เรื่อง การจัดทำร่างข้อตกลงว่าด้วยการรับรองประกาศนียบัตรคนประจำเรือระหว่างประเทศไทยกับเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โอมาน กาตาร์ รัสเซีย เยอรมนี ยูเครน อังกฤษ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และเนเธอร์แลนด์ รวม 12 ประเทศ
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการจัดทำร่างข้อตกลงว่าด้วยการรับรองประกาศนียบัตรคนประจำเรือระหว่างประเทศไทยกับเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โอมาน กาตาร์ รัสเซีย เยอรมนี ยูเครน อังกฤษ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และเนเธอร์แลนด์ รวม 12 ประเทศ ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงร่างข้อตกลงฯ ที่ไม่ใช่สาระสำคัญ ให้กระทรวงคมนาคมดำเนินการต่อได้โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ
เรื่องนี้เป็นการดำเนินการตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยมาตรฐานการฝึกอบรมการออกประกาศนียบัตร และการเข้ายามของคนประจำเรือ ค.ศ. 1978 (STCW 1978) ที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2540 อนุมัติให้ประเทศไทยเข้าเป็นภาคี ซึ่งอนุสัญญา STCW 1978 ได้กำหนดให้รัฐภาคีสามารถทำความ ตกลงทวิภาคีเพื่อรับรองประกาศนียบัตรให้แก่คนประจำเรือที่ออกโดยหน่วยงานผู้มีอำนาจระหว่างกันได้ โดยการทำข้อตกลงทวิภาคีดังกล่าวกับประเทศต่าง ๆ จะส่งผลให้คนประจำเรือของประเทศที่ทำข้อตกลงสามารถทำงานในเรือชักธงของกันและกันได้ ทั้งนี้ ที่ผ่านมากรมเจ้าท่าได้จัดทำข้อตกลงว่าด้วยการรับรองประกาศนียบัตรคนประจำเรือกับ 20 ประเทศ ได้แก่ วานูอาตู บาฮามาส สิงคโปร์ ปานามา ไซปรัส อินโดนีเซีย ไลบีเรีย ตุรกี เบลิซ มาเลเซีย บาร์เบโดส เขตปกครองพิเศษฮ่องกง แอนติกาและบาร์บูดา เวียดนาม เมียนมา บังกลาเทศ ฮัชไมต์จอร์แดน ฟิลิปินส์ โดมินิกา และจีน และในครั้งนี้จะจัดทำข้อตกลงฯ เพิ่มเติมกับ 12 ประเทศ ซึ่งเป็นประเทศที่มีศักยภาพสูงด้านการเดินเรือพาณิชย์ระหว่างประเทศ
1. หน่วยงานที่มีอำนาจต้องรับรองว่าการฝึกอบรมและการประเมินความรู้ความสามารถของคนประจำเรือ และผู้ที่รับผิดชอบในการฝึกอบรม และการประเมินความรู้ความสามารถของคนประจำเรือ ดำเนินการโดยผู้ที่มีคุณวุฒิที่เหมาะสมและเป็นไปตามบทบัญญัติของอนุสัญญาฯ
2. ในกรณีที่ได้รับการร้องขอทางโทรสารหรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์จากรัฐภาคีหนึ่ง ซึ่งได้รับคำขอให้ออกประกาศนียบัตรรับรองประกาศนียบัตรของรัฐภาคีอื่น หน่วยงานรัฐภาคีอื่นต้องดำเนินการตรวจสอบความถูกต้องและจัดส่งรายละเอียดของผู้ถือประกาศนียบัตรที่ออกโดยรัฐของตนเองให้กับรัฐภาคีที่ร้องขอโดยทางโทรสาร หรือทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ ภายใน 7 วัน นับจากวันที่ได้รับการร้องขอ
3. หน่วยงานที่มีอำนาจของรัฐภาคีต้องรับรองประกาศนียบัตรที่ออกให้แก่คนประจำเรือและบันทึกข้อมูลลงในระบบทะเบียนที่หน่วยงานที่มีอำนาจของรัฐภาคีอีกฝ่ายหนึ่งสามารถตรวจสอบความถูกต้องในการออกประกาศนียบัตรและสถานะของประกาศนียบัตรฉบับดังกล่าวได้
4. หากมีการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญของระบบการออกประกาศนียบัตรหรือระบบการฝึกอบรม หน่วยงานที่มีอำนาจของรัฐภาคีมีหน้าที่ต้องแจ้งการเปลี่ยนแปลงให้อีกฝ่ายทราบถึงการเปลี่ยนแปลงให้อีกฝ่ายทราบถึงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวภายใน 60 วัน
5. รัฐภาคีอาจปฏิเสธไม่ออกประกาศนียบัตรรับรองประกาศนียบัตรของรัฐภาคีอื่น หรือระงับ หรือยกเลิก หรือเพิกถอนประกาศนียบัตรรับรองประกาศนียบัตรที่ออกโดยรัฐภาคีอื่นที่ออกไปแล้วได้ ในกรณีที่รัฐภาคีนั้นเห็นว่าผู้ขอรับหรือผู้ถือประกาศนียบัตรรับรองประกาศนียบัตรของรัฐภาคีอื่นมีความประพฤติเสื่อมเสียหรือฝ่าฝืนกฎหมายของรัฐภาคีนั้น ทั้งนี้ ในกรณีดังกล่าวรัฐภาคีนั้นต้องแจ้งให้รัฐภาคีผู้ออกประกาศนียบัตรรับรองได้ทราบทางโทรสาร หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ ภายใน 7 วัน นับจากวันที่ปฏิเสธหรือวันที่ระงับ ยกเลิก หรือเพิกถอนประกาศนียบัตรรับรองประกาศนียบัตรของรัฐภาคีอื่น
6. ข้อตกลงฯ มีอายุ 5 ปี นับจากวันลงนาม และจะมีการต่ออายุครั้งละ 5 ปี จนกว่าจะมีการแจ้งยกเลิกความตกลงเป็นลายลักษณ์อักษรจากรัฐภาคีฝ่าใดฝ่ายหนึ่งก่อนหน้าวันหมดอายุอย่างน้อย 6 เดือน
7. ข้อตกลงฯ กำหนดให้ กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม เป็นหน่วยประสานงาน และควบคุมดูแลในการดำเนินการให้เป็นไปตามข้อตกลง
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 13 สิงหาคม 2563