1. ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจัดทำร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับมาตรการติดตามทรัพย์สินของรัฐคืนจากการเอาไปโดยมิชอบ โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน แล้วนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
2. ให้นำกระบวนการติดตามทรัพย์สินของรัฐคืนตามร่างพระราชบัญญัติมาตรการติดตามทรัพย์สินของรัฐคืนจากการเอาไปโดยมิชอบ พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว มาเป็นหลักการในการจัดทำร่างระเบียบตามข้อ 1. และ
3. ให้กระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานรับผิดชอบภารกิจในการติดตามทรัพย์สินของรัฐคืนตาม ร่างระเบียบนี้
โดยที่ร่างพระราชบัญญัติมาตรการติดตามทรัพย์สินของรัฐคืนจากการเอาไปโดยมิชอบ พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้วตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรี ยังมีประเด็นปัญหาเกี่ยวกับหน่วยงานที่จะเป็นผู้ทำภารกิจในการติดตามทรัพย์สินของรัฐคืนตามร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญอย่างยิ่งในการดำเนินการร่างพระราชบัญญัติในเรื่องนี้ต่อไป และแม้ว่าคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) จะเห็นว่า กระทรวงการคลังมีหน้าที่และอำนาจเกี่ยวกับทรัพย์สินของแผ่นดินตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2554 การติดตามทรัพย์สินของรัฐคืน จึงเป็นหน้าที่ของกระทรวงการคลัง และเหมาะสมที่จะจัดตั้งหน่วยงานเฉพาะด้านขึ้นในกระทรวงการคลังเพื่อทำภารกิจนี้ก็ตาม แต่ก็ยังมิได้มีการยืนยันจากกระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแต่อย่างใด
ประกอบกับผลการประชุมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2563 เห็นว่า เพื่อให้การขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลในการจัดให้มีมาตรการทางกฎหมายเพื่อการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบเป็นไปอย่างรวดเร็ว เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สมควรปรับรูปแบบของมาตรการติดตามทรัพย์สินของรัฐคืนจากการเอาไปโดยมิชอบตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว เป็นการวางระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีที่อาศัยอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน โดยให้นำกระบวนการติดตามทรัพย์สินของรัฐคืนในร่างพระราชบัญญัติมาปรับใช้ในระเบียบนี้ และให้มีหน่วยงานที่รับผิดชอบภารกิจนี้ในกระทรวงการคลัง
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 13 สิงหาคม 2563