คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบข้อเสนอแนะของคณะกรรมการพัฒนากฎหมายเกี่ยวกับแนวทางการ ร่างกฎหมายให้สอดคล้องกับมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) เสนอ และให้หน่วยงานของรัฐถือปฏิบัติตามแนวทางการร่างกฎหมายให้สอดคล้องกับมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยเคร่งครัดต่อไป และให้หน่วยงานของรัฐที่อยู่ระหว่างดำเนินการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายถือปฏิบัติตามแนวทางการร่างกฎหมายดังกล่าวด้วย ตามที่ สคก. เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
1. ควรกำหนดให้ชัดเจนว่าการอนุมัติ อนุญาต ออกใบอนุญาต ใบแทนใบอนุญาต ให้กระทำด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก ในกรณีที่ยังไม่สามารถดำเนินการโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้หรือ ระบบอิเล็กทรอนิกส์ขัดข้อง จึงให้มาติดต่อกับเจ้าหน้าที่
2. ไม่ควรกำหนดให้เป็นหน้าที่ของประชาชนที่จะต้องแจ้งข้อมูลต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐ หากข้อมูลนั้นเป็นข้อมูลซึ่งอยู่ในความครอบครองหรือควบคุมดูแลของหน่วยงานของรัฐ หรือเป็นข้อมูลซึ่งเจ้าหน้าที่ของรัฐทราบอยู่แล้ว และหากจำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องกำหนดเช่นนั้น ก็ไม่ควรใช้โทษอาญาแก่ผู้ไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัตินั้น เช่น กรณีมาตรา 48 ประกอบกับมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 ที่กำหนดว่า เมื่อมีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฏิรูปที่ดินใช้บังคับในท้องที่ใดแล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งให้บรรดาเจ้าของที่ดินที่มีที่ดินเพื่อเกษตรกรรมที่อยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน แจ้งจำนวนแปลงที่ดิน ขนาด ที่ตั้งและการทำประโยชน์ในที่ดินที่ตนเป็นเจ้าของต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายในเก้าสิบวัน ตามแบบและวิธีการที่รัฐมนตรีกำหนด หากผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศของรัฐมนตรีดังกล่าว ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท
3. ไม่ควรกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตซึ่งไม่ขอรับใบแทนใบอนุญาตที่สูญหายถูกทำลาย หรือชำรุดในสาระสำคัญ ต้องรับโทษอาญา เช่น มาตรา 12 ทวิ ประกอบกับมาตรา 6 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติควบคุมการขายทอดตลาดและค้าของเก่า พุทธศักราช 2474 มาตรา 82 ประกอบกับมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ. 2558 มาตรา 48 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ. 2530
4. ไม่ควรกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตต้องแสดงใบอนุญาตไว้ในที่เปิดเผยและเห็นได้ง่าย ณ สถานประกอบการของผู้ได้รับใบอนุญาต เพราะไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์และไม่ควรกำหนดโทษอาญาในกรณีที่มีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าว หากมีความจำเป็นอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ที่จะต้องกำหนดเช่นนั้น เพราะผู้อนุญาตมีอำนาจในการตรวจสอบอยู่แล้ว และปกติทั่วไปประชาชนก็ไม่สนใจที่จะดูเอกสารดังกล่าว คงเป็นเรื่องระหว่างผู้อนุญาตและผู้รับใบอนุญาตเท่านั้น เช่น มาตรา 22 ประกอบมาตรา 57 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ. 2559 ซึ่งกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตต้องแสดงใบอนุญาตไว้ในที่เปิดเผยและเห็นได้ง่าย ณ โรงฆ่าสัตว์ของตน หากไม่ปฏิบัติตามต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท ตรงกันข้าม สมควรที่จะกำหนดกลไกหรือมาตรการอำนวยความสะดวกและลดภาระให้แก่ผู้ประกอบกิจการซึ่งเข้ามาอยู่ในระบบและ ขออนุญาตอย่างถูกต้องแทน เช่น การแสดงใบอนุญาตในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ทำนองเดียวกับใบอนุญาตขับขี่ ตามกฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก
5. ควรใช้มาตรการซึ่งเป็นการจูงใจให้ดำเนินการ แทนมาตรการบังคับลงโทษ เพื่อมิให้กฎหมายสร้างภาระโดยไม่จำเป็นแก่ประชาชน เช่น มาตรา 25 ประกอบกับมาตรา 57 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองซาก ดึกดำบรรพ์ พ.ศ. 2551 ที่กำหนดให้ผู้พบสิ่งอันมีเหตุควรเชื่อได้ว่าเป็นซากดึกดำบรรพ์ ต้องแจ้งเจ้าพนักงานแห่งท้องที่ที่ พบนั้นทราบ หากไม่ปฏิบัติตามมีโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท ถ้าปรับปรุงแก้ไขในเชิงจูงใจในลักษณะว่าผู้ใดพบซากดึกดำบรรพ์และมาแจ้งต่อเจ้าพนักงานจะได้รับรางวัล ก็จะทำให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
6. มิให้กำหนดให้การไม่อำนวยความสะดวกให้แก่เจ้าพนักงานหรือพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นความผิดอาญาเนื่องจากไม่มีขอบเขตที่ชัดเจนในการใช้ดุลพินิจ อีกทั้งมีความผิดฐานขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญาอยู่แล้ว
7. ควรยกเลิกการใช้โทษอาญาในเรื่องที่เป็นเรื่องทางแพ่งโดยแท้ เช่น ความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค
ทั้งนี้ สคก. รายงานว่า คณะกรรมการพัฒนากฎหมายอยู่ระหว่างการจัดทำร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. .... เพื่อเป็นกฎหมายกลาง โดยกำหนดหลักเกณฑ์ในการปรับเป็นพินัยสำหรับการกระทำหรืองดเว้นการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายที่ไม่ร้ายแรงและกฎหมายกำหนดให้ต้องชำระค่าปรับเป็นพินัย ซึ่งไม่เป็นโทษทางอาญา และไม่มีการบันทึกเป็นประวัติอาชญากรรม
การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. .... คณะกรรมการพัฒนากฎหมายได้ตรวจสอบบทบัญญัติของกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งกำหนดโทษอาญาที่มีโทษปรับสถานเดียวหรือที่มีโทษปรับ หรือจำคุก หรือทั้งจำทั้งปรับและกำหนดให้มีการเปรียบเทียบได้ ทั้งที่โดยสภาพแล้วไม่กระทบโดยตรงต่อความสงบเรียบร้อยหรือความปลอดภัยของประชาชนเพื่อจะเปลี่ยนเป็นความผิดทางพินัยแทนความผิดอาญา ซึ่งการพิจารณาบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว คณะกรรมการพัฒนากฎหมายพบว่า กฎหมายหลายฉบับมีการกำหนดโทษอาญาทั้งที่ไม่ใช่ความผิดร้ายแรงซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ในการกำหนดโทษอาญาสำหรับกฎหมายที่จะตราขึ้นในอนาคต1 และมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย นอกจากนี้ กฎหมายจำนวนมากมีบทบัญญัติที่ ไม่เหมาะสมกับกาลสมัยและไม่สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศ อีกทั้งเป็นการสร้างภาระและต้นทุนที่ไม่จำเป็นแก่ประชาชน จึงเห็นควรวางแนวทางการร่างกฎหมายให้สอดคล้องกับมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย เพื่อให้หน่วยงานถือปฏิบัติโดยเคร่งครัดต่อไป เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการปรับปรุงกฎหมายให้ดีขึ้นเพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน (Better Regulations for Better Life)
จึงได้เสนอข้อเสนอแนะของคณะกรรมการพัฒนากฎหมายเกี่ยวกับแนวทางการร่างกฎหมายให้สอดคล้องกับ มาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาเพื่อดำเนินการ
[1] คณะรัฐมนตรีได้มีมติ (13 กุมภาพันธ์ 2561) เห็นชอบหลักเกณฑ์ในการกำหนดโทษอาญาสำหรับกฎหมายที่จะตราขึ้นในอนาคต รวม 3 ประการ ดังนี้ 1) เป็นการกระทำที่กระทบต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนอย่างร้ายแรงและมีผลกระทบต่อส่วนรวม 2) เป็นกรณีที่ไม่สามารถใช้มาตรการอื่นใดเพื่อบังคับใช้กฎหมายอย่างได้ ผลหรือมีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะทำให้ประชาชนปฏิบัติตามกฎหมายได้ และ 3) ความผิดอาญาที่มีโทษปรับสถานเดียวหรือที่มีโทษจำคุกและเปรียบเทียบปรับทำให้คดีอาญาระงับได้ หากโดยสภาพแล้วไม่ใช่ความผิดต่อความ สงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนอย่างกว้างขวาง สมควรใช้โทษปรับทางปกครองแทนหรือวิธีการอื่นแทนการปรับ และให้ดำเนินการต่อไปตามกรอบแนวทางการศึกษาและปรับปรุงกฎหมายเพื่อป้องกันมิให้มีการใช้ประโยชน์จากโทษอาญาที่ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย ตามที่ สคก. เสนอ
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 21 กรกฎาคม 2563