ตช. และไม่ก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้ของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐแต่อย่างใด
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 14 กรกฎาคม 2563