ผลการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 36 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง

ข่าวการเมือง Tuesday August 25, 2020 16:35 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 36 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำผลการประชุมไปปฏิบัติและติดตามผลการประชุมดังกล่าว ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

กต. รายงานว่า สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามในฐานะประธานอาเซียนปี 2563 ได้จัดการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 36 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ผ่านระบบการประชุมทางไกล เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2563 โดยมีนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมการประชุม สรุปผลการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 36 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

1. ภาพรวม ผู้นำอาเซียนได้ดำเนินการในประเด็นต่าง ๆ เช่น ยืนยันเจตนารมณ์ร่วมกันที่จะขับเคลื่อนประชาคมอาเซียน ตามวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ. 2025 เพื่อให้อาเซียนเป็นประชาคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังอย่างแท้จริง ภายใต้แนวคิด “แน่นแฟ้นและตอบสนอง” หารือเกี่ยวกับการเสริมสร้างความร่วมมือเพื่อรับมือกับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และรับรองวิสัยทัศน์ผู้นำอาเซียนว่าด้วยอาเซียนที่แน่นแฟ้นและตอบสนอง ก้าวข้ามความท้าทายและเสริมสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน

2. การส่งเสริมพหุภาคีนิยมการค้าเสรี และความมั่นคงระหว่างประเทศ เช่น เน้นย้ำความสำคัญของการเสริมสร้างพหุภาคีนิยมและการช่วยเหลือเกื้อกูลระดับโลก เน้นย้ำบทบาทนำและความเป็นแกนกลางของอาเซียนในภูมิภาค การเสริมสร้างความร่วมมือที่จะช่วยสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ เน้นย้ำการสนับสนุนการค้าเสรีที่เปิดกว้างและบูรณาการเศรษฐกิจในภูมิภาค โดยเฉพาะการเร่งรัดการลงนามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ภายในปี 2563 เพื่อช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวและการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการส่งเสริมความมั่นคงระหว่างประเทศ

3. การส่งเสริมความร่วมมือของอาเซียนในการรับมือกับโควิด-19 เช่น ประกาศจัดตั้งกองทุนอาเซียนเพื่อรับมือกับโควิด-19 อย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นข้อเสนอของไทย เห็นชอบแนวทางและเงื่อนเวลาสำหรับการจัดทำแผนงานฟื้นฟูที่ครอบคลุมของอาเซียน เร่งรัดการจัดตั้งคลังสำรองอุปกรณ์ทางการแพทย์และการจัดทำมาตรฐานวิธีปฏิบัติของอาเซียนสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข

สำหรับประเด็นที่ไทยผลักดัน โดยได้เสนอแนวทาง 3 ประการเพื่อการฟื้นตัวของอาเซียนหลังโควิด-19 ได้แก่

(1) ให้อาเซียนกลับมาเชื่อมโยงกันมากขึ้น ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ

(2) ให้อาเซียนสร้างความเข้มแข็งมากขึ้น ผ่านการลงทุนในเศรษฐกิจดิจิทัล และแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green: BCG)

(3) ให้อาเซียนมีภูมิคุ้มกันมากขึ้น โดยสนับสนุนการจัดทำแผนฟื้นฟูที่ครอบคลุมของอาเซียน ซึ่งควรมุ่งเน้นการเสริมสร้างความมั่นคงทางสาธารณสุข

ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 25 สิงหาคม 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ