รายงานผลการปฏิบัติงานตามพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ประจำปี 2562

ข่าวการเมือง Tuesday August 18, 2020 18:40 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานผลการปฏิบัติงานตามพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ประจำปี 2562 ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ สรุปได้ ดังนี้

1. สาระสำคัญของพระราชบัญญัติฯ

สาระสำคัญ

กำหนดมาตรการคุ้มครองผู้ถูกเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศและป้องกันมิให้มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ ซึ่งสอดคล้องกับหลักการสิทธิมนุษยชนสากล ตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคี คือ อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ และกำหนดให้มีกลไกเพื่อการขับเคลื่อนการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศในรูปแบบคณะกรรมการ จำนวน 3 คณะ ได้แก่ คณะกรรมการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ (คณะกรรมการ สทพ.) คณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (คณะกรรมการ วลพ.) และคณะกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมความเท่าเทียม ระหว่างเพศ (คณะกรรมการ กทพ.)

2. ผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการตามพระราชบัญญัติฯ

สาระสำคัญ

2.1 คณะกรรมการ สทพ. ได้ประชุม 3 ครั้ง และมีมติที่สำคัญ คือ เห็นชอบแผนปฏิบัติการและการใช้จ่ายงบประมาณของกองทุนส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ ประจำปี 2563 วงเงิน 7,300,000 บาท โดยมีข้อเสนอแนะให้คณะกรรมการ กทพ. ไปจัดทำแผนงาน/โครงการที่สนองตอบต่อปัญหาใน 3 ประเด็น ได้แก่

(1) การเลือกปฏิบัติเพราะความแตกต่างทางเพศ

(2) การปรับหลักคิดให้สังคมยอมรับเรื่องความเท่าเทียมระหว่างเพศ และ

(3) มุ่งขจัดความรุนแรงเพราะเหตุแห่งความแตกต่างทางเพศ นอกจากนี้ คณะกรรมการ สทพ. ได้ให้ข้อเสนอแนะในประเด็นการดำเนินการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ เช่น การปรับปรุงช่องทางการรับคำร้อง การปรับทัศนคติและค่านิยมในการให้สังคมยอมรับความเสมอภาคระหว่างเพศ และประเด็นการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศที่ควรผลักดันเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ซึ่งถือเป็นประเด็นสำคัญที่จะต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน

2.2 คณะกรรมการ วลพ. ได้รับพิจารณาคำร้องที่เกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ จำนวน 8 ประเด็นคำร้อง ได้แก่

(1) สถาบันการศึกษาห้ามแต่งกายและไว้ทรงผมตรงกับเพศสภาพในการเข้าเรียน การสอบ และการฝึกปฏิบัติงาน

(2) หน่วยงานภาครัฐไม่ให้ใช้คำนำหน้านามตามเพศสภาพในบัตรประจำตัวประชาชน

(3) หน่วยงานภาครัฐจัดห้องพักในการฝึกอบรมไม่เหมาะสม

(4) ร้านอาหารกีดกันไม่ให้ผู้มีเพศสภาพแตกต่างจากเพศกำเนิดเข้าใช้บริการ

(5) สถาบันการศึกษาไม่รับสมัครผู้แสดงออกแตกต่างจากเพศกำเนิดเข้าทำงาน

(6) สถาบันการศึกษาประเมินผลการปฏิบัติงานของครูผู้แสดงออกแตกต่างจากเพศกำเนิดต่ำอันเนื่องมาจากการแต่งกายตามเพศสภาพ

(7) สถาบันการศึกษาห้ามการใช้รูปถ่ายชุดครุยวิทยฐานะในเอกสารขอจบการศึกษา และ

(8) เจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติหน้าที่ ไม่เหมาะสมในการเข้าตรวจค้นเคหสถาน ทั้งนี้ เรื่องทั้งหมดอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการ วลพ.

2.3 คณะกรรมการ กทพ. ได้ประชุม 7 ครั้ง และมีมติที่สำคัญ ได้แก่

เห็นชอบการทบทวนยุทธศาสตร์กองทุนส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562-2564 และจัดทำแผนปฏิบัติการ กองทุนฯ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 แผนการสร้างความตระหนักรู้เรื่องความเท่าเทียมระหว่างเพศในสังคม พ.ศ. 2562-2564 และแผนงานสร้างความตระหนักรู้เรื่องความเท่าเทียมระหว่างเพศในสังคม ประจำปี 2562 รวมทั้งอนุมัติการสนับสนุนงบประมาณให้หน่วยงาน/องค์กรที่เสนอโครงการเพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศจากกองทุนฯ 10 โครงการ โดยกองทุนฯ ได้รับงบประมาณประจำปี 2562 เป็นเงิน 11,600,000 บาท ใช้ไป 4,404,606.84 บาท คงเหลือ 7,195,393.16 บาท

3. ข้อท้าทายและข้อเสนอแนะด้านการปฏิบัติงาน

สาระสำคัญ

(1) การกำหนดนโยบาย มาตรการ และแผนปฏิบัติงานเพื่อขับเคลื่อนการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ โดยสร้างความร่วมมือจาก ทุกภาคส่วน

(2) การทบทวน ปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย กฎ ระเบียบ ที่เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ โดยจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน

(3) การกระตุ้นให้สังคมเกิดความตระหนักและเข้าใจเรื่องความเท่าเทียมระหว่างเพศในทุกภาคส่วน

(4) การสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพระราชบัญญัติฯ ให้กับทุกภาคส่วน และเผยแพร่ผ่านสื่อในช่องทางต่าง ๆ และ

(5) การประสาน ความร่วมมือกับบุคคล หน่วยงาน องค์กรภาครัฐและเอกชน ภาคประชาสังคม สถาบันการศึกษา โดยการสร้างชมรมความเท่าเทียมระหว่างเพศในโรงเรียน

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 18 สิงหาคม 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ