คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน แล้วดำเนินการต่อไปได้
ให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตั้งแต่วันที่กฎกระทรวงนี้มีผลใช้บังคับ จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 โดยได้รับยกเว้นหนึ่งรอบใบอนุญาต
ทั้งนี้ กษ. เสนอว่า ได้มีกฎกระทรวงกำหนดค่าอากรและค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการประมง พ.ศ. 2559 ซึ่งเป็นการจัดเก็บค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินจากผู้ประสงค์จะทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เป็นโรคระบาดเพิ่งเกิดขึ้นใหม่และได้แพร่ระบาดไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว ซึ่งประเทศไทยได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว และส่งผลกระทบต่อรายได้ของผู้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินให้ไม่สามารถขายผลผลิตได้ตามปกติ
ดังนั้น เพื่อลดภาระและบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ผู้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว จึงเห็นควรกำหนดยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินให้แก่ผู้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ซึ่งการยกเว้นค่าธรรมเนียมดังกล่าวอาศัยอำนาจตามมาตรา 6 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ที่บัญญัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดยกเว้นค่าอากรและค่าธรรมเนียมได้ไม่เกินอัตราท้ายพระราชกำหนดฯ
กษ. ได้รายงานผลการดำเนินการตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ว่า ปัจจุบันได้มีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำซึ่งเป็น สาธารณสมบัติของแผ่นดินตามกฎกระทรวงกำหนดค่าอากรและค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการประมง พ.ศ. 2559 เป็นเงินจำนวน 41,290,747.16 บาท รวมกับข้อมูลการประมาณการค่าธรรมเนียมใบอนุญาตในทุกจังหวัดที่อยู่ระหว่างดำเนินการออกใบอนุญาตเป็นเงิน 18,203.505.11 บาท รวมเป็นเงินที่อาจก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้ของรัฐ เฉลี่ยต่อปีคิดเป็นเงิน 59,494,252.11 บาท แต่อย่างไรก็ดี การยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตดังกล่าวเป็นไปเพื่อลด ภาระและบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ผู้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
จึงได้เสนอร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำซึ่งเป็น สาธารณสมบัติของแผ่นดิน พ.ศ. …. มาเพื่อดำเนินการ
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 21 กรกฎาคม 2563