คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบความก้าวหน้าของยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ ณ เดือนมิถุนายน 2563 ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ เสนอ โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
หัวข้อ - สาระสำคัญ
1. ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา
1.1 ความก้าวหน้ายุทธศาสตร์ชาติและการขับเคลื่อนแผนแม่บท ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ
จัดทำโครงการสำคัญเพื่อบรรลุเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 โดยประมวลผลความสอดคล้องตามภารกิจ บทบาท และหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเป้าหมายของแผนแม่บทย่อยทั้ง 140 เป้าหมาย เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการดำเนินการตามแนวทางการจัดทำโครงการสำคัญประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 โดยมีหน่วยงานระดับกรมหรือเทียบเท่าแจ้งผลการดำเนินการแล้ว รวมทั้งสิ้น 231 หน่วยงาน หรือร้อยละ 75 จากทั้งหมด 310 หน่วยงาน ทั้งนี้ มีเป้าหมายแผนแม่บทย่อยที่ยังไม่มีหน่วยงานใดเลือกความเกี่ยวข้องทั้งหลักและสนับสนุน จำนวน 1 เป้าหมาย คือ ภาคธุรกิจมีบทบาทสำคัญในการลงทุนเพื่อสังคมเพิ่มขึ้น และมีเป้าหมายแผนแม่บทย่อยที่ไม่มีหน่วยงานเลือกความเกี่ยวข้องหลัก จำนวน 16 เป้าหมาย เช่น ประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลในด้านความพร้อมในอนาคตดีขึ้น สถานประกอบการด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและบริการทางการแพทย์ได้รับมาตรฐานเพิ่มขึ้น และระดับความมั่นคงด้านน้ำในเขตเมืองเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ สศช. จะประสานเจ้าภาพเป้าหมายแผนแม่บทย่อยเพื่อพิจารณากำหนดหน่วยงานที่เหมาะสม ในการร่วมขับเคลื่อนเป้าหมายแผนแม่บทย่อยต่อไป
เตรียมการปรับปรุงแผนแม่บท โดยพิจารณาความสอดคล้องและครอบคลุมของแผนแม่บทในการรองรับชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) และผลกระทบที่เกิดจากการระบาดของโรค COVID-19 ซึ่งอาจต้องพิจารณาแนวทางการพัฒนาเพิ่มเติม เช่น ประเด็นผู้ประกอบการและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมยุคใหม่ การพัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต และประเด็นเศรษฐกิจฐานราก โดย สศช. จะร่วมกับคณะกรรมการจัดทำยุทศาสตร์ชาติพิจารณาความจำเป็นของการปรับปรุงแผนแม่บทฯ ดังกล่าว และนำเสนอคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและคณะรัฐมนตรีตามขั้นตอนต่อไป
ขับเคลื่อนการพัฒนาศักยภาพคนทุกช่วงวัยภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ชาติผ่านการใช้ระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (TPMAP) โดยขยายผลการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับหน่วยงานต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น การเพิ่มชุดข้อมูลกลาง การจัดสวัสดิการของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และการหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกและภาคีที่เกี่ยวข้องเพื่อนำข้อมูลจากระบบ TPMAP ไปใช้ประกอบการยกระดับ ความเป็นอยู่ให้ประชาชนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง)
ผลการพิจารณาแผนระดับที่สาม (ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563) มีหน่วยงานส่งแผนระดับที่สามให้ สศช. กลั่นกรองรวมทั้งสิ้น 95 แผน จำแนกเป็น (1) แผนที่ผ่านการพิจารณาและรายงานให้คณะรัฐมนตรีรับทราแล้ว 55 แผน (2) แผนที่อยู่ระหว่างกลั่นกรองหรือให้ทบทวน/ปรับปรุง 35 แผน และ (3) แผนที่ผ่านกระบวนการพิจารณาของ สศช. เพิ่มเติม 5 แผน ได้แก่ (ร่าง) แผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2562-2565) ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2563 (ร่าง) แผนขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิแห่งชาติสู่การปฏิบัติ พ.ศ. 2562-2565 (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการผลิตและพัฒนากำลังคนในสาขาอาชีพที่มีความจำเป็นเร่งด่วน ต่อการพัฒนาประเทศตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ พ.ศ. 2562-2565 แผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2545-2568) ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2561 และแผนยกระดับความมั่นคงและความเป็นเลิศด้านควบคุมโรคของประเทศ ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2563-2565
1.2 ความก้าวหน้าแผนการปฏิรูปประเทศ ?
รายงานความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (เดือนตุลาคม – ธันวาคม 2562) ต่อวุฒิสภา เมื่อวันที่ 29-30 มิถุนายน 2563 โดยวุฒิสภาได้มีประเด็นอภิปรายที่สำคัญ เช่น (1) เร่งรัดกิจกรรมตามแผนการปฏิรูปประเทศที่ยังมีการดำเนินการล่าช้า (2) กำหนดกิจกรรมปฏิรูปประเทศที่มีนัยสำคัญ (Big Rock) เพิ่มเติม และ (3) ปรับปรุงแผนการปฏิรูปประเทศโดยให้ความสำคัญกับการกำหนดค่าเป้าหมายและตัวชี้วัดที่ชัดเจนและคำนึงถึงสถานการณ์ของประเทศที่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากในช่วงการจัดทำแผนการปฏิรูปประเทศที่ผ่านมา
คณะรัฐมนตรีมีมติ (30 มิถุนายน 2563) เห็นชอบการแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศทั้ง 13 ด้านแล้ว
1.3 ผลการดำเนินการอื่น ๆ
รายงานสรุปผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ประจำปี 2562 และรายงานสรุปผลการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศ ประจำปี 2562 ต่อสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2563 และต่อวุฒิสภา เมื่อวันที่ 29-30 มิถุนายน 2563 โดยมีประเด็นอภิปรายที่สำคัญ ได้แก่ (1) การเร่งรัดกิจกรรมที่อยู่ระหว่างดำเนินการแต่มีความล่าช้า เช่น การปฏิรูประบบการศึกษา (2) การให้ความสำคัญกับประเด็นท้าทายต่าง ๆ เช่น การถ่ายทอดแผนไปสู่การปฏิบัติ (3) ประเด็นที่ควรให้ความสำคัญในการพัฒนาในระยะต่อไป เช่น การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การลดความเหลื่อมล้ำ และการกระจายอำนาจ (4) ประเด็นผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรค COVID-19 ที่มีต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต และ (5) ประเด็นการทบทวนและปรับปรุงยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป
ปรับปรุงระบบติดตามและประเมินผลแห่งชาติ (eMENCSR) ให้รองรับการเสนอ การติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินการแผนงานหรือโครงการภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 โดยระบบดังกล่าวจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการพิจารณากลั่นกรองข้อเสนอแผนงาน/โครงการต่าง ๆ กระบวนการจัดสรรงบประมาณ และการติดตามผล การเบิกจ่ายเงินกู้ โดยจะมีการเชื่อมโยงข้อมูลของระบบ eMENCSR กับระบบบริหารการเงินการคลังภาครัฐแบบอิเล็กทรอนิกส์ (GFMIS) ตลอดจนการรายงานผลการดำเนินโครงการที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ และแผนอื่น ๆ นอกจากนี้ ได้จัดทำเว็บไซต์ ThaiME (Thai Monitoring and Evaluation)
เพื่อเป็นช่องทางให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องแสดงความคิดเห็นต่อข้อเสนอแผนงานหรือโครงการ เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองและเพื่อรองรับการเผยแพร่ผลการดำเนินการตามพระราชกำหนดดังกล่าว
สร้างการตระหนักรู้ ความเข้าใจ และการมีส่วนร่วมของภาคีต่าง ๆ ต่อการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ ผ่านการดำเนินการต่าง ๆ เช่น การจัดทำวีดิทัศน์เผยแพร่รายวิชา ยุทธศาสตร์ชาติสำหรับข้าราชการและบุคลากรภาครัฐบนหลักสูตรการเรียนการสอนแบบออนไลน์ การจัดทำสื่อวีดิทัศน์เปรียบเทียบผลของการดำเนินการก่อน – หลังของการมียุทธศาสตร์ชาติ และ การสร้างการตระหนักรู้ การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติในกลุ่มเด็กและเยาวชน กลุ่มเปราะบางในพื้นที่นำร่องจังหวัดอุบลราชธานี
2. การดำเนินงานในระยะต่อไป
จัดประชุมเชิงปฏิบัติการการจัดทำโครงการสำคัญประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 เพื่อบรรลุเป้าหมายของแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติในช่วงเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม 2563 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้หน่วยงานเจ้าภาพขับเคลื่อนแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาห่วงโซ่คุณค่า เพื่อจัดทำโครงการที่ส่งผลต่อการบรรลุเป้าหมายของแผนแม่บทได้อย่างเป็นรูปธรรม และบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ได้มาซึ่งโครงการสำคัญและนำเสนอคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
จัดการประชุมร่วมกับประธานกรรมการปฏิรูปประเทศทุกคณะเพื่อพิจารณากรอบการดำเนินงานของทุกคณะร่วมกัน โดยคาดว่าจะสามารถเสนอร่างแผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) ต่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ และคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2563 ต่อไป
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 21 กรกฎาคม 2563