เรื่อง รายงานสรุปผลการพิจารณาต่อข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน กรณีประชาชนสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ของบริษัทเอกชน
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานสรุปผลการพิจารณาต่อข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน กรณีประชาชนสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ของบริษัทเอกชน ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) มาเพื่อดำเนินการ ตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอ
กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) รายงานว่า กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพได้ประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงการคลัง (กค.) กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแล้ว เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2563 สรุปได้ ดังนี้
1. ยธ. ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการกำกับดูแลนักลงทุนไทยที่ไปลงทุนในต่างประเทศให้ดำเนินธุรกิจโดยเคารพสิทธิมนุษยชนตามกรอบของหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะการพิจารณาจัดตั้งกลไกในการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เป็นรูปธรรม ซึ่งได้กำหนดเป็นหนึ่งในกิจกรรมสำคัญตาม National Action Plan on Business and Human Right (NAP) ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2562 -2565) ด้านการลงทุนระหว่างประเทศและบรรษัทข้ามชาติ โดยกำหนดให้ กต. และ ยธ. ศึกษาและหารือร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาแนวทางพัฒนากฎหมาย นโยบายหรือกลไกที่เป็นรูปธรรม ในการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนนอกอาณาเขต เพื่อให้เกิดการปกป้อง คุ้มครอง เยียวยา และเกิดความรับผิดชอบข้ามพรมแดนที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ทั้งนี้ ในเบื้องต้น ยธ. ได้กำหนดให้ “คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน” (อยู่ระหว่างเสนอคำสั่งแต่งตั้ง) มีอำนาจในการพิจารณาให้ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะ เพื่อแก้ไขปัญหาในกรณีที่มีข้อร้องเรียน หรือร้องทุกข์จากการดำเนินธุรกิจของสถานประกอบการ หรือนักลงทุนซึ่งส่งผลกระทบเชิงลบ หรือก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งกรณีการลงทุนในประเทศและการลงทุนของสถานประกอบการ หรือนักลงทุนไทยที่ไปลงทุนในต่างประเทศ เพื่อสร้างหลักประกันให้การดำเนินธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชนได้รับการเคารพและยึดถือปฏิบัติตามอย่างจริงจัง นอกจากนั้น ในปัจจุบัน หน่วยงานต่าง ๆ ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องในการส่งเสริมภาคธุรกิจให้ดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบและเคารพสิทธิมนุษยชน อาทิ (1) การอบรมให้ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน ตลอดจนกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้องแก่นักลงทุนไทย รวมถึงกลุ่มที่จะไปลงทุนในต่างประเทศ โดยหน่วยงานต่าง ๆ (2) การหารือระดับนโยบายผ่านกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ ที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน (3) การบังคับใช้แนวปฏิบัติของสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) (สพพ.) กค. โดยการกำหนดเงื่อนไขให้ทุกโครงการที่ได้รับเงินกู้จาก สพพ. จะต้องทำการศึกษาความเสี่ยงและผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน (4) การส่งเสริมและสนับสนุนให้บริษัท ที่เสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชนและบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เปิดเผยข้อมูลภาพรวมของนโยบายการจัดการความยั่งยืน เป้าหมายการจัดการด้านความยั่งยืน การจัดการผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสียในห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจ การจัดการด้านความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม การจัดการด้านความยั่งยืนในมิติสังคม ซึ่งรวมถึงประเด็นสิทธิมนุษยชนตามแนวทางที่ ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกำหนด
2. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดการดำเนินการตาม NAP อย่างจริงจัง และมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งให้ติดตามผลการดำเนินงานอย่างเคร่งครัด ผ่านกลไก “คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน” (อยู่ระหว่างเสนอคำสั่งแต่งตั้ง) ซึ่งจัดตั้งขึ้นภายใต้คณะกรรมการขับเคลื่อนงานสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย เนื่องจากคณะอนุกรรมการฯ ประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการปฏิบัติตาม NAP อยู่แล้ว โดยคณะอนุกรรมการฯ จะจัดประชุมเป็นระยะ ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อกำกับ ติดตาม และขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการฯ ให้เกิดผลอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรมต่อไป
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 29 กรกฎาคม 2563