คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชเสนอ โดยใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ภายในกรอบวงเงิน 435,289,000 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน และลดผลกระทบจากสัตว์ป่า รวมถึงการแก้ไขปัญหาการดูแลสัตว์ป่าของกลางตามหลักสวัสดิภาพสัตว์จำนวน 3 โครงการ ดังนี้
1. โครงการแก้ไขปัญหาช้างป่าออกหากินนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์แบบบูรณาการ วงเงิน 370,608,000 บาท
2. โครงการแก้ไขปัญหาและลดผลกระทบของลิงในชุมชน วงเงิน 24,461,000 บาท
3. โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการรับสัตว์ป่าของกลางและสัตว์ป่า กรณีแก้ไขปัญหาตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ในกรงเลี้ยง วงเงิน 40,220,000 บาท
สำหรับกิจกรรม/รายการอื่นที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชยังมีความจำเป็นต้องดำเนินการให้ใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ที่เสนอตั้งงบประมาณบางส่วนรองรับไว้แล้ว รวมถึงการปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ เมื่อพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 มีผลบังคับใช้แล้ว ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
สาระสำคัญของเรื่อง
1. ปัจจุบันมีช้างป่าอาศัยอยู่ตามธรรมชาติประมาณ 3,168-3,440 ตัว ในพื้นที่อนุรักษ์ทั้งใน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติ จำนวน 69 แห่ง โดยปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่าที่ออกหากินนอกพื้นที่อนุรักษ์ทวีความรุนแรงขึ้นในหลายพื้นที่ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อพืชผลทางการเกษตร ทรัพย์สินและชีวิตของคนและสัตว์ สาเหตุมาจากการสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัย ความไม่สอดคล้องของประชากรในพื้นที่อนุรักษ์ และปัจจัยในการดำรงชีวิตในพื้นที่ป่าไม่เพียงพอ ทำให้สัตว์ป่าออกมากินใกล้พื้นที่เกษตรกร
2. สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างคนกับลิง จากการสำรวจข้อมูลประชากรลิง โดยใช้วิธีการใช้แบบสอบถามไปยังองค์การบริหารส่วนตำบลทุกแห่ง พบว่า ปัจจุบันพื้นที่ที่มีปัญหาทั้งหมด จำนวน 222 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ 51 จังหวัด โดยแบ่งเป็นนอกพื้นที่ ป่าอนุรักษ์ จำนวน 206 แห่ง และในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ จำนวน 16 แห่ง มีการสำรวจนับประชากรลิงแล้ว 173 แห่ง พบประชากรลิง จำนวน 53,068 ตัว
3. จากสถานการณ์การป้องกันและปราบปรามลักลอบการค้าสัตว์ป่าที่เข้มงวดขึ้น ส่งผลให้มี การตรวจยึดสัตว์ป่าของกลางเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ทำให้กรงและคอกที่มีอยู่ไม่เพียงพอที่จะรองรับสัตว์ป่าของกลางให้เป็นไปตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ โดยปัจจุบันมีสัตว์ป่าของกลางที่ต้องดูแล จำนวน 9,276 ตัว
4. เนื่องจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างคนกับสัตว์ป่าที่ออกหากินนอกพื้นที่อนุรักษ์ได้ทวีความรุนแรงขึ้นในหลายพื้นที่ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อพืชผลทางการเกษตร ทรัพย์สินและชีวิตของคนและสัตว์ จึงเห็นควรเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาโดยด่วน
5. การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนและลดผลกระทบจากสัตว์ป่า รวมถึงการดูแลสัตว์ป่าของกลางตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ มีความจำเป็นต้องขอใช้งบกลาง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อดำเนินโครงการจำนวน 3 โครงการ ในช่วงระยะเวลาเดือนสิงหาคม-กันยายน 2563 ดังนี้
(1) โครงการแก้ไขปัญหาช้างป่าออกหากินนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์แบบบูรณาการ เพื่อเป็น การแก้ไขปัญหาช้างป่าออกหากินนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์แบบบูรณาการ โดยดำเนินกิจกรรม
1) ฟื้นฟูและจัดการทุ่งหญ้า13,583 ไร่
2) ปลูกพืชอาหารช้าง 6,736 ไร่
3) สร้างแหล่งน้ำ (3,000 ลบ.ม.) 49 แห่ง
4) สร้างแหล่งน้ำ (10,000 ลบ.ม.) 18 แห่ง
5) สร้างแหล่งน้ำ (20,000 ลบ.ม.) 3 แห่ง
6) รั้วกึ่งถาวร157.42 กิโลเมตร
7) สร้างคูกั้นช้าง105.20 กิโลเมตร
8) เครือข่ายอาสาสมัครเฝ้าระวังช้างป่า 304เครือข่าย
9) ติดตั้งอุปกรณ์ ระบบการเฝ้าระวังระวังแจ้งเตือนภัย 300 จุด
(2) โครงการแก้ไขปัญหาและลดผลกระทบของลิงในชุมชน เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างลิงกับคนในพื้นที่ชุมชนเมืองโดยเฉพาะพื้นที่ที่มีปัญหา โดยดำเนินกิจกรรม ดังนี้
1) ควบคุมประชากรลิงในพื้นที่ที่พบปัญหา จำนวน 3,500 ตัว
2) จัดทำฐานข้อมูลประชากรลิงและสภาพพื้นที่ที่เกิดปัญหาโดยระบบที่ทันสมัย เข้าถึงได้สะดวกและรวดเร็ว
3) จัดสร้างกรงเลี้ยงลิง เพื่อดูแลและรองรับลิงกรณีแก้ไขปัญหา 67 กรง
(3) โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการรับสัตว์ป่าของกลางและสัตว์ป่ากรณีแก้ไขปัญหา ตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ ในกรงเลี้ยง เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยดำเนินกิจกรรม ดังนี้
1) สร้างกรงคอกมาตรฐานและจัดทำพื้นที่กักกันโรคในสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า 23 แห่ง
2) จัดสร้างคลินิกสัตว์ป่าพร้อมอุปกรณ์รักษา 12 แห่ง
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 4 สิงหาคม 2563