โครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าแบบโครงข่ายไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (Microgrid) บนพื้นที่เกาะพะลวย จังหวัดสุราษฎร์ธานี

ข่าวการเมือง Tuesday July 21, 2020 17:36 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและเห็นชอบตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอดังนี้

1. อนุมัติให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ดำเนินโครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าแบบโครงข่ายไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (Microgrid*) บนพื้นที่เกาะพะลวย จังหวัดสุราษฎร์ธานี วงเงินลงทุนรวม 172 ล้านบาท โดยใช้เงินกู้ในประเทศ จำนวน 129 ล้านบาท และเงินรายได้ กฟภ. จำนวน 43 ล้านบาท

2. เห็นชอบให้ กฟภ. กู้เงินในประเทศภายในกรอบวงเงิน จำนวน 129 ล้านบาท เพื่อเป็นเงินลงทุนของโครงการดังกล่าว โดย กฟภ. จะทยอยดำเนินการกู้เงินตามความจำเป็นจนกว่างานจะแล้วเสร็จ

ทั้งนี้ ให้ มท. (กฟภ.) รับความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

หมายเหตุ : *Microgrid คือ ระบบไฟฟ้าขนาดเล็กที่สามารถบริหารจัดการได้แบบอิสระ (ไม่ต้องพึ่งพาระบบไฟฟ้าจากภายนอก) กรณีโครงการนี้ใช้ระบบ Microgrid แบบ Off – Grid โดยการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์บนเกาะและสามารถบริหารจัดการ (ผลิต กักเก็บ จำหน่ายไฟ) ได้เอง (บนเกาะ) ไม่ต้องเชื่อมต่อกับโครงข่ายไฟฟ้าหลักบนฝั่ง

สาระสำคัญของเรื่อง

มท. รายงานว่า

1. ประชาชนในพื้นที่บ้านเกาะพะลวย ตำบลอ่างทอง อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ร้องเรียนว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่กันดาร ห่างไกลความเจริญ ประชาชนส่วนใหญ่มีอาชีพประมงและทำสวน และยังไม่มีไฟฟ้าใช้ จึงขอให้อำเภอเกาะสมุยประสานจังหวัดสุราษฎร์ธานีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเพื่อให้ชาวบ้านในพื้นที่ดังกล่าวได้มีไฟฟ้าใช้เพื่อการดำรงชีพและส่งเสริมการท่องเที่ยวในอนาคต

2. คณะกรรมการ กฟภ. ในคราวประชุม ครั้งที่ 2/2562 เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2562 ได้พิจารณาแล้วมีมติเห็นชอบโครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าแบบโครงข่ายไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (Microgrid) บนพื้นที่เกาะพะลวย จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อให้ประชาชนบนเกาะมีไฟฟ้าใช้ ซึ่งเป็นการลดความเหลื่อมล้ำระหว่างประชาชนบนเกาะและแผ่นดินใหญ่ และเป็นไปตามแผนงานของโครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าแบบโครงข่ายไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (Microgrid) บนพื้นที่เกาะพะลวย จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมีระยะเวลาดำเนินการ ปี 2563 – 2564 รายละเอียดสรุปได้ ดังนี้

วัตถุประสงค์

1. เพื่อสามารถจ่ายไฟฟ้าให้ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าบนพื้นที่เกาะพะลวยที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ ตามนโยบายของรัฐบาล

2. สามารถบริหารและจัดการระบบพลังงานไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพ

3. สนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนและระบบกักเก็บพลังงาน

4. ลดการใช้น้ำมันดีเซลในการผลิตพลังงานไฟฟ้า

เป้าหมายและพื้นที่ดำเนินการ

ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าแบบโครงข่ายไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (Microgrid) บนพื้นที่เกาะพะลวย จังหวัดสุราษฎร์ธานี

ปริมาณงาน

ขอบเขตงาน - ปริมาณงาน

1. ระบบผลิตพลังงานไฟฟ้า

1.1 พลังงานแสงอาทิตย์ 1,000 kWp

1.2 ระบบกำเนิดไฟฟ้าดีเซล 600 kW

1.3 ระบบกักเก็บพลังงาน 500 kW/1,500 kWh

1.4 อาคารควบคุม 1 แห่ง

2. ระบบจำหน่ายบนเกาะ

2.1 แรงสูง (50 SAC) 3.7 วงจร-กิโลเมตร

2.2 แรงต่ำ (50 AW) 2.5 วงจร-กิโลเมตร

2.3 หม้อแปลงจำหน่าย 400 kVA

หมายเหตุ :

KWp = หน่วยของกำลังผลิตสูงสุดของโซลาร์เซลล์

kW = หน่วยบอกขนาดกำลังของเครื่องจักรอุปกรณ์ไฟฟ้า

kWh = หน่วยบอกพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ภายในเวลา 1 ชั่วโมง

SAC = ชนิดของสายไฟฟ้า (สายไฟฟ้าแกนเดียวตัวนำอะลูมิเนียมแบบอัดแน่นหุ้มด้วยฉนวน)

AW = ชนิดของสายไฟฟ้า (สายแรงต่ำชนิดทนสภาพอากาศ)

kVA = พิกัดกำลังของหม้อแปลงไฟฟ้า

ระยะเวลาดำเนินการ

2 ปี (พ.ศ. 2563 - 2564)

ค่าใช้จ่ายและแหล่งที่มา

วงเงินลงทุนรวม 172 ล้านบาท ประกอบด้วย

1. เงินกู้ในประเทศ จำนวน 129 ล้านบาท

2. เงินรายได้ กฟภ. จำนวน 43 ล้านบาท

ทั้งนี้ การดำเนินโครงการฯ ไม่ก่อให้เกิดภาระต่องบประมาณ หรือภาระทางการคลัง ในอนาคต ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 มาตรา 27

แผนการใช้จ่ายเงินรายปี (หน่วย : ล้านบาท)

ปี / เงินกู้ในประเทศ

2563 / 39

2564 / 90

รวม / 129

ปี / เงินรายได้ กฟภ.

2563 / 13

2564 / 30

รวม / 43

ปี / รวม

2563 / 52

2564 / 120

รวม / 172

ผลตอบแทนของโครงการ

ผลตอบแทนทางการเงินของโครงการสรุปได้ ดังนี้

ผลตอบแทน - อัตราผลตอบแทน(ร้อยละ)

ทางการเงิน (FIRR) 1.63

ทางเศรษฐศาสตร์ (EIRR) 21.37

ผลตอบแทน - อัตราส่วนผลประโยชน์ต่อเงินลงทุน (B/C Ratio)

ทางการเงิน (FIRR)0.26

ทางเศรษฐศาสตร์ (EIRR)1.80

ผลตอบแทน - มูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV)(ล้านบาท)

ทางการเงิน (FIRR) -205.27

ทางเศรษฐศาสตร์ (EIRR) 177.21

หมายเหตุ : จากรายงานการศึกษาความเหมาะสมของโครงการฯ มีผลตอบแทนทางการเงินที่ไม่คุ้มค่าในการลงทุน (FIRR = -205.27) แต่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ (EIRR = 177.21) โดย กฟภ. แจ้งว่าโครงการจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนบนพื้นที่เกาะพะลวยและสนับสนุนการพัฒนาทางเศรษฐกิจ

ผลกระทบโครงการ

1. ด้านนโยบายรัฐบาล : เป็นการเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยกระจายชนิดของเชื้อเพลิงทั้งจากฟอสซิลและจากพลังงานทดแทนอย่างเหมาะสม สนับสนุนการผลิตและการใช้พลังงานทดแทนตามศักยภาพของแหล่งเชื้อเพลิงในพื้นที่ เปิดโอกาสให้ชุมชนและประชาชนมีส่วนร่วมในการผลิตและบริหารจัดการพลังงาน ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงาน เช่น ระบบกักเก็บพลังงาน เป็นต้น

2. ด้านเศรษฐกิจ : การดำเนินโครงการดังกล่าวเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานไฟฟ้าบนพื้นที่เกาะพะลวย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งจะส่งเสริมให้ประชาชนบนเกาะสามารถประกอบอาชีพ และลดความเหลื่อมล้ำระหว่างประชาชนบนเกาะกับประชาชนบนแผ่นดินใหญ่

3. ด้านผลประโยชน์ต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน : ประชาชนบนเกาะพะลวย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ใช้ไฟฟ้าอย่างเพียงพอ คุณภาพของระบบไฟฟ้าที่ดี ในราคาเดียวกับประชาชนบนแผ่นดินใหญ่ ทำให้ประชาชนบนพื้นที่เกาะพะลวยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม

จากการสำรวจเบื้องต้นพบว่า พื้นที่โครงการเป็นของกรมธนารักษ์ ซึ่งถ้าจะดำเนินโครงการจำเป็นจะต้องเช่าที่ดินจากกรมธนารักษ์ และพื้นที่ดังกล่าวไม่ได้อยู่ในขอบเขตของโครงการที่จะต้องทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนด ประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจการซึ่งจะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติ และแนวทางการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามมาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 21 กรกฎาคม 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ