เรื่อง รายงานผลการเข้าร่วมงานเฉลิมฉลองปีแห่งความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน-จีน ค.ศ. 2020 (The Opening Ceremony for ASEAN-China Year of Digital Economy Cooperation) ด้วยระบบวีดิทัศน์ทางไกล (Video Conference)
คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานผลการเข้าร่วมงานเฉลิมฉลองปีแห่งความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน-จีน ค.ศ. 2020 ด้วยระบบวีดิทัศน์ทางไกล เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2563 โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นภายใต้หัวข้อ “Combating COVID-19 through Joint Efforts, Embracing Cooperation through ICT and Digital Development” สรุปสาระสำคัญของการประชุมได้ ดังนี้
1. แนวทางการขับเคลื่อนความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัล
1.1 เลขาธิการอาเซียนได้กล่าวถึงการดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง เช่นการจัดทำแผนแม่บทอาเซียนด้านดิจิทัล ปี 2020-2025 การพัฒนากรอบการดำเนินงานด้านกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ทั้งนี้ อาเซียนอยู่ระหว่างการยกยุทธศาสตร์เพื่อรองรับการก้าวสู่ยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 พร้อมเสนอแนวทางการดำเนินกิจกรรมความร่วมมืออาเซียน-จีน ดังนี้
1.1.1 จัดทำข้อริเริ่มใหม่ภายใต้ความร่วมมืออาเซียน-จีน โดยคำนึงถึงความสอดคล้องกับประเด็นยุทธศาสตร์หลักของอาเซียน
1.1.2 ผลักดันการดำเนินงานด้านธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ เพื่ออำนวยความสะดวกของการไหลเวียนข้อมูลโดยอิสระและส่งเสริมความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจและผู้บริโภค
1.1.3 พัฒนาทักษะด้านดิจิทัลของผู้มีส่วนได้เสียทั้งในภูมิภาคอาเซียนและจีน
1.1.4 ส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม
1.1.5 ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้ความเชี่ยวชาญและแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศด้านเทคโนโลยีดิจิทัล
1.2 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศของจีนได้ย้ำว่าเทคโนโลยีดิจิทัลมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการรักษาความปลอดภัยของประชาชน รวมทั้งได้เสนอทิศทางความร่วมมือในการส่งเสริมการประยุกต์ใช้เศรษฐกิจดิจิทัลให้เกิดประโยชน์สูงสุด 6 ด้าน ดังนี้
1.2.1 ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19
1.2.2 เสริมสร้างความเข้มแข็งด้านโครงสร้างพื้นฐานทางสารสนเทศ
1.2.3 สนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมและการเตรียมความพร้อมต่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคดิจิทัล
1.2.4 ส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ การใช้ประโยชน์จาก Big Data เทคโนโลยี Cloud Computing และ Blockchain
1.2.5 กำกับดูแลโลกอินเทอร์เน็ต
1.2.6 ยกระดับความร่วมมือด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์
ทั้งนี้ รัฐมนตรีอาเซียนด้านดิจิทัลได้ตระหนักถึงความสำคัญของการเสริมสร้างความเข้มแข็งของกลไกความเป็นหุ้นส่วนคู่เจรจาความร่วมมืออาเซียน-จีน ซึ่งจะส่งเสริมการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นทั้งในด้านการส่งเสริมความเชื่อมโยงด้านดิจิทัล การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการค้าและบริการดิจิทัล การพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลและการผลักดันการบังคับใช้กฎหมาย กฎระเบียบด้านดิจิทัล เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของบริบทโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ไขปัญหาความท้าทายจากโรคอุบัติใหม่ รวมถึงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาค
2. การกล่าวถ้อยแถลงของประเทศไทย รัฐมนตรีว่าการกรทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้กล่าวถึงประสบการณ์การรับมือสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ของไทยซึ่งให้ความสำคัญกับการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างรัฐบาล ภาคเอกชน และสาธารณชน เพื่อรับมือกับข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือนและการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นเท็จในสังคมออนไลน์ รวมทั้งได้สนับสนุนมาตรการการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยพัฒนาแพลตฟอร์มและแอปพลิเคชันสำหรับจัดเก็บข้อมูลและติดตามการเดินทางของประชาชนและผู้ที่เดินทางเข้ามาในประเทศ เช่น แอปพลิเคชันไทยชนะและ AOT Airport เพื่อเป็นข้อมูลในการติดตามและแจ้งเตือนเพื่อพบข้อมูลผู้ติดเชื้อในพื้นที่หรือช่วงเวลาดังกล่าว นอกจากนี้ ไทยได้ส่งเสริมการเข้าถึงโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้ครอบคลุมทุกพื้นที่เพื่อส่งเสริมการทำงานจากที่บ้าน รวมทั้งพัฒนาแอปพลิเคชันและเครื่องมือทางดิจิทัลสำหรับการประชุมทางไกลเพื่อให้การดำเนินงานของทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจเป็นไปอย่างต่อเนื่องท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19
3. ความเห็นและข้อสังเกต การจัดงานในครั้งนี้มีความสำคัญเชิงสัญลักษณ์ โดยแสดงถึงการเพิ่มพูนความสัมพันธ์และสร้างความแข็งแกร่งในภูมิภาคอาเซียน-จีน รวมถึงการกำหนดทิศทางเชิงกลยุทธ์ในการดำเนินความร่วมมือด้านการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลให้มีผลเป็นรูปธรรม
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 13 สิงหาคม 2563