คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการตอบรับคำเชิญผูกพันต่อกรรมสารของ OECD Council ที่เกี่ยวกับการยอมรับร่วมของข้อมูลเรื่องการประเมินสารเคมี (การยอมรับร่วมของข้อมูลฯ) ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ
ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงร่างเอกสารในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัด ต่อผลประโยชน์ของไทย และไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติหรือให้ความเห็นชอบไปแล้ว ให้กระทรวงสาธารณสุขสามารถดำเนินการได้โดยให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบภายหลัง พร้อมทั้งชี้แจงเหตุผลและประโยชน์ ที่ไทยได้รับจากการปรับเปลี่ยนดังกล่าวด้วย ตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2558
กระทรวงสาธารณสุขเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบการตอบรับคำเชิญผูกพัน ต่อกรรมสารของ OECD Council ที่เกี่ยวกับการยอมรับร่วมของข้อมูลเรื่องการประเมินสารเคมี ซึ่งเดิมประเทศไทยได้เคยแสดงเจตจำนงเข้าร่วมเป็นภาคีชั่วคราวในระบบการยอมรับร่วมของข้อมูลเรื่องการประเมินสารเคมีกับ OECD มาแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553-2556 และได้รับการขยายเวลาการเข้าร่วมเป็นภาคีชั่วคราวอีก 2 ครั้ง ในปี พ.ศ. 2556-2559 และ พ.ศ. 2559-2562 ทั้งนี้ การเข้าร่วมเป็นภาคีชั่วคราวดังกล่าว ประเทศไทยต้องยอมตกลงที่จะผูกพันต่อกรรมสารของ OECD Council เป็นการชั่วคราว ซึ่งกรรมสารดังกล่าวกำหนดให้ประเทศไทยต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การทดสอบของ OECD และหลักปฏิบัติที่ดีของห้องปฏิบัติการของ OECD โดยผลการประเมินจากสมาชิกภาคเครือข่าย OECD ในช่วงที่ผ่านมา ประเทศไทยสามารถดำเนินการสอดคล้องตามหลักเกณฑ์การทดสอบฯ และหลักปฏิบัติที่ดีของห้องปฏิบัติการฯ ที่กำหนดไว้ในกรรมสารดังกล่าวได้ทัดเทียมกับประเทศสมาชิกอื่น ๆ ดังนั้น OECD Council จึงได้มีมติเชิญประเทศไทยเข้าเป็นประเทศภาคีแบบสมบูรณ์ (Full adherence) ในระบบการยอมรับร่วมในข้อมูลการประเมินสารเคมี OECD และเข้าเป็นสมาชิกสมทบในคณะทำงานและการประชุมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการตอบรับคำเชิญดังกล่าว กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะต้องยอมตกลงผูกพันต่อกรรมสารของ OECD Council เช่นเดิมเหมือนกับครั้งที่เป็นภาคีชั่วคราว โดยดำเนินการ ดังนี้ (1) ดำเนินการตามบทบัญญัติที่กำหนดไว้ในกรรมสารของ OECD Council จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่
(1) มติของสภาบริหารเกี่ยวกับการยอมรับร่วมของข้อมูลการประเมินสารเคมี
คือ วิธีการดำเนินงานของห้องปฏิบัติการทดสอบสารเคมีโดยทาง OECD Council ได้กำหนดเป็นหลักเกณฑ์การทดสอบและหลักปฏิบัติที่ดีของห้องปฏิบัติการเพื่อให้ห้องปฏิบัติการทดสอบสารเคมีนำหลักดังกล่าวไปใช้เป็นแนวทางในการตรวจสอบความปลอดภัยของสารเคมีในวัตถุทดสอบ
(2) มติ-ข้อเสนอแนะของสภาบริหารในการดำเนินการให้สอดคล้องตามหลักปฏิบัติที่ดีทางห้องปฏิบัติการ
คือ วิธีการดำเนินงานของหน่วยตรวจสอบขึ้นทะเบียนแห่งชาติ โดยทาง OECD Council ได้กำหนดเป็นคู่มือเพื่อให้หน่วยตรวจสอบดังกล่าวใช้เป็นแนวทางในการตรวจประเมินห้องปฏิบัติการทดสอบสารเคมีว่ามีการดำเนินการสอดคล้องตามหลักเกณฑ์การทดสอบฯ และหลักปฏิบัติที่ดีของห้องปฏิบัติการฯ
ทั้งนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ในฐานะหน่วยตรวจสอบขึ้นทะเบียนแห่งชาติจะต้องได้รับการตรวจประเมินจากผู้ตรวจประเมินของภาคีเครือข่าย OECD ด้วย เพื่อให้มั่นใจว่าการทำหน้าที่เป็นหน่วยตรวจสอบฯ ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นั้น ได้ดำเนินงานอย่างเป็นมาตรฐานเท่าเทียมกับประเทศสมาชิก OECD และ (2) ชำระค่าบำรุงเพื่อสนับสนุนการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการยอมรับร่วมของข้อมูลเรื่องการประเมินสารเคมีจำนวน ปีละ 5,900 ยูโร (ประมาณ 300,000 บาท)
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 21 กรกฎาคม 2563