เรื่อง รายงานสรุปผลการพิจารณาต่อข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน (เรื่อง สิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย กรณีนายพอละจี หรือบิลลี่ รักจงเจริญ หายตัวไปที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งอาจมีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง)
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานสรุปผลการพิจารณาต่อข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน (เรื่อง สิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย กรณีนายพอละจี หรือบิลลี่ รักจงเจริญ หายตัวไปที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งอาจมีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง) ของคณะกรรมการสิทธิมนุษญชนแห่งชาติ ตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอ และแจ้งให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติทราบต่อไป
ยธ. รายงานว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) สำนักงานศาลยุติธรรม (ศย.) และสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (สม.) แล้วเมื่อันที่ 28 มกราคม 2563 สรุปได้ ดังนี้
ข้อเสนอแนะของ กสม. / สรุปผลการพิจารณา
1. กรมสอบสวนคดีพิเศษควรมีแนวปฏิบัติในกรณีการบังคับให้บุคคลสูญหายเป็นคดีพิเศษโดยไม่จำเป็นต้องมีผู้ร้องขอ หรือในกรณีที่มีผู้ร้องขอแต่มีคุณสมบัติที่ไม่ครบถ้วนอันไม่ใช่สาระสำคัญ ซึ่งอาจเสนอเรื่องเกี่ยวกับคดีความผิดทางอาญาเป็นคดีพิเศษได้
กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ปรับปรุงแก้ไขประกาศคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการในการร้องขอและเสนอให้ กคพ. มีมติให้คดีความผิดทางอาญาใดเป็นคดีพิเศษ พ.ศ. 2561 แล้ว โดยข้อ 8 กำหนดให้หน่วยงานอาจเสนอเรื่องเกี่ยกับคดีความผิดทางอาญาที่เห็นสมควรเสนอ กคพ. มีมติให้เป็นคดีพิเศษตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (2) ต่ออธิบดี โดยไม่มีผู้ร้องขอก็ได้ (ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 135 ตอนพิเศษ 149 ง ลงวันที่ 27 มิถุนายน 2561)
2. คณะรัฐมนตรีควรเร่งพิจารณาร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. ....
กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบการจัดทำร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นผู้ที่เกี่ยวข้องตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 แล้ว ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2563 เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ตามที่ ยธ. เสนอ และส่งให้ สคก. ตรวจพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้ ยธ. ได้แจ้งความคืบหน้าของร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวให้ สม. ทราบแล้ว
เรื่องเดิม
1. กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนจากภรรยาของนายพอละจี หรือบิลลี่ฯ และเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมขอให้ตรวจสอบ กรณีนายพอละจี หรือบิลลี่ฯ ซึ่งเป็นผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบ้านบางกลอย ตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ได้หายตัวไปจากอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี โดยมีข้อเท็จจริงในเบื้องต้นว่า เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานได้จับกุมนายพอละจี หรือบิลลี่ฯ เนื่องจากพบว่ามีน้ำผึ้งป่าในครอบครองและกล่าวอ้างว่าได้ปล่อยตัวไปแล้ว บริเวณแยกหนองมะค่า แต่กลับไม่มีผู้ใดพบเห็นนายพอละจี หรือบิลลี่ฯ อีกเลย ภรรยาของนายพอละจี หรือบิลลี่ฯ จึงได้ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดเพชรบุรี และกรมสอบสวนคดีพิเศษ แต่คณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) มีมติไม่รับเป็นคดีพิเศษ เนื่องจากภรรยาของนายพอละจี หรือบิลลี่ฯ ไม่ได้เป็นภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมาย (ไม่ได้จดทะเบียนสมรส) และไม่เป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่เข้าหลักเกณฑ์เป็นผู้ร้องขอให้ กคพ. มีมติให้คดีความผิดอาญาใดเป็นคดีพิเศษ ซึ่งต่อมากรมสอบสวนคดีพิเศษได้มีประกาศเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2561 กำหนดให้กรณีการหายตัวไปของนายพอละจี หรือบิลลี่ฯ เป็นคดีพิเศษ
2. กสม. พิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีดังกล่าวเป็นกรณีเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย รวมทั้งอาจมีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย จึงมีข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนโดยกรมสอบสวนคดีพิเศษควรมีแนวปฏิบัติในกรณีการบังคับให้บุคคลสูญหายเป็นคดีพิเศษโดยไม่จำเป็นต้องมีผู้ร้องขอ หรือในกรณีที่ผู้ร้องขอมีคุณสมบัติที่ไม่ครบถ้วนอันไม่ใช่สาระสำคัญและคณะรัฐมนตรีควรเร่งพิจารณาร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. .... ให้สอดคล้องกับเนื้อหาตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญเสนอต่อรัฐสภาเพื่อพิจารณาต่อไป
3. รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ ยธ. (กรมสอบสวนคดีพิเศษ) เป็นหน่วยงานหลักรับเรื่องนี้ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) สำนักงานศาลยุติธรรม (ศย.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของข้อเสนอแนะดังกล่าว โดยให้ ยธ. (กรมสอบสวนคดีพิเศษ) สรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการดังกล่าวในภาพรวมและส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 29 กรกฎาคม 2563