แผนผังแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์

ข่าวการเมือง Thursday August 13, 2020 18:50 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบแผนผังแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ บริเวณกรุงรัตนโกสินทร์ชั้นใน บริเวณกรุงรัตนโกสินทร์ชั้นนอก บริเวณฝั่งธนบุรีตรงข้ามกรุงรัตนโกสินทร์ ตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร1,2,3 และพื้นที่ใกล้เคียงบริเวณฝั่งธนบุรี4 และบริเวณที่ 4 บริเวณพื้นที่ต่อเนื่องกรุงรัตนโกสินทร์ชั้นนอก เพื่อเป็นกรอบแนวทางในการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ

2. เห็นชอบการขยายพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์จากเดิม 3 บริเวณ (กรุงรัตนโกสินทร์ชั้นใน กรุงรัตนโกสินทร์ชั้นนอก และบริเวณฝั่งธนบุรีตรงข้ามกรุงรัตนโกสินทร์) เป็น 4 บริเวณ โดยเพิ่มพื้นที่ส่วนขยาย บริเวณที่ 4 พื้นที่ต่อเนื่องบริเวณกรุงรัตนโกสินทร์ชั้นนอกตั้งแต่แนวกึ่งกลางคลองรอบกรุง (คลองบางลำพูและคลองโอ่งอ่าง) แนวกึ่งกลางแม่น้ำเจ้าพระยาด้านทิศเหลือและทิศใต้ และแนวคลองผดุงกรุงเกษมฝั่งตะวันออก เพื่อจะได้ปรับปรุงระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ และเมืองเก่า พ.ศ. 2546 ต่อไป

/ 1. บริเวณกรุงรัตนโกสินทร์ชั้นในเป็นพื้นที่ตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง กำหนดบริเวณห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง ใช้หรือเปลี่ยนการใช้อาคารบางชนิดหรือบางประเภท ภายในบริเวณกรุงรัตนโกสินทร์ชั้นใน ในท้องที่แขวงพระบรมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528

2. บริเวณกรุงรัตนโกสินทร์ชั้นนอกเป็นพื้นที่ตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง กำหนดบริเวณห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง ใช้หรือเปลี่ยนการใช้อาคารบางชนิดหรือบางประเภท ภายในบริเวณกรุงรัตนโกสินทร์ชั้นนอก ในท้องที่แขวงชนะสงคราม แขวงตลาดยอด แขวงศาลเจ้าพ่อเสือ แขวงบวรนิเวศ แขวงเสาชิงช้า แขวงราชบพิธ แขวงสำราญราษฎร์ และแขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2530

3. บริเวณฝั่งธนบุรีตรงข้ามบริเวณกรุงรัตนโกสินทร์เป็นพื้นที่ตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง กำหนดบริเวณห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง ใช้หรือเปลี่ยนการใช้อาคารบางชนิดหรือบางประเภท ภายในบริเวณฝั่งธนบุรีตรงข้ามบริเวณกรุงรัตนโกสินทร์ ในท้องที่แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด แขวงอรุณอมรินทร์ แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ แขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี และแขวงสมเด็จเจ้าพระยา เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

4. พื้นที่ใกล้เคียงบริเวณฝั่งธนบุรี คือ พื้นที่แนวกันชน (Buffer Zone) ระหว่างบริเวณฝั่งธนบุรีตรงข้ามบริเวณกรุงรัตนโกสินทร์กับบริเวณพื้นที่ส่งเสริมการพัฒนาของกรุงเทพมหานครที่จะเกิดขึ้นในบริเวณโดยรอบในอนาคต

สาระสำคัญของเรื่อง

1. โดยที่ในปัจจุบันมีโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ในพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์รวมทั้งการท่องเที่ยวในบริเวณกรุงรัตนโกสินทร์เป็นที่นิยมเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน การจราจร วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ดังนั้น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า (คณะกรรมการฯ) ได้จัดทำแผนผังแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ฉบับใหม่ โดยขยายพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์ จากเดิม 3 บริเวณ (กรุงรัตนโกสินทร์ชั้นใน กรุงรัตนโกสินทร์ชั้นนอก และบริเวณฝั่งธนบุรีตรงข้ามกรุงรัตนโกสินทร์) เป็น 4 บริเวณ โดยเพิ่มพื้นที่ต่อเนื่องบริเวณกรุงรัตนโกสินทร์ชั้นนอก และได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์การอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ โดยแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน คือ ยุทธศาสตร์การอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ รายสาขา จำนวน 8 สาขา และยุทธศาสตร์การอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ รายพื้นที่ จำนวน 12 พื้นที่ เพื่ออนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์

2. ผลกระทบต่อการดำเนินการของภาครัฐ แผนผังแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตโกสินทร์ที่ ทส. เสนอมาในครั้งนี้เป็นกรอบการดำเนินงานของภาครัฐที่มีแนวทางและรายละเอียดการดำเนินงานที่ยืดหยุ่น สามารถปรับเปลี่ยนได้ภายในกรอบที่กำหนดโดยไม่ทำให้ภาพรวมเกิดความเสียหาย โดยก่อนที่หน่วยงานจะดำเนินการตามโครงการภายใต้แผนผังแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์นั้น จะศึกษาในรายละเอียดและความเหมาะสมอีกครั้งหนึ่งก่อน นอกจากนี้การดำเนินโครงการใด ๆ ของหน่วยงานภาครัฐที่มีการก่อสร้างภายในบริเวณกรุงรัตนโกสินทร์ไม่ว่าจะเป็นโครงการที่อยู่ภายใต้แผนผังแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์หรือไม่ จะต้องส่งเรื่องและแบบแปลนให้คณะกรรมการฯ ผ่านทาง ทส. (สผ.) เพื่อพิจารณาให้ความเห็นถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมก่อน ทั้งนี้ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ และเมืองเก่า พ.ศ. 2546 ข้อ 9 และข้อ 10 และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2558 สำหรับผลกระทบต่อประชาชนและภาคเอกชนนั้น แผนผังแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์จะไม่สามารถบังคับใช้กับประชาชนและภาคเอกชนได้ โดยหากจะมีการดำเนินการใด ๆ ซึ่งมีผลบังคับใช้ต่อประชาชนและภาคเอกชนโดยตรงนั้น หน่วยงานภาครัฐจะต้องดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนก่อนและจะต้องปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในปัจจุบันสำนักวางแผนและพัฒนาเมือง กรุงเทพมหานคร อยู่ระหว่างการพิจารณาปรับปรุงกฎหมายด้านผังเมืองและการควบคุมอาคารที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถนำสาระสำคัญของแผนผังแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ในส่วนที่จำเป็นไปบังคับใช้กับภาคเอกชนได้

3. ในส่วนของงบประมาณ ทส. คาดการณ์ว่าการดำเนินการตามแผนผังแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์จะใช้งบประมาณรวมทั้งสิ้น 22,022.04 ล้านบาท โดยเมื่อคณะกรรมการฯ ได้รับความเห็นชอบโครงการที่จะดำเนินงานแล้ว หน่วยงานเจ้าของโครงการโดยการสนับสนุนจากคณะกรรมการฯ จะสามารถขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีจากสำนักงบประมาณ (สงป.) ได้ต่อไป ทั้งนี้ สงป. ได้พิจารณาแล้วเห็นควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมในทุกมิติและจัดทำรายละเอียดค่าใช้จ่าย รวมทั้งจัดทำแผนปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามขั้นตอนต่อไป ประกอบกับกระทรวงกลาโหม กระทรวงการคลัง กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงวัฒนธรรม สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พิจารณาแล้วเห็นชอบและไม่ขัดข้อง

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 13 สิงหาคม 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ