ขออนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณตามแผนการดำเนินงานระยะ 5 ปี ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2564 - 2568) ของศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อความยั่งยืนของซีมีโอ

ข่าวการเมือง Tuesday August 18, 2020 19:08 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการแผนการดำเนินงานระยะ 5 ปี ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2564 - 2568) ของศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อความยั่งยืนขององค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ซีมีโอ)* (ศูนย์ระดับภูมิภาคฯ) ภายในกรอบวงเงิน 127,603,113 บาท โดยให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จัดทำรายละเอียดค่าใช้จ่าย และเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามความจำเป็นและเหมาะสมตามขั้นตอนต่อไป ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ

* องค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asian Ministers of Education Organization :

SEAMEO) หรือซีมีโอ เป็นองค์การระหว่างประเทศส่วนภูมิภาคซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและร่วมมือกับประเทศสมาชิกในโครงการที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกันในด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม ตลอดจนพัฒนาการศึกษาให้สอดคล้องกับเป้าหมายทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศสมาชิก

สาระสำคัญของเรื่อง

ศธ. รายงานว่า ในการประชุมคณะกรรมการบริหารศูนย์ระดับภูมิภาคฯ ครั้งที่ 1 เมื่อเดือนกันยายน 2562 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบกรอบแผนการดำเนินงานในระยะ 5 ปี ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2564 - 2568) ซึ่งมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

สาระสำคัญ

วิสัยทัศน์

เป็นศูนย์สำหรับความเป็นเลิศในระดับภูมิภาคที่ส่งเสริมและเผยแพร่หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

ภารกิจ

1. สร้างความตระหนักในความสำคัญของหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อความยั่งยืนในบริบทที่แตกต่างกัน ทั้งทางด้านสังคม วัฒนธรรม วิถีชีวิต และระบบเศรษฐกิจของแต่ละพื้นที่และภูมิภาค

2. ให้คำปรึกษาและแนะนำแนวทางการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งทางด้านองค์ความรู้ เทคโนโลยี และทักษะที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

3. ผลักดันให้เกิดการพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกที่มีความหลากหลายทางด้านการจัดการศึกษาและบริบทของสังคม

4. เชื่อมโยงและผนึกความร่วมมือให้กระชับแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นสำหรับภาคีเครือข่ายความร่วมมือต่าง ๆ รวมทั้งหุ้นส่วนจากภาคเอกชนและประชาสังคมในภูมิภาคสำหรับการสร้างเครือข่ายความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างภาคประชาชนกับภาคประชาชนในการถ่ายทอดองค์ความรู้และการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

ยุทธศาสตร์การดำเนินงาน

กรอบการดำเนินงาน

ปีที่ 1

การดำเนินงาน

สร้างการรับรู้และตระหนักในคุณค่าของหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อความยั่งยืน

ปีที่ 2

การดำเนินงาน

  • ต่อยอดการดำเนินงานตามกรอบการดำเนินงานในปีที่ 1 ให้เป็นรูปธรรม
  • แบ่งปัน แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และผลสำเร็จของการดำเนินการตามแนวทางหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
  • สร้างเสริมขีดความสามารถและส่งเสริมศักยภาพด้านการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อความยั่งยืน

ปีที่ 3

การดำเนินงาน

  • ต่อยอดการดำเนินงานตามกรอบการดำเนินงานในปีที่ 1 – 2 เช่น การพัฒนาฐานข้อมูลและการสร้างฐานข้อมูลที่เข้าถึงได้ง่าย เป็นต้น
  • เสริมสร้างความร่วมมือเพื่อการพัฒนาในระดับภูมิภาค

ปีที่ 4

การดำเนินงาน

  • ต่อยอดการดำเนินงานตามกรอบการดำเนินงานในปีที่ 1 – 3 เช่น การจัดประชุมสัมมนาในระดับนานาชาติเพื่อสร้างเครือข่าย เป็นต้น
  • แสวงหาความร่วมมือกับหน่วยราชการ องค์กร ภาคเอกชนและภาคประชาสังคมในระดับนานาชาติเพื่อจัดทำโครงการความร่วมมือเพื่อการพัฒนาร่วมกัน

ปีที่ 5

การดำเนินงาน

ต่อยอดการดำเนินงานตามกรอบการดำเนินงานในปีที่ 1 – 4 เช่น การขยายโครงการความร่วมมือระหว่างศูนย์อื่น ๆ ของซีมีโอในการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อความยั่งยืนไปประยุกต์ใช้ เป็นต้น

ประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับ

1. เป็นคลังความรู้ด้านปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และเป็นแหล่งรวบรวม เผยแพร่องค์ความรู้และแนวปฏิบัติที่ดีเพื่อการศึกษา แลกเปลี่ยนเรียนรู้ภายในประเทศและระหว่างประเทศสมาชิกซีมีโอ โดยส่งเสริมการนำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมตามบริบทของแต่ละประเทศ

2. เป็นแหล่งงานวิจัยที่สำคัญเพื่อการพัฒนาด้านต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และต่อยอดขยายผลต่อไปในภูมิภาคและนอกภูมิภาค

3. มีการสร้างและขยายเครือข่ายความร่วมมือที่เข้มแข็งทั้งระดับชาติและนานาชาติเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขและยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 18 สิงหาคม 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ